เซอร์โรคิวมูลัส

เซอร์โรคิวมูลัส (อังกฤษ: cirrocumulus) มีชื่อเรียกมาจากภาษาละติน cirrus แปลว่า ลอนผม และ cumulus แปลว่า เป็นกอง[1] เซอร์โรคิวมูลัสเป็นเมฆสีขาวขนาดเล็กอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นหนึ่งในเมฆระดับสูงร่วมกับเซอร์รัสและเซอร์โรสเตรตัส[2] เซอร์โรคิวมูลัสมีอักษรย่อคือ Cc และสัญลักษณ์

เมฆเซอร์โรคิวมูลัสเหนือท้องฟ้าเมือง Gåseberg ประเทศสวีเดน

เซอร์โรคิวมูลัสเป็นเมฆที่ก่อตัวในชั้นโทรโพสเฟียร์ ที่ระดับความสูง 20,000–40,000 ฟุต (6,000–12,000 เมตร) เกิดจากการพาความร้อนในอากาศทำให้ไอน้ำบางส่วนกลายสภาพเป็นผลึกน้ำแข็งหรือน้ำในสถานะเย็นยวดยิ่ง[3] เมฆเซอร์โรคิวมูลัสมีลักษณะคล้ายกับเมฆอัลโตคิวมูลัสและแยกได้ยากเนื่องจากบางครั้งเมฆสองชนิดนี้เกิดร่วมกันจากคอนเทรลของเครื่องบิน แต่โดยทั่วไปเซอร์โรคิวมูลัสเป็นเมฆที่อยู่ระดับสูงกว่า มีขนาดเล็กกว่าและก่อให้เกิดปรากฏการณ์เฮโล เซอร์โรคิวมูลัสเป็นเมฆที่ไม่ก่อให้เกิดฝนตก แต่อาจก่อให้เกิดน้ำโปรยฐานเมฆ หรือหยาดน้ำฟ้าที่ระเหยก่อนจะตกถึงพื้นดิน[4] บางครั้งในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือตก เซอร์โรคิวมูลัสจะปรากฏเป็นสีส้มหรือแดงบนท้องฟ้า ทำให้ถูกขนามนามว่าเป็นหนึ่งใน "เมฆที่งดงามที่สุด"[5][6]

เซอร์โรคิวมูลัสสามารถจำแนกออกเป็นเมฆย่อยได้สี่ชนิด ได้แก่ เซอร์โรคิวมูลัส แคสเซลเลนัส (cirrocumulus castellanus, เมฆทรงกลมขนาดเล็ก มียอดแหลมคล้ายปราการ), เซอร์โรคิวมูลัส ฟลอกคัส (cirrocumulus floccus, เมฆทรงกลมขนาดเล็ก มีริ้วที่ฐาน), เซอร์โรคิวมูลัส เลนติคูลาริส (cirrocumulus lenticularis, เมฆสีขาวนวล ลักษณะยืดออกคล้ายจานร่อน) และเซอร์โรคิวมูลัส สเตรติฟอร์มิส (cirrocumulus stratiformis, เมฆขนาดเล็กอยู่รวมเป็นกลุ่มผืนบาง ๆ คล้ายเกล็ดปลา)[7]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Origin and meaning of cirrocumulus". Online Etymology Dictionary. สืบค้นเมื่อ September 8, 2019.
  2. Funk, Ted. "Cloud Classifications and Characteristics" (PDF). The Science Corner. NOAA. สืบค้นเมื่อ 6 February 2011.
  3. "Weather Facts: Cirrocumulus". weatheronline.co.uk. สืบค้นเมื่อ September 8, 2019.
  4. "Cirrocumulus Clouds" (PDF). Cloud Microphysics Webpage. Georgia Institute of Technology. สืบค้นเมื่อ 6 February 2011.
  5. Ahrens 2006, p. 120
  6. Palmer, Chad (October 16, 2005). "Cumulus clouds". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-28. สืบค้นเมื่อ 6 February 2011.
  7. "Cirrocumulus clouds". Met Office. สืบค้นเมื่อ September 8, 2019.