ตักบาตรเทโว
ตักบาตรเทโว หมายถึง การทำบุญตักบาตร ปรารภเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลก ในวันมหาปวารณา วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และเสด็จถึงโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 [1]
คำว่า เทโว เรียกมาจากคำว่า เทโวโรหณะ (เทว+โอโรหณ) ซึ่งแปลว่า การลงจากเทวโลก
ความเดิมมีว่า ในพรรษาที่ 7 นับแต่วันตรัสรู้ พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศน์โปรดพระพุทธมารดา ที่ได้กำเนิดเป็นเทพบุตรอยู่ในชั้นดุสิต (สวรรค์ชั้นที่ 4) โดยลงมาฟังธรรมที่ชั้นดาวดึงส์ (สวรรค์ชั้นที่ 2) จนบรรลุโสดาปัตติผล (สาเหตุที่พระศาสดาไม่เสด็จไปแสดงธรรมในชั้นดุสิต เพราะเทวดาที่อยู่ในชั้นดาวดึงส์ไม่สามารถขึ้นไปในชั้นดุสิตได้ ด้วยศักดานุภาพที่น้อยกว่า เพื่อให้โอกาสฟังธรรมแก่เทวดาเหล่านั้น)
ครั้นถึงวันมหาปวารณา (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) จึงเสด็จลงจากเทวโลกที่เมืองสังกัสสนคร[1] ในกาลที่เสด็จลงจากเทวโลก ได้ทรงแสดงโลกวิวรณปาฏิหารย์ หรือเปิดโลกทั้งสาม คือ สวรรค์ มนุษย์ นรก ให้เห็นกันและกันได้ ได้มีเนินเป็นอันเดียวกัน ตั้งแต่อเวจีนรกจนถึงพรหมโลก แลดูทิศใหญ่และทิศเฉียง จักรวาลหลายแสนก็มีเนินเป็นอันเดียวกัน เทวดาก็เห็นพวกมนุษย์ แม้พวกมนุษย์ก็เห็นเทวดา สัตว์นรกก็เห็นมนุษย์และเทวดา ต่างก็เห็นกันเฉพาะหน้าทีเดียว ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงเปล่งฉัพพรรณรังสี ขณะที่พระองค์เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดังนั้น วันนี้ (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า วันพระเจ้าเปิดโลก
รุ่งขึ้นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ชาวเมืองจึงพากันทำบุญตักบาตรเป็นการใหญ่ เพราะไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาถึง 3 เดือน การทำบุญตักบาตรในวันนั้นจึงได้ชื่อว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ ต่อมามีการเรียกกร่อนไปเหลือเพียง ตักบาตรเทโว เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น จึงนิยม ตักบาตรเทโว กันจนเป็นประเพณีสืบมาตราบเท่าทุกวันนี้
ความหมาย
แก้เทโวโรหณะ แปลว่า การเสด็จลงจากเทวโลก (ของพระพุทธเจ้า) เป็นเหตุการณ์ตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า คือในพรรษาที่ 7 ได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนเทวโลกคือบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ครั้นถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากเทวโลกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตำนานเล่าว่า พระอินทร์ทรงนิมิตบันได 3 อย่างถวาย คือ บันไดทอง บันไดแก้วมณี บันไดเงิน หัวบันไดพาดอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ เชิงบันไดอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร เวลาเสด็จลงทรงใช้บันไดแก้วมณี เหล่าเทวดาลงทางบันไดทอง เหล่ามหาพรหมลงทางบันไดเงิน เรียกการเสด็จครั้งนั้นว่า เทโวโรหณะ
เหตุการณ์ในพุทธประวัติ
แก้พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนอยู่เป็นประจำ ณ นครสาวัตถี จนมีประชาชนจำนวนมากหันมาเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา จึงเป็นเหตุทำให้เหล่าเดียรถีย์เสื่อมลง (เดียรถีย์ หมายถึง นักบวชประเภทหนึ่งมีมาก่อนพระพุทธศาสนาและเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง มีพุทธบัญญัติว่า หากเดียรถีย์จะมาขอบวชในพระพุทธศาสนาต้องมารับการฝึก เพื่อตรวจสอบว่ามีความเลื่อมใสแน่นอนเสียก่อน เรียกว่า ติตถิยปริวาส) พวกเดียรถีย์เดือดร้อนจึงคิดหาวิธีที่จะทำลายพระพุทธศาสนาโดยการกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า สาวก แต่ประชาชนก็ยังเลื่อมใสศรัทธาเหมือนเคย ในที่สุดเดียรถีย์จึงใช้อุบายทำลายพระพุทธศาสนาโดยการใช้พุทธบัญญัติที่ว่า “พระพุทธเจ้าและเหล่าสาวกสิ้นท่าหมดอิทธิฤทธิ์ แล้วงดการแสดง ตรงข้ามกับเหล่าคณาจารย์เดียรถีย์ ซึ่งมีปาฏิหาริย์อบรมมั่นคงเต็มที่และมีความพร้อมที่จะแสดงให้เห็นได้ทุกเมื่อ ถ้าไม่เชื่อก็เชิญพระพุทธเจ้ามาแสดงปาฏิหาริย์แข่งกันก็ย่อมได้ เพื่อพิสูจน์ว่าใครจะเก่งกว่าใคร “
ฝ่ายพระพุทธเจ้าและสาวกก็เงียบเฉย เดียรถีย์จึงกล่าวร้ายหนักอีกว่า “พระพุทธเจ้าไม่มีความสามารถในการแสดงอิทธิฤทธิ์” เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบจึงคิดใคร่ครวญและตัดสินใจที่จะแสดงปาฏิหาริย์ให้พวกเดียรถีย์ได้ประจักษ์เพื่อไม่ให้พระพุทธศาสนาโดนย่ำยี โดยพระองค์ได้ประกาศว่าจะแสดงยมกปาฏิหาริย์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ณ ใต้ต้นมะม่วง เมื่อฝ่ายเดียรถีย์รู้ ความดังนั้นจึงแบ่งพวกให้ไปทำลายต้นมะม่วงทุกต้นในเมืองสาวัตถี อีกพวกก็ช่วยกันสร้างมณฑปเพื่อแสดงปาฏิหาริย์ของตน และประกาศให้ประชาชนมาชมความล้มเหลวของพระพุทธองค์ เมื่อถึงกำหนดก็เกิดพายุใหญ่ทำให้มณฑปของเดียรถีย์พังหมดสิ้นส่วนพระพุทธเจ้ายังมิได้แสดงปาฏิหาริย์แต่อย่างใด
ในวันนั้นเอง คนเฝ้าพระราชอุทยานของพระเจ้าปเสนทิโกศล ชื่อว่า นายคัณฑะ ได้ถวายมะม่วงผลหนึ่งแก่พระพุทธเจ้าเนื่องจากมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงสั่งให้พระอานนท์นำมะม่วงไปทำน้ำปานะ (ปานะ หมายถึง น้ำ ของสำหรับดื่ม) มาถวายและเอาเมล็ดมะม่วงวางบนดิน เมื่อทรงฉันน้ำปานะเสร็จ ก็ทรงล้างพระหัตถ์โดยให้น้ำรดลงบนเมล็ดมะม่วง ทันใดนั้นเอง ก็กลายเป็นต้นมะม่วงที่งอกเงยขึ้นมาและต้นใหญ่ หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็แสดงปาฏิหาริย์เนรมิตช่อไฟ ช่อน้ำเนรมิต บุคคลที่เหมือนพระองค์ทุกประการ ทรงแสดงธรรม จงกรม พระพุทธนิมิตให้ประชาชนได้ประจักษ์แก่สายตาจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาโดยทั่วกัน
วันรุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา พระองค์ประกาศว่าจะไปจำพรรษาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาโปรดเทพบุตร อดีตพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา เพื่อเป็นการสนองพระคุณ ดังนั้นพระองค์จึงได้เทศนาพระอภิธรรมปิฎกโปรดพระพุทธมารดาในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน เมื่อถึงวันออกพรรษาพระพุทธองค์จึงเสด็จกลับสู่โลกมนุษย์ทางประตูเมืองสังกัสสนคร เป็นการลงจากเทวโลก (เทโวโรหณะ) เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงมาในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 แล้ว ในวันรุ่งขึ้น (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) ประชาชนต่างพร้อมใจกันมารับเสด็จและนำอาหารมาเพื่อทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมาก ประชาชนบางพวกอยู่ห่างไม่สามารถที่จะถวายอาหารใส่ลงบาตรได้ จึงนำข้าวสาลีมาปั้นเป็นก้อนแล้วโยนใส่ลงในบาตร จนกลายมาเป็นประเพณีนิยมที่ว่าจะต้องทำข้าวต้มลูกโยนซึ่งเป็นข้าวเหนียวห่อด้วยใบมะพร้าวไว้หางยาวเพื่อไว้ใส่บาตรในวันเทโวโรหณะ
การตักบาตร
แก้วันเทโวโรหณะ หมายถึง วันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และบิณฑบาตรในเช้าของอีกวันหนึ่ง ดังนั้น วันตักบาตรเทโวจึงเป็นวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11
ในประเพณีเทศกาลตักบาตรเทโวที่จัดขึ้นในปัจจุบัน การตักบาตรในวันนี้มีลักษณะพิเศษ คือ จะอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนรถ โดยจะมีคนลากหรือขับเคลื่อนรถไปอย่างช้า ๆ โดยจะนำหน้าพระสงฆ์ และพระสงฆ์ก็จะเดินเป็นแถวเพื่อบิณฑบาตเดินตามรถที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนพุทธศาสนิกชนก็จะเรียงเป็นแถวอยู่ข้างทางเพื่อรอใส่บาตรตามลำดับ และอาจมีการนำข้าวต้มลูกโยนมาใส่บาตรเพื่อจำลองเหตุการณ์ในครั้งพุทธกาล ซึ่งแต่ล่ะวัดมักจะมีการจัดสถานที่โดยจะมีธงราวประดับประดาตามเส้นทางที่ใช้ประกอบเทศกาลบิณฑบาต (ในปัจจุบันประเพณีตักบาตรเทโว จะเป็นการตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง)
เมื่อถึงวันตักบาตรเทโว (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยการปฏิบัติตน ดังนี้
- เตรียมข้าวสารอาหารแห้งในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ ตามประเพณี คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากภูเขา หรืออุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงรับบาตรตามลำดับ โดยมีการอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์
- หลังจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล
- ฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส
- แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติ ผู้ล่วงลับ และสรรพสัตว์
อ้างอิง
แก้- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548