เขื่อนบางปะกง

เขื่อนในจังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศไทย

เขื่อนบางปะกง[a] หรือ เขื่อนทดน้ำบางปะกง เป็นเขื่อนดินแบบปิดกั้นลำน้ำสำหรับป้องกันน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาจากปากแม่น้ำ และรักษาน้ำจืดที่อยู่เหนือเขื่อนไว้สำหรับอุปโภคบริโภคและการเกษตร อยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน

เขื่อนบางปะกง
หอคอยอาคารระบายน้ำของเขื่อน (19 ตุลาคม พ.ศ. 2547)
เขื่อนบางปะกงตั้งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา
เขื่อนบางปะกง
ที่ตั้งของเขื่อนในจังหวัดฉะเชิงเทรา
แผนที่
ชื่อทางการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนบางปะกง
ประเทศประเทศไทย
ที่ตั้งตำบลบางแก้ว อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา
พิกัด13°42′27″N 101°08′14″E / 13.7075°N 101.1371°E / 13.7075; 101.1371
เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2539
เปิดดำเนินการ6 มกราคม พ.ศ. 2543
งบก่อสร้าง5,232 ล้านบาท
เจ้าของกรมชลประทาน
เขื่อนและทางน้ำล้น
ปิดกั้นแม่น้ำบางปะกง
ความสูง24 เมตร (เขื่อนหลัก)
7 เมตร (ลำน้ำเดิม)
สันเขื่อน 39 เมตร (รทก.)
ความยาว2,500 เมตร (เขื่อนหลัก)
1,600 เมตร (ลำน้ำเดิม)
อ่างเก็บน้ำ
อ่างเก็บน้ำเขื่อนดินปิดกั้นลำน้ำ ประเภทแบ่งโซน
ปริมาตรกักเก็บน้ำ248 ล้าน ลบ.ม.
สะพาน
ช่องถนน2 ช่องจราจร (เขื่อนหลักและลำน้ำเดิม)

ประวัติ

แก้

แม่น้ำบางปะกงเป็นพื้นที่ราบลุ่มขนาดประมาณ 17,600 ตารางกิโลเมตร (ประมาณ 11 ล้านไร่) โดยมีต้นกำเนิดมาจากแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำปราจีนบุรีไหลมาบรรจบกันบริเวณอำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี และอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เมื่อพื้นที่ราบลุ่มมีการพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของการเกษตร ทำให้ความต้องการน้ำจืดมีสูงขึ้น จึงมีการกำหนดแผนพัฒนาลุ่มน้ำบางปะกง โดยมีวัตถุประสงค์ในการกักเก็บปริมาณน้ำจืดและป้องกันน้ำเค็ม โดยรัฐบาลให้ความสำคัญกับในการพัฒนาเขื่อนบางปะกง และอ่างเก็บน้ำคลองสียัดเป็นอันดับต้น ๆ ของโครงการ เพื่อใช้ในการรักษาน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภค ภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม จึงได้มีการวางแผนศึกษาการพัฒนาร่วมกันเมื่อปี พ.ศ. 2533 กับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น หรือ JICA[1]

สภาพปัญหาหลักก็คือ แม่น้ำบางปะกงประสบปัญหาน้ำเค็มหนุนสูง เมื่อหมดฤดูฝนในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงมาน้อย ทำให้น้ำเค็มนั้นหนุนขึ้นไปถึงจังหวัดปราจีนบุรี สามารถวัดค่าความเค็มบริเวณที่ตั้งเขื่อนบางปะกงได้ถึง 20 ppt หรือเกลือ 20 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร เมื่อถึงช่วงฤดูฝนในช่วงเดือนพฤษภาคม น้ำจืดจะไหลดันน้ำเค็มกลับไปยังปากแม่น้ำบางปะกง เป็นประจำทุก ๆ ปี รวมถึงบางครั้งมีปริมาณมากจนกระทั่งไหล่บ่าท่วมพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำ[1] จึงสามารถใช้ประโยชน์จากน้ำจืดได้เพียงช่วงเดือนกรกฎาคม - ตุลาคม (4 เดือน) เท่านั้น จึงได้มีแนวคิดในการสร้างเขื่อนบางปะกงขึ้นมาเพื่อกักเก็บน้ำจืดไว้สำหรับการอุปโภคบริโภคและป้องกันการหนุนสูงของน้ำเค็ม[2]

โครงการเขื่อนบางปะกง ได้รับการอนุมัติในหลักการและเริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2539 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2542 ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 5,232 ล้านบาท ซึ่งรวมค่าที่ดินที่ใช้ในการเวนคืนแล้ว 900 ล้านบาท และเริ่มเปิดปิดประตูเขื่อนเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2543

คุณสมบัติ

แก้
 
อาคารสูบน้ำของโครงการเขื่อนบางปะกงเพื่อจ่ายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทาน

เขื่อนบางปะกง เป็นเขื่อนรูปแบบเขื่อนผันน้ำในรูปแบบปิดกั้นลำน้ำเดิม คือแม่น้ำบางปะกง โดยขุดคลองลัดขึ้นมาเพื่อบังคับการไหลของน้ำให้ผ่านมายังจุดที่ต้องการคือตัวเขื่อน และตัวแม่น้ำเดิมได้สร้างทำนบดินปิดกั้นไว้พร้อมกับประตูระบายน้ำ ตัวเขื่อนประกอบด้วยประตูระบายน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 ช่อง แบ่งเป็นชนิดบานเดี่ยวจำนวน 3 บาน สำหรับระบายน้ำ และบานคู่จำนวน 2 บาท สำหรับควบคุมระดับน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนบางปะกง โดยใช้การควบคุมทางไกลผ่านอาคารควบคุมบนตลิ่งทางด้านขวาของเขื่อน[1]

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง ความสามารถสูบได้เครื่องละ 4 ลบ.ม./วินาที เพื่อสูบน้ำเข้าสู่โครงข่ายชลประทานในพื้นที่ โดยมีพื้นที่ชลประทานอยู่ในโครงการทั้งหมด 92,000 ไร่[1]

ลักษณะเขื่อน

แก้

เขื่อนบางปะกง อยู่ห่างจากปากแม่น้ำบางปะกงประมาณ 71 กิโลเมตร มีขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำ 248 ล้าน ลบ.ม. ประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ เขื่อนหลัก และเขื่อนบริเวณลำน้ำเดิม มีรายละเอียด[2] ดังนี้

 
ประตูระบายน้ำของเขื่อนบางปะกง
  • เขื่อนหลัก เป็นเขื่อนดินประเภทแบ่งโซน (Zone Type) มีความยาว 2,500 เมตร มีความสูง 24 เมตร ระดับสันเขือน 39 เมตร (ระดับทะเลปานกลาง)
    • ตัวเขื่อนส่วนที่เป็นประตูระบายน้ำ มีความยาว 166 เมตร ลึก 11 เมตร[3]
    • สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ขนาด 2 ช่องจราจร แยกจากตัวเขื่อนในลักษณะคู่ขนานไปกับแนวของเขื่อน
  • เขื่อนกั้นลำน้ำเดิม เป็นเขื่อนดินประเภทแบ่งโซน (Zone Type) มีความยาว 1,600 เมตร มีความสูง 7 เมตร ระดับสันเขื่อน 39 เมตร (ระดับทะเลปานกลาง) พร้อมด้วยประตูระบายน้ำและถนนบนสันเขื่อนพร้อมสะพานข้ามร่องลำน้ำเดิม สร้างขึ้นเพื่อควบคุมการไหลของน้ำให้ไปยังเขื่อนหลัก

พื้นที่ชลประทาน

แก้

เขื่อนบางปะกง เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้สำหรับทำเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางคล้า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางปะกง รวมไปถึงอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และเป็นแหล่งน้ำไว้สำหรับสนับสนุนในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก[4][5]

การป้องกันน้ำเค็ม

แก้

เขื่อนบางปะกงมีศักยภาพในการป้องกันน้ำเค็มที่รุกล้ำมาจากปากแม่น้ำบางปะกง และรักษาทรัพยากรน้ำจืดซึ่งอยู่เหนือเขื่อน ด้วยการชะลอปริมาณการไหลของน้ำจืดและน้ำเค็มจากทั้งสองทิศทาง ร่วมกับการปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน คืออ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำคลองระบบ และพิจารณาการใช้น้ำจาก เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง เพื่อประคองสถานการณ์และรักษาน้ำจืดในพื้นที่เหนือเขื่อนจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและผลิตน้ำประปา[6][7]

การท่องเที่ยว

แก้
 
ประชาชนหย่อนใจด้วยการตกปลาบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงหน้าเขื่อนบางปะกง

เขื่องบางปะกง เป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่สำคัญ เนื่องจากทัศนียภาพของเขื่อนและบานประตูระบายน้ำที่สวยงาม มีลักษณะคล้ายกับประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช สามารถชมได้จากบนสะพานข้ามแม่น้ำ[8]บางปะกงที่ขนานไปกับแนวของเขื่อน มีประชาชนมักมาพักผ่อนหย่อยใจด้วยการตกปลาอยู่บนสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ซึ่งตัวเขื่อนบางปะกงนั้นอยู่ใกล้เคียงกับวัดสมานรัตนาราม

ผลกระทบ

แก้

หลังจากเริ่มใช้งานเขื่อนด้วยการเปิดปิดประตูน้ำเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2543 ก็ประสบปัญหาขึ้นมา 2 ปัญหาในคราวแรก คือ ปัญหาแรก การคาดว่าจะสามารถเปิดปิดประตูเพื่อเก็บกักน้ำจืดสำหรับการอุปโภคบริโภคบริเวณเหนือเขื่อน แต่กลับเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียขึ้นมาแทน เนื่องจากน้ำไม่มีการไหลเวียน และปัญหาที่สอง การปิดประตูเขื่อนในคืนข้างแรมที่เกิดน้ำลด ทำให้บริเวณใต้เขื่อนไม่มีน้ำหล่อเลี้ยงอยู่ ทำให้เกิดการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อถึงข้างขึ้น น้ำก็จะล้นและเข้าท่วมบ้านเรือนและคลองต่าง ๆ ทำให้เกิดความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรของพื้นที่ใต้เขื่อน ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ท้ายเขื่อนกว่า 65,590 คนจากพื้นที่ 17 ตำบลในจังหวัดฉะเชิงเทรา[3]

เนื่องจากปัญหานี้เอง ทำให้ช่วงแรก กรมชลประทานจึงจำเป็นต้องเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ[3]

 
ช่องทางสำหรับการสัญจรทางน้ำบริเวณลำน้ำบางปะกงเดิมที่ถูกปิดกั้นด้วยเขื่อนดิน

จากการศึกษาของอาจารย์นวนน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ[3] พบว่าเขื่อนบางปะกงส่งผลกระทบแบ่งออกเป็น 2 ด้านใหญ่ ๆ คือ

  • ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประกอบไปด้วย
    • ผลกระทบด้านคุณภาพน้ำ พบว่ามีการปนเปื้อนสารอินทรีย์สูง เกิดจากการสร้างเขื่อนทำให้ทิศทางการไหลของน้ำเปลี่ยนผิดไปจากธรรมชาติ ในส่วนของเหนือเขื่อน เนื่องจากน้ำบริเวณเหนือเขื่อนมีการไหลที่ช้าลงจนเกือบหยุดนิ่ง ก่อให้เกิดปัญหาเน่าเสียของน้ำจนไม่สามารถใช้ในการผลิตน้ำประปาหรือในอุตสาหกรรมได้ และส่วนของใต้เขื่อนเกิดปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาเร็วขึ้น เนื่องจากขาดน้ำจืดลงไปผลักดันตามธรรมชาติ รวมไปถึงระยะการขึ้นลงของน้ำสั้นกว่าเดิม ทำให้สิ่งปนเปื่อนถูกถ่ายเทลงทะเลได้ช้างลงกว่าสภาพเดิมตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการสะสมของสิ่งปนเปื้อนจนอาจทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียแบบแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง โดยปนเปื้อนสารอินทรีย์และโลหะหนักสูง ออกซิเจนในน้ำมีต่ำ มีผลต่อการเลี้ยงสัตว์น้ำหรือสัตว์น้ำในแม่น้ำ ส่งผลกระทบไปถึงลำคลองที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำที่น้ำในแม่น้ำไม่สามารถช่วยเจือจางน้ำเสียจากชุมชนหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยลงมาในลำคลองนั้นได้
    • ผลกระทบด้านการพังทลายของดิน เกิดการพังทลายของตลิ่งอย่างรุนแรงในพื้นที่ท้ายเขื่อน เนื่องจากความแตกต่างของภาวะน้ำขึ้นน้ำลงที่ผิดธรรมชาติของการปิดประตูเขื่อน ทำให้ตลิ่งขาดความมั่นคงเพราะปริมาณน้ำลงและน้ำขึ้นแตกต่างกันเกินไป ทำให้มีการพังทลายและทรุดตัวของตลิ่ง
    • ผลกระทบด้านสัตว์น้ำ ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำระบุว่าระบบนิเวศทั้งหมดสูญเสีย เพราะปัญหาการเน่าเสียของน้ำ อันเนื่องมาจากการไหลเวียนของน้ำที่ช้าลง ออกซิเจนในน้ำจึงลดลง ปลาที่เคยมีอยู่ในแม่น้ำกว่า 350 ชนิด สูญหายไปกว่า 100 ชนิด ทำให้ชาวบ้านต้องใช้วิธีซึ่งซ้ำเติมระบบนิเวศมากขึ้นในการพยายามจับสัตว์น้ำมาเลี้ยงครอบครัว เช่น การโรยยาเขย่ากุ้งกับปลาขึ้นมา
    • ผลกระทบต่อพันธุ์ไม้น้ำ มีพันธุ์ไม้น้ำอย่างสาหร่ายพุงชะโด และผักตบชวาเกิดขึ้นอย่างหนาแน่นในแม่น้ำจนปิดผิวน้ำ ทำให้แสงไม่สามารถส่องลงไปด้านล่าง ทำให้แพลงตอนพืชไม่เติบโต และพันธุ์ไม้น้ำบางชนิดเป็นตัวกลาง (host) ของพยาธิหลายชนิดที่ติดต่อสู่ และส่งผลต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ
    • ผลกระทบต่อทรัพยากรป่าไม้ เนื่องจากบริเวณที่ก่อสร้างเขื่อนมีป่าชายเลนขึ้นอยู่เป็นแนวแคบ ๆ เมื่อสร้างเขื่อนเสร็จทำให้ไม่มีน้ำไหลผ่าน ทำให้พื้นที่ดังกล่าวตื้นเขินจนสูญเสียพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้เกิดการชะล้างของดินง่ายขึ้นหลังมีการเปลี่ยนแปลงสภาพ
  • ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 จนกระทั้งถึงปีที่ศึกษา คือ พ.ศ. 2545 ก็ยังให้คำตอบไม่ได้ว่านานแค่ไหนเขื่อนแห่งนี้จะใช้งานได้อย่างคุ้มค่า และอาจจะสูญเสียงบประมาณอีกมากมายในการดูแล

การรับฟังปัญหา

แก้

หลังจากการเปิดใช้งานเขื่อนบางปะกงและมีผู้ได้รับผลกระทบข้างต้น กรมชลประทานจึงได้มีการศึกษาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อาทิ การซ่อมแซมตลิ่งช่วงที่เสียหาย การขุดลอกคูคลองสาขาต่าง ๆ ของแม่น้ำบางปะกง การจัดทำโครงการบำบัดน้ำก่อนปล่อยของผู้เลี้ยงสุกร[1]

นอกจากนี้ยังมีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ผ่านการจัดประชุม 3 ขั้นตอน[1] คือ

  1. สร้างความเข้าใจในการแก้ไขปัญหา ด้านของชลศาสตร์และระบบส่งน้ำ คุณภาพน้ำ อาชีพ และวิถีชีวิต ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ หัวหน้าส่วนราชการ และคณะกรรมการการจัดประชุม ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546
  2. สร้างความเข้าใจในการแก้ไขปัญหา เช่นเดียวกับครั้งแรก ให้กับผู้แทนภาคประชาชน ผู้แทนกลุ่มอาชีพ ผู้แทนสื่อมวลชน องค์กรอิสระเมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2546
  3. จัดทำการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบางประกง เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2546 และได้ประเด็นในการแก้ไขปัญหามา 4 ด้าน คือ การแก้ไขปัญหาด้านชลศาสตร์ ปัญหาคุณภาพน้ำ วิถีชุมชนและอาชีพของคนในลุ่มน้ำบางปะกง และการใช้เขื่อนบางปะกงให้เกิดประโยชน์

แนวทางแก้ไขปัญหา

แก้

จากการรับฟังความคิดเห็นข้างตน กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชนได้ทางออกเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาแต่ละด้าน 4 ด้าน[1] คือ

  1. การแก้ไขปัญหาด้านชลศาสตร์ ประชาชนร้อยละ 79 เห็นด้วยที่จะให้ดำเนินการควบคุมบังคับบานประตูระบายน้ำด้วยการหรี่บานประตู และชะลอน้ำเค็ม แทนที่การปิดแบบเต็มบาน เพื่อชะลอน้ำเค็มและใช้ประโยชน์จากน้ำจืดได้เต็มประสิทธิภาพ ปรับระดับน้ำให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด คือการควบคุมระดับน้ำท้ายเขื่อนให้อยู่ในระดับ +1 และ -1.05 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง[2] รวมถึงติดตั้งระบบโทรมาตรเพิ่มเพื่อติดตามระดับน้ำ ระดับความเค็ม และคุณภาพน้ำ และติดตั้งระบบตรวจระบบน้ำในพื้นที่เสี่ยงตลิ่งทรุดตัวและน้ำท่วม
  2. การแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำ ประชาชนร้อยละ 76 เห็นด้วยที่จะขยายทางระบายน้ำบนเขื่อนกั้นลำน้ำเดิม ขุดลอกลำน้ำเดิม และดำเนินการกำจัดผักตบฉวา พร้อมทั้งให้กรมปศุสัตว์กำกับการปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำของฟาร์มเลี้ยงหมู และกรมประมงส่งเสริมการเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบระบบปิด
  3. อาชีพและวิถีชีวิตลุ่มน้ำบางปะกง ประชาชนร้อยละ 76 เห็นด้วยให้สร้างแพสำหรับใช้แห่หลวงพ่อโสธรทางน้ำขึ้นไปถึงอำเภอบางคล้า และเห็นว่าการบริหารจัดการของเขื่อนไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อวิถีชีวิต
  4. การใช้เขื่อนบางปะกงให้เกิดประโยชน์ ประชาชน 74 เห็นด้วยว่าการบริหารจัดการตามแนวทางข้างต้นที่มีมติออกมาจะทำให้ใช้ประโยชน์จากเขื่อนบางปะกงได้

การแก้ไขปัญหา

แก้
 
เขื่อนบางปะกงขณะทำการบำรุงรักษาประตูระบายน้ำหลักในปี พ.ศ. 2556

หลังจากดำเนินการตามแนวทางแก้ไขปัญหาที่ได้ทำประชาพิจารณ์แล้วนั้น สามารถช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการหรี่บานประตูระบายน้ำให้ระดับน้ำอยู่ในจุดที่กำหนดใกล้เคียงกับธรรมชาติที่สุด ที่ทำควบคู่กับการบริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำที่อยู่เหนือเขื่อน ประกอบไปด้วย เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และอ่างเก็บน้ำอื่น ๆ รวมถึงข้อมูลจากระบบโทรมาตรในสถานีต่าง ๆ ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ข้อมูลจากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และข้อมูลทางอุทกวิทยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมการทำงานของบานประตูระบายน้ำแบบอัตโนมัติในการควบคุมระดับน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน[1]

ส่วนของปัญหาด้านระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม หลังจากการดำเนินการแก้ไขปัญหา พบว่าระบบนิเวศกลับมาดีขึ้น มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงขึ้นโดยเป็นระบบนิเวศในรูปแบบของน้ำกร่อย มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น พบแพลงตอนพืชที่อาศัยอยู่ในน้ำจืด รวมถึงค่าความเค็มกลับมาที่น้อยกว่า 1 ppt.[2] และใช้รูปแบบการหรี่ประตูในการควบคุมปริมาณน้ำจืดและน้ำเค็ม โดยไม่ได้ใช้งานตัวเขื่อนและประตูระบายน้ำอย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้น[7]

ระเบียงภาพ

แก้

หมายเหตุ

แก้
  1. ใช้คำว่าเขื่อนบางปะกงตามป้ายโครงการที่ตั้งอยู่บริเวณเขื่อนซึ่งเขียนว่า โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนบางปะกง

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 1.6 1.7 "โครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง จังหวัดฉะเฉิงเทรา". กรมชลประทาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2023.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 "เขื่อนบางประกง". sanumjun.go.th.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 กุลศิริ อรุณภาคย์. (2548). เขื่อนทดน้ำบางปะกง : ความล้มเหลวในการจัดการน้ำ. ดำรงวิชาการ, 4(2), 1–16
  4. "เขื่อนทดน้ำบางปะกง". thai.tourismthailand.org (ภาษาอังกฤษ).
  5. "กรมชลประทาน เร่งกำจัดผักตบเขื่อนทดน้ำบางปะกงอย่างต่อเนื่อง". bangkokbiznews. 27 พฤษภาคม 2022.
  6. "เปิดแผนรับมือน้ำเค็มรุกเร็ว ชลประทานที่ 9 ใช้เขื่อนทดน้ำบางปะกงป้องพื้นที่เกษตร-ประปาตะวันออก". mgronline.com. 12 ธันวาคม 2021.
  7. 7.0 7.1 "เตรียมปัดฝุ่นเขื่อนทดน้ำบางปะกง หลังบิ๊กป้อมลง พท. หนุนเพิ่มแหล่งน้ำ ตอ. - 77 ข่าวเด็ด". 17 มีนาคม 2022.
  8. "เขื่อนทดน้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา พร้อมที่เที่ยวที่พักใกล้เคียง". www.touronthai.com.
สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกงในปัจจุบัน
เหนือน้ำ
สะพานบางตลาด
 
เขื่อนบางปะกง
 
ท้ายน้ำ
สะพานทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก