เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ 5

(เปลี่ยนทางจาก เจ้าจอมเอิบ)

เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ 5 (สกุลเดิม บุนนาค) (22 เมษายน พ.ศ. 2422 - 11 สิงหาคม พ.ศ. 2487) เป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นหนึ่งในเจ้าจอมก๊กออที่ทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ

เจ้าจอม

เอิบ ในรัชกาลที่ 5
เกิดเอิบ บุนนาค
22 เมษายน พ.ศ. 2422
จังหวัดเพชรบุรี, สยาม
เสียชีวิต11 สิงหาคม พ.ศ. 2487 (65 ปี)
กรุงเทพมหานคร ไทย
มีชื่อเสียงจากเจ้าจอมก๊กออ
บิดามารดา

เจ้าจอมเอิบ เกิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2422 เป็นบุตรคนที่ 11 ในจำนวน 14 คน ของเจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) ที่เกิดกับท่านผู้หญิงอู่ มีพี่น้องร่วมบิดาทั้งสิ้น 62 คน โดยในจำนวนนี้ มี 5 คน ที่เกิดจากท่านผู้หญิงอู่(สกุลเดิม วงศาโรจน์) และได้เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 คือ เจ้าจอมมารดาอ่อน เจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ เจ้าจอมอาบ และเจ้าจอมเอื้อน

เจ้าจอมเอิบเข้าถวายตัวรับราชการฝ่ายในเมื่อ พ.ศ. 2434 เมื่ออายุได้ 12 ปี เนื่องจากเจ้าจอมเอิบนั้นเป็นผู้ที่มีสิริโฉมงดงาม กล่าวกันว่าท่านเจ้าจอมเอิบนั้นมีคุณสมบัติตรงตามตำราหญิงงามอันเป็นที่นิยมแห่งยุคสมัยนั้นทีเดียว กล่าวคือที่หน้าตาที่อ่อนหวาน งดงามเยือกเย็น กล่าวกันอีกว่าท่อนแขนของท่านเจ้าจอมเอิบ นั้นงดงามกลมกลึง ราวกับลำเทียน เนื่องจากท่านเป็นคนที่มีรูปร่างไม่ผอมไป หรืออ้วนเกินไป หากแต่อวบและมีน้ำมีนวล กล่าวโดยสรุปคือ ท่านเจ้าจอมเอิบนั้น มีความงามแห่งรูปโฉม และกิริยาที่สอดคล้องกับความนิยมในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่โปรดปรานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิเศษ ได้ตามเสด็จไปแปรพระราชฐาน ประพาสหัวเมืองเหนือ เมื่อ พ.ศ. 2444 หรือไปประทับที่พระราชวังบางปะอิน เมื่อ พ.ศ. 2445 และเสด็จประพาสต้นเมื่อ พ.ศ. 2447 เป็นผู้ถวายงานอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งสิ้นรัชกาล เช่นเดียวกับเจ้าจอมเอี่ยม ผู้เป็นพี่สาวแท้ ๆ

เจ้าจอมเอิบ มีความสามารถในการใช้กล้องถ่ายภาพ สามารถถ่ายภาพ และล้างรูปได้ด้วยตัวเอง เป็นช่างภาพสมัครเล่นในราชสำนัก ซึ่งได้ถ่ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระฉายาลักษณ์ของเจ้านายหลายพระองค์

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เจ้าจอมเอิบได้พำนักอยู่ที่ตำหนักในวังสวนสุนันทา ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้ย้ายไปมาอยู่ที่เรือนสร้างใหม่ริมคลองสามเสน กับถนนสามเสน โดยท่านได้สร้างบนที่ดินพระราชทานแก่เจ้าจอมก๊กออ (รวมทั้งตัวท่านด้วย) ต่างได้รับพระราชทานกันคนละแปลง เป็นสัดส่วน เรียกว่า "สวนนอก" แต่ละสวนจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป วังของเสด็จพระองค์หญิงทั้งสองพระองค์พระราชธิดาในท่านเจ้าจอมมารดาอ่อนนั้น มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า วังสวนปาริจฉัตก์ หรือ สวนท่านอ่อน ส่วนที่เป็นของท่านเจ้าจอมน้อง ๆ ทั้งสี่ท่านที่เหลือ ก็เรียกว่า สวนท่านเอิบ สวนท่านอาบ สวนท่านเอื้อน และสวนท่านเอี่ยม ตามลำดับ

เจ้าจอมเอิบ ในรัชกาลที่ ๕ ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2487 ที่บ้านราชบูรณะ สิริอายุ 65 ปี

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

แก้

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าฝ่ายใน, เล่ม ๒๑ ตอนที่ ๓๔ หน้า ๖๑๖, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๔๗
  2. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2015-09-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๘ ตอนที่ ๔๗ หน้า ๘๗๕, ๑๖ กุมภาพันธ์ ๑๒๐
  3. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ฝ่ายใน เก็บถาวร 2022-10-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๓๗ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๓๗๓๒, ๖ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๓
  • กัณฑาทิพย์ สิงหะเนติ. ย้อนรอยเจ้าจอมก๊กออ ในรัชกาลที่ ๕. กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, 2549. 416 หน้า. ISBN 974-7383-97-7
  • วรรณพร บุญญาสถิตย์. จอมนางแห่งสยาม ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 6 กับกระแสวัฒนธรรมตะวันตก. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, พ.ศ. 2549. 338 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 874-341-471-1 ข้อผิดพลาดพารามิเตอร์ใน {{ISBN}}: checksum
  • กิตติพงษ์ วิโรจน์ธรรมากูร. ๑๐๐ ปีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในงานพระพุทธชินราชประจำปี วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม รัตนโกสินทรศก ๑๒๓. กรุงเทพฯ : ดำรงวิทยา, 2548. 132 หน้า. ISBN 974-93740-5-3