คอนเทรล (อังกฤษ: contrail, มาจากคำ condensation trails[1] (ทางควบแน่น)) หรือ เมฆหางเครื่องบิน[2] เป็นเมฆเส้นตรงยาวปรากฏบนท้องฟ้า เกิดจากไอเสียเครื่องบินหรือการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ คอนเทรลเป็นหนึ่งในเมฆกลุ่มโฮโมเจนิตัส หรือเมฆที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์[3]

คอนเทรลที่ก่อตัวโดยเครื่องบินแอร์บัส เอ340
เครื่องบินตรงกันข้าม

คอนเทรลเป็นเมฆสกุลเซอร์รัส ซึ่งเป็นเมฆระดับสูง ก่อตัวที่ชั้นโทรโพสเฟียร์ที่ระดับความสูง 7,500–12,000 เมตร (25,000–40,000 ฟุต) เมฆชนิดนี้เกิดจากไอน้ำที่ถูกขับออกมาพร้อมไอเสียเครื่องบินทำปฏิกิริยากับอากาศเย็นในชั้นบรรยากาศจนกลายเป็นผลึกน้ำแข็ง ลักษณะเด่นของคอนเทรลที่เป็นเส้นตรงยาวเกิดจากอนุภาคเล็ก ๆ ของเขม่าไอเสียที่แขวนลอยอยู่ในอากาศ อนุภาคเหล่านี้เรียกว่า แกนควบแน่น (cloud condensation nuclei) ซึ่งช่วยให้ไอน้ำควบแน่นกลายเป็นของเหลว ก่อนจะสัมผัสกับอากาศเย็นกลายเป็นผลึกน้ำแข็งบาง ๆ ความชื้นในอากาศส่งผลต่อคอนเทรลเช่นกัน กล่าวคือ หากอากาศแห้ง ผลึกน้ำแข็งจะระเหิดกลายเป็นแก๊ส ทำให้คอนเทรลมีขนาดสั้นหรืออาจไม่ปรากฏ แต่หากอากาศชื้นจะทำให้คอนเทรลคงตัวได้เป็นเวลานาน[4] นอกจากนี้ คอนเทรลยังสามารถเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความดันรอบปีกเครื่องบิน เมื่อเครื่องบินบินขึ้นจะก่อให้เกิดความแตกต่างของความดันและอุณหภูมิระหว่างด้านบนและด้านล่างปีก ทำให้ไอน้ำในอากาศควบแน่น และเมื่อความดันอากาศต่ำที่แผ่ไปตามแนวปีกพบกับความดันอากาศสูงที่ปลายปีกในช่วงเวลาที่อากาศแห้ง จะก่อให้เกิดกระแสวนยาวที่ปลายปีกเครื่องบิน[5][6] คอนเทรลอาจคงอยู่ได้ไม่กี่นาทีจนถึงหลายชั่วโมง หรือถูกลมพัดจนกลายสภาพเป็นเมฆเซอร์รัส[7]

เมื่อเครื่องบินบินผ่านก้อนเมฆจะแหวกเมฆออกเป็นทางยาวเรียกว่า ดิสเทรล (distrail, มาจากคำ dissipation trail (ทางสลายตัว)) เกิดจากเครื่องยนต์ของเครื่องบินที่มีอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิเมฆ ทำให้เมฆบางส่วนระเหยเป็นไอน้ำซึ่งมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เมื่อมองจากพื้นโลกจะเห็นเส้นตรงยาวพาดผ่านหมู่เมฆ[8]

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "Contrails". Metlink. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
  2. "ได้คำตอบ! ลำแสงสีขาวบนฟ้า คือ เมฆหางเครื่องบิน ไม่ใช่ชิ้นส่วนจรวด". ไทยรัฐ. January 3, 2016. สืบค้นเมื่อ October 26, 2020.
  3. "Aircraft condensation trails". International Cloud Atlas. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
  4. "Contrails or condensation trails". Met Office. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
  5. Means, Tiffany (May 12, 2019). "Contrails: The Controversial Cloud". ThoughtCo. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
  6. "Weather In Action: Contrails". National Weather Service. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
  7. "Contrail - Definition & Facts". Britannica.com. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
  8. "Distrail". SKYbrary Aviation Safety. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.
  9. Romano, Andrea (June 4, 2019). "Why Some Planes Leave Behind Colorful Trails in the Sky". Travel + Leisure. สืบค้นเมื่อ September 23, 2019.