เจ้าจอมก๊กออ
เจ้าจอมก๊กออ หรือ เจ้าจอมพงศ์ออ[1] เป็นชื่อที่ใช้เรียกพระสนมเอกทั้งห้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีนามขึ้นต้นด้วยอักษร อ. อ่าง อันได้แก่ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน ซึ่งทั้งหมดเป็นสตรีจากสายราชินิกุลบุนนาค[2] เป็นบุตรีของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) กับท่านผู้หญิงอู่ ภริยาเอก
พื้นเพ
แก้เจ้าจอมก๊กออ หรือ เจ้าจอมพงศ์ออ ทั้งห้าคนเป็นธิดาของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เจ้าเมืองเพชรบุรี กับท่านผู้หญิงอู่ สุรพันธ์พิสุทธิ์ (สกุลเดิม วงศาโรจน์)[2] มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 14 คน และพี่น้องร่วมบิดารวม 62 คน โดยมีสตรีเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 7 คน[3] ซึ่งเป็นเจ้าจอมก๊กออ 5 คน ได้แก่
- เจ้าจอมมารดาอ่อน (19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2410 - 29 มกราคม พ.ศ. 2512)
- เจ้าจอมเอี่ยม (12 พฤษภาคม พ.ศ. 2416 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2495)
- เจ้าจอมเอิบ (22 เมษายน พ.ศ. 2422 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2487)
- เจ้าจอมอาบ (20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2424 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2504)
- เจ้าจอมเอื้อน (พ.ศ. 2430 - พ.ศ. 2470)
เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ ผู้บิดาเป็นบุตรของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ กับหม่อมหรุ่น ซึ่งสืบเชื้อสายจากเฉกอะหมัด วานิชชาวเปอร์เซียที่เข้ามาค้าขายในไทยช่วงกรุงศรีอยุธยา[4][5] ส่วนมารดาคือ ท่านผู้หญิงอู่ เป็นบุตรีของพระยาภักดีนฤบดินทร์ (กุ้ง วงศาโรจน์)[3] เจ้าเมืองราชบุรีคนที่ 5[6]
ถวายตัวเป็นฝ่ายใน
แก้แรกเริ่มมีเจ้าจอมมารดาอ่อน และเจ้าจอมเอี่ยมเริ่มเข้าถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2428-9 ตามมาด้วยเจ้าจอมเอิบในปี พ.ศ. 2429 เจ้าจอมอาบในปี พ.ศ. 2434 และเจ้าจอมเอื้อนในปี พ.ศ. 2447 ซึ่งเจ้าจอมท่านสุดท้ายนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสขอเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์และท่านผู้หญิงอู่เพื่อให้มีจำนวนครบห้าคน นอกจากเจ้าจอมก๊กออทั้งห้าแล้ว ยังมีน้องสาวต่างมารดาที่เข้ารับราชการฝ่ายในคือ เจ้าจอมแก้ว (เกิดแต่หม่อมพวง) และเจ้าจอมแส (เกิดแต่หม่อมทรัพย์)[3][7] ถวายตัวในปี พ.ศ. 2451
โดยเจ้าจอมมารดาอ่อนได้สนองพระเดชพระคุณประสูติกาลพระราชธิดาสองพระองค์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภา[8] ส่วนเจ้าจอมเอี่ยม ตั้งครรภ์พระองค์เจ้าแต่ตกเสียไม่เป็นพระองค์สองครั้ง[9] ขณะที่เจ้าจอมท่านที่เหลือมิได้ให้ประสูติกาลพระราชบุตรเลย
อย่างไรก็ตามเจ้าจอมก๊กออทั้งห้าเป็นพระสนมคนโปรดของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (มีเพียงเจ้าจอมอาบเท่านั้นที่มิได้เป็นพระสนมเอก) ส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพราะความซื่อสัตย์และจงรักภักดีของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ แต่อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ผูกพระราชหฤทัยมิเสื่อมคลายและทำให้เจ้าจอมก๊กออเป็นที่โปรดปรานเป็นระยะเวลามากว่า 30 ปี โดยที่บางท่านไม่มีพระเจ้าลูกเธอมาเป็นเครื่องผูกมัด ซึ่งสิ่งนั้นก็คือคุณสมบัติพิเศษของเจ้าจอมก๊กออในแต่ละท่าน[10] อาทิ เจ้าจอมเอี่ยม เป็นผู้ชำนาญงานนวด เพราะได้ศึกษาเกี่ยวกับกายภาพจนทราบดีถึงกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย รู้จังหวะหนักเบาในการกดคลึง ทำให้หายขบเมื่อยและรู้สึกเบาสบาย[11] ส่วนเจ้าจอมเอิบ เป็นผู้ที่มีไหวพริบและเอกอุในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า มีหน้าที่ในการแต่งฉลองพระองค์ของพระราชสวามี มีความสามารถในการถ่ายภาพ และสามารถทำอาหารได้พิถีพิถันต้องพระราชหฤทัยโดยเฉพาะการทอดปลาทู[12]
แต่ด้วยความเป็นกลุ่มคนโปรดของพระปิยมหาราช จึงเป็นเหตุที่ทำให้สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระอัครมเหสี ไม่พอพระทัยนัก และปฏิเสธที่จะเสด็จตามพระราชสวามีไปยังเมืองเพชรบุรี ที่ซึ่งระยะหลัง ๆ พระราชสวามีได้เสด็จไปบ่อยดุจราชสำนักประจำ สมเด็จพระพันปีหลวงทรงตรัสกับพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นยังดำรงพระอิสริยยศเป็นสยามมกุฎราชกุมารว่า "จะให้แม่ไปประจบเมียน้อยของพระบิตุรงค์นั้น เหลือกำลังละ" แต่กลางปี พ.ศ. 2453 สมเด็จพระพันปีหลวงได้ตามเสด็จพระราชสวามีไปยังเมืองเพชรบุรีด้วย ครั้นหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทุพพลภาพมากขึ้น และไม่ได้เสด็จเพชรบุรีอีกเลยจนกระทั่งสวรรคต[13]
หลังสิ้นรัชกาล
แก้หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระราชสวามี เหล่าเจ้าจอมก๊กออและพระราชธิดาทั้งสองคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรประพันธ์รำไพ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอดิศัยสุริยาภายังคงพำนักอยู่ในในวังสวนสุนันทา[14]
แต่ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เจ้าจอมก๊กออได้ย้ายไปมาอยู่ที่เรือนสร้างใหม่ริมคลองสามเสนกับถนนนครราชสีมา โดยสร้างบนที่ดินพระราชทานกันคนละแปลงแบ่งเป็นสัดส่วน เรียกว่า "สวนนอก" ส่วนของเจ้าจอมมารดาอ่อนและพระราชธิดาเรียกว่า วังสวนปาริจฉัตก์ หรือ สวนท่านอ่อน ส่วนที่เป็นของท่านเจ้าจอมน้อง ๆ ทั้งสี่ท่านที่เหลือ ก็เรียกตามชื่อตัวว่า สวนท่านเอิบ, สวนท่านอาบ และสวนท่านเอี่ยม ตามลำดับ และพำนักอยู่จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรม ส่วนเจ้าจอมก๊กออที่ถึงแก่อสัญกรรมเป็นลำดับท้ายสุดคือ เจ้าจอมมารดาอ่อน ที่ถึงแก่อสัญกรรมในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อปี พ.ศ. 2512 สิริอายุได้ 101 ปี
อนุสรณ์
แก้- อรอนุสรณ์ 2476 — ภายในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- เอี่ยมอนุสรณ์ 2495 — ภายในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- เอิบอนุสรณ์ 2480 — ภายในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- อนุสาวรีย์เจ้าจอมอาบ — ภายในสุสานหลวงวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
- สถานีเอื้อน อนามัย — สถานอนามัยแห่งแรกของจังหวัดเพชรบุรี สร้างจากเงินบริจาคของเจ้าจอมมารดาอ่อนซึ่งเงินดังกล่าวเป็นมรดกของเจ้าจอมเอื้อนที่ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้ว[15]
อ้างอิง
แก้- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 200
- ↑ 2.0 2.1 "สี่แผ่นดิน - อิฉันรักพระเจ้าแผ่นดิน". ASTVผู้จัดการออนไลน์. 30 พฤศจิกายน 2554. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help)[ลิงก์เสีย] - ↑ 3.0 3.1 3.2 "เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค)". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-19. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สุดารา สุจฉายา. "ประวัติศาสตร์เก็บตกที่อิหร่าน ย้อนรอยความสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน" ใน กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ:มติชน. 2550, หน้า 136-142
- ↑ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ. เล่าเรื่อง...เฉกอะหมัด ต้นสกุลบุนนาค. กรุงเทพฯ:บันทึกสยาม. 2553, หน้า 28
- ↑ "ทำเนียบผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี". จังหวัดราชบุรี. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ "ชมรมสายสกุลบุนนาคร่วมงานพระราชพิธีทำบุญประจำปีที่สุสานหลวงวัดราชบพิตร เนื่องในงานทำบุญจุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๓". ชมรมสายสกุลบุนนาค. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2557.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ ราชกิจจานุเบกษา, สมโภชเดือนพระเจ้าลูกเธอ, เล่ม ๖, ตอน ๕๒, ๓๐ มีนาคม ร.ศ. ๑๐๘, หน้า ๔๕๐
- ↑ กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ ดร. ย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ:เมืองโบราณ. 2549
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ:มติชน. 2555, หน้า 201
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. หอมติดกระดาน. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มติชน. 2553, หน้า 82
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 204-6
- ↑ ไกรฤกษ์ นานา. ค้นหารัตนโกสินทร์ 3. สมุทรปราการ : ออฟเซ็ทพลัส. (ม.ป.ป.), หน้า 229-231
- ↑ ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. ลูกท่านหลานเธอ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จในราชสำนัก. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มติชน. 2555, หน้า 220
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, รับเงินสำหรับสร้างสถานี "เอื้อน อนามัย" จังหวัดเพ็ชรบุรี เล่ม ๔๕, ตอน ๐ ง, ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑, หน้า ๑๓๖๗
- กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. ย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. 416 หน้า. ISBN 974-7383-97-7
- วรรณพร บุญญาสถิตย์. จอมนางแห่งสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พ.ศ. 2549. 338 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 874-341-471-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
ดูเพิ่ม
แก้- เรือนเจ้าจอมก๊กออ ภายในพระบรมมหาราชวัง
- เรือนเจ้าจอมก๊กออ ภายในพระราชวังบางปะอิน