เจ้าหญิงตะกอง (Princess of Tagaung; พ.ศ. 2387 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2409) ทรงมีพระนามเดิมคือ เจ้าหญิงศรีสุริยมังคลาเทวี (Sri Suriya Mangala Devi) ทรงเป็นเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์โก้นบอง

เจ้าหญิงตะกอง

เจ้าหญิงศรีสุริยมังคลาเทวี
เจ้าหญิงตะกอง
พระฉายาลักษณ์เจ้าหญิงตะกอง ฉายก่อนปีพ.ศ. 2409
เจ้าหญิงแห่งพม่า
ประสูติพ.ศ. 2387
พระราชวังอมรปุระ อมรปุระ ประเทศพม่า
สวรรคต2 สิงหาคม พ.ศ. 2409
เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
(พระชนมายุ 22 พรรษา)
พระราชสวามีเจ้าชายสากู
เจ้าหญิงตะกอง
ราชวงศ์อลองพญา
พระราชบิดาพระเจ้ามินดง
พระราชมารดาพระสนมเอกตองชเวเยที่ 2

พระประวัติ แก้

เจ้าหญิงศรีสุริยมังคลาเทวี หรือ เจ้าหญิงตะกองทรงเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 5 ของพระเจ้ามินดง[1] ซึ่งประสูติแต่พระสนมเอกตองชเวเยที่ 2 พระสนมเอกฝ่ายใต้ พระองค์ประสูติที่พระราชวังอมรปุระ กรุงอมรปุระ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในรัชกาลของพระเจ้าแสรกแมง หรือ พระเจ้าตะหย่าวดี ซึ่งเป็นพระราชบิดาของเจ้าชายมินดงในขณะนั้น ดังนั้นทรงเป็นพระราชธิดาซึ่งประสูตินอกเศวตฉัตร เจ้าหญิงทรงมีพระขนิษฐาร่วมพระมารดา 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงกยุนดอง

เจ้าชายมินดงและเจ้าชายกะหน่อง พระอนุชาทรงรอบรวมกองกำลังเข้ายึดพระราชอำนาจจากพระเจ้าพุกามแมง ผู้เป็นพระเชษฐา พระองค์สละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2396 พระเจ้ามินดงได้ครองราชสมบัติสืบต่อมา พระเจ้ามินดงทรงย้ายราชธานีไปยังกรุงมัณฑะเลย์ ในปีพ.ศ. 2400 เจ้าหญิงได้รับพระราชทานศักดินา "ตะกอง" (Tagaung) จากพระเจ้ามินดง จึงทำให้มีบรรดาศักดิ์เป็น "เจ้าหญิงแห่งตะกอง" และกลายเป็นพระนามที่เรียกขานกันว่า "เจ้าหญิงตะกอง"[2]

ในปีพ.ศ. 2407 ขณะที่เจ้าหญิงทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับพระอนุชาต่างมารดา คือ เจ้าชายสากู (ประสูติ พ.ศ. 2389) ซึ่งมีพระชนมายุ 18 พรรษา เป็นพระโอรสที่ประสูติแต่พระนางตองซองดอ มเหสีใต้ หนึ่งในพระมเหสีของพระเจ้ามินดง ทั้งสองพระองค์ไม่ทรงมีพระโอรสธิดาร่วมกัน เจ้าชายสากูทรงมีพระโอรสธิดา 2 พระองค์ กับพระสนมฉิ่น เลย์

เจ้าหญิงตะกองและเจ้าชายสากู พระสวามีถูกปลงพระชนม์ที่มัณฑะเลย์ในเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง คือ ความพยายามก่อรัฐประหารวังหลวงในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2409 ซึ่งผู้ก่อการคือเจ้าชายมยินกุ่นและเจ้าชายมยินกุนเดง[3]พระโอรสของพระเจ้ามินดงที่ประสูติแต่พระสนมเอกตองชเวเยที่ 1 พระสนมเอกฝ่ายใต้อีกพระองค์หนึ่ง ทั้งสองพระองค์มีศักดิ์เป็นพระเชษฐาและพระอนุชาต่างมารดาของเจ้าหญิงตะกอง การก่อกบฎของเจ้าชายทั้งสองพระองค์เกิดจากความไม่พอใจที่พระเจ้ามินดง ผู้เป็นพระราชบิดา ทรงแต่งตั้งเจ้าชายกะหน่อง พระอนุชาขึ้นเป็นองค์รัชทายาท เจ้าชายมยินกุ่นทรงคาดหวังที่จะได้รับตำแหน่งนี้ เจ้าชายทั้งสองพระองค์ทรงได้รับการสนับสนุนจากอังกฤษ ซึ่งไม่พอใจแนวทางการปฏิรูปราชอาณาจักรและกองทัพให้ทันสมัยของเจ้าชายกะหน่อง เจ้าชายกะหน่องถูกปลงพระชนม์ขณะประชุมในสภาลุดต่อ จากนั้นกองกำลังของเจ้าชายทั้งสองได้บุกพระราชวังหลวงเพื่อปลงพระชนม์พระเจ้ามินดง แต่ทรงหลบหนีออกไปได้ กองทัพกบฏได้ทำการสังหารบรรดาราชนิกุลที่ต่อต้าน ซึ่งเจ้าหญิงตะกองและเจ้าชายสากูก็เป็นหนึ่งในนั้นด้วย ความพยายามก่อการรัฐประหารล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถปลงพระชนม์พระเจ้ามินดงได้ เจ้าชายทั้งสองทรงถูกต่อต้าน จึงหลบหนีไปยังดินแดนพม่าภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร และทรงได้รับสถานะลี้ภัยจากอังกฤษ

เจ้าหญิงตะกองถูกปลงพระชนม์ในวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2409 จากเหตุการณ์กบฎเจ้าชายมยินกุ่นและเจ้าชายมยินกุนเดง สิริพระชนมายุ 22 พรรษา

อ้างอิง แก้

  1. http://www.royalark.net/Burma/konbau18.htm
  2. http://www.royalark.net/Burma/konbau18.htm
  3. Htin Aung, "The Stricken Peacock: Anglo-Burmese Relations 1752–1948", Martinus Nijhoff, The Hague; published 1965; ISBN 978-940-15-1045-5