เจ้าจอมแส ในรัชกาลที่ 5
เจ้าจอมแส ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม บุนนาค; 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 – 7 ตุลาคม พ.ศ. 2521) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เช่นเดียวกับเจ้าจอมก๊กออ แต่ต่างมารดากัน เพราะเจ้าจอมแสมีมารดาชื่อหม่อมทรัพย์ เป็นหญิงลาวโซ่ง ด้วยเหตุนี้เจ้าจอมแสจึงมีสมญาว่า เจ้าจอมโซ่ง ตามชาติพันธุ์ของมารดา[1]
เจ้าจอม แส ในรัชกาลที่ 5 | |
---|---|
เกิด | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 จังหวัดเพชรบุรี อาณาจักรสยาม |
เสียชีวิต | 7 ตุลาคม พ.ศ. 2521 (86 ปี) กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย |
คู่สมรส | พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2451–2453) |
บิดามารดา | เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) หม่อมทรัพย์ |
ประวัติ
แก้เจ้าจอมแส เกิดเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2435 ณ จังหวัดเพชรบุรี เป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) สมุหเทศาภิบาลมณฑลราชบุรี กับอนุภรรยาชื่อหม่อมทรัพย์ เป็นชาวลาวโซ่ง บ้านท่าโล้ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี[1] บรรพชนลาวโซ่งนี้ถูกกวาดต้อนจากเมืองแถงและเมืองลอ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเวียดนาม) มาตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งโปรดเกล้าให้ชาวโซ่งตั้งหลักแหล่งที่เมืองเพชรบุรี[2] มีเรื่องราวมุขปาฐะว่าเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าเมืองเพชรบุรี เกิดจิตพิศวาสอยากได้หม่อมทรัพย์ ลูกสาวกำนันลาวโซ่งบ้านท่าโล้ไปทำเมีย จึงเอ่ยปากขอกำนันลาวโซ่งเสียดื้อ ๆ กำนันจึงบ่ายเบี่ยงและต่อรองว่าให้เอาวัวคู่งามไปแทน แต่อย่าเอาลูกสาวไปเลย เมื่อการร้องขอไม่สำเร็จ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์จึงส่งคนในสังกัดจับลูกสาวกำนันขึ้นเกวียน นำตัวเข้ามายังจวนของตน ครอบครัวกำนันลาวโซ่งท่าโล้จึงได้แต่ร้องไห้ฟูมฟายอยู่หลายวันหลายคืน[2]
เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น เจ้าจอมแสเข้าไปอยู่ที่สวนพุดตานกับเจ้าจอมเอิบ พี่สาวต่างมารดา ซึ่งรับราชการเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก่อนหน้า ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จผ่านสวนพุดตานและแอบทอดพระเนตรเจ้าจอมแสกำลังอาบน้ำสระผมในคลอง เมื่อเสด็จเข้าในตำหนักจึงทรงขอเจ้าจอมแสจากเจ้าจอมเอิบ ในขณะนั้นเจ้าจอมแสมีอายุได้ 16 ปี[1] และมิได้ประสูติการพระราชบุตรเลย[3] อย่างไรก็ตามท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าจอมผู้ติดตามใกล้ชิด ในตำแหน่งนางพระกำนัล[4] หลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 เจ้าจอมแสจึงได้ย้ายออกมาพำนักอยู่นอกพระราชวังดุสิต มีบ้านพักผ่อนที่ย่านสนามเป้า หลังจากนั้นจึงซื้อที่ปลูกบ้านที่ซอยนรอุทิศ ย่านราชวัตรเมื่อ พ.ศ. 2475 โดยอยู่กับอินทิรา บุนนาค ซึ่งเป็นหลานชาย และเลี้ยงดูลูกหลานของอินทิราตลอดมา[3]
เจ้าจอมแสถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2521 เมื่ออายุ 86 ปี ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อัฐิของท่านถูกบรรจุในเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ในสุสานหลวง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ติดกับเจดีย์ของเจ้าจอมเอิบ และมีสถูปบรรจุอัฐิที่วัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ที่ลูกหลานของท่านสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ใกล้บ้านที่ท่านอยู่จนวาระสุดท้ายของชีวิต[5]
ชีวิตส่วนตัว
แก้เจ้าจอมแสเป็นผู้ที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อย พูดจาไพเราะ ไม่เคยโกรธขึ้งหรือเกรี้ยวกราดผู้ใดเลย[5] รักการทำบุญ ใส่บาตรทุกวันพระ และทุกวันที่ใส่บาตรจะห่มสไบหรือผ้าห่มทับเสื้อตัวนอกอีกที[3] ในเรือนของเจ้าจอมแสจะมีห้องที่ถวายแก่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านจะทำความสะอาดห้องนี้ด้วยตนเอง และในบางคราเจ้าจอมแสตั้งเครื่องเสวยถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[6] ท่านชอบสีไวโอลินและตีขิม ชอบเลี้ยงสัตว์โดยเฉพาะสุนัขและนกพิราบ ปลูกต้นมะลิมาร้อยเป็นพวงมาลัยถวายพระและถวายสักการะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทุกวัน[7]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2521 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) (ฝ่ายใน)[8]
- พ.ศ. 2452 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน) [9]
- พ.ศ. 2451 – เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 5 ชั้นที่ 3 (จ.ป.ร.3) [10]
พงศาวลี
แก้พงศาวลีของเจ้าจอมแส ในรัชกาลที่ 5 | ||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
|
อ้างอิง
แก้- เชิงอรรถ
- ↑ 1.0 1.1 1.2 เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 495
- ↑ 2.0 2.1 ทวีโรจน์ กล่ำกล่อมจิตต์ (23 เมษายน 2021). "ทำไมชาวโซ่ง เรียกคนไทยว่า ผู้โกย สอนลูกหลานไม่ให้คบ "บะโกย" สบถ "บะโกยหำแหล่"". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2021.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 499
- ↑ เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 497
- ↑ 5.0 5.1 เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 507
- ↑ เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 501
- ↑ เจ้าจอมก๊กออ, หน้า 503
- ↑ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์
- ↑ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้าฝ่ายใน
- ↑ พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลปัตยุบัน ฝ่ายใน
- บรรณานุกรม
- กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. เจ้าจอมก๊กออ. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2558. 609 หน้า. ISBN 978-616-18-0366-7