เกาะนาแวสซา (อังกฤษ: Navassa Island) หรือ ลานาวาซ (ฝรั่งเศส: La Navase) เป็นเกาะร้างขนาดเล็กในทะเลแคริบเบียนอยู่ภายใต้การดูแลของสหรัฐผ่านองค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ (US Fish and Wildlife Service)[2] นอกจากนั้นเฮติได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะแห่งนี้เช่นเดียวกัน

เกาะนาแวสซา
เกาะนาแวสซา
เกาะนาแวสซา
เกาะนาแวสซาตั้งอยู่ในแคริบเบียน
เกาะนาแวสซา
เกาะนาแวสซา
ที่ตั้งของเกาะนาแวสซาในทะเลแคริบเบียน
พิกัด: 18°24′10″N 75°0′45″W / 18.40278°N 75.01250°W / 18.40278; -75.01250พิกัดภูมิศาสตร์: 18°24′10″N 75°0′45″W / 18.40278°N 75.01250°W / 18.40278; -75.01250
การปกครอง (พิพาท) สหรัฐ
สถานะดินแดนที่ยังไม่ได้จัดระเบียบและยังไม่มีเทศบาล
หน่วยงานเกาะเล็กรอบนอกของสหรัฐ
การปกครอง (พิพาท)ธงของประเทศเฮติ เฮติ
จังหวัดกร็องต็องส์
อ้างสิทธิ์โดยเฮติ
  • ค.ศ. 1697 (โดยปริยาย)
  • ค.ศ. 1874 (อย่างเป็นทางการ)
อ้างสิทธิ์โดยสหรัฐ19 กันยายน ค.ศ. 1857
การปกครอง
 • องค์กรเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติหมู่เกาะแคริบเบียน (ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐ)
 • หัวหน้าหน่วยงานซูซาน ไซแลนเดอร์[1]
พื้นที่
 • ทั้งหมด2.1 ตร.ไมล์ (5.4 ตร.กม.)
 • พื้นน้ำ0 ตร.ไมล์ (0 ตร.กม.)
ความสูงจุดสูงสุด85 ฟุต (26 เมตร)
ความสูงจุดต่ำสุด0 ฟุต (0 เมตร)
ประชากร
0 คน
เขตเวลาUTC-5 (เขตเวลาตะวันออก)
รหัสไปรษณีย์96898

ลักษณะทางภูมิศาสตร์และภูมิประเทศ แก้

 
เกาะนาแวสซา มีชายฝั่งหน้าผาหินสูงชันรอบเกาะ

เกาะนาแวสซามีขนาดประมาณ 2 ตารางไมล์ (5.2 ตารางกิโลเมตร) โดยเกาะตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ห่างจากฐานทัพเรือสหรัฐอเมริกาที่อ่าวกวนตานาโม ในคิวบาประมาณ 100 กิโลเมตรหรือ 90 ไมล์ทะเล ซึ่งคิดเป็นหนึ่งในสี่ของระยะทางจากจาเมกาไปยังเฮติ โดยจุดที่สูงที่สุดสูงประมาณ 77 เมตรอยู่ห่างจากประภาคารนาแวสซาไอแลนด์ไลต์ (Navassa Island Light) ไปทางใต้ประมาณ 100 เมตร[3]

ลักษณะภูมิประเทศของเกาะนาแวสซาส่วนใหญ่แล้วจะประกอบไปด้วยหินปูนและยอดของแนวปะการังที่โผล่พ้นน้ำ โดยชายฝั่งของเกาะเป็นหน้าผาสูง 15 เมตร แต่บนเกาะเองก็มีทุ่งหญ้าที่ใหญ่พอที่จะให้ฝูงแพะมาอาศัยอยู่ได้ นอกจากนี้บนเกาะยังมีต้นไม้ตระกูลมะเดื่อและกระบองเพชรขึ้นกระจายอยู่ทั่วไป โดยทั่วไปแล้วลักษณะภูมิประเทศและนิเวศวิทยาของเกาะนาแวสซาคล้ายคลึงกับเกาะโมนา ซึ่งเป็นเกาะหินปูนขนาดเล็กอยู่ในช่องแคบโมนาที่ตั้งอยู่ระหว่างเฮติกับสาธารณรัฐโดมินิกัน นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ของทั้งสองเกาะนี้ยังคล้ายคลึงกันมากอีกด้วย กล่าวคือ ทั้งสองเกาะเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกา เคยผ่านการทำเหมืองกัวโนมาแล้ว และปัจจุบันนี้ได้ถูกประกาศให้เป็นเขตคุ้มครองธรรมชาติเหมือนกัน นอกจากชาวประมงเฮติและคนอื่น ๆ ที่มักแวะเวียนมาพักบนเกาะนี้ เกาะนาแวสซาไม่มีผู้คนอาศัยอยู่แต่อย่างใด ดังนั้นบนเกาะจึงไม่มีท่าเรืออยู่เลย ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเดียวของเกาะ คือ ปุ๋ยขี้นก (guano) ที่นิยมมาใช้ทำปุ๋ย กิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ ประกอบไปด้วยการประมงขนาดเล็กและการลากอวนเชิงพาณิชย์เท่านั้น

ประวัติ แก้

ในปี ค.ศ. 1504 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ซึ่งในขณะนั้นติดอยู่บนเกาะจาเมกา ได้ส่งลูกเรือไปยังเกาะฮิสปันโยลาเพื่อขอความช่วยเหลือ ระหว่างทางพวกเขาพบเกาะขนาดเล็ก และเมื่อทำการสำรวจก็พบว่าไม่มีน้ำจืดบนเกาะเลย ดังนั้นลูกเรือจึงขนานนามให้เกาะว่า "นาบาซา" (Navaza) มาจากคำว่า "นาบา" (nava ) ซึ่งในภาษาสเปนแปลว่าที่ราบ ไม่มีต้นไม้ใหญ่ หลังจากนั้นเกาะแห่งนี้ก็ถูกหลีกเลี่ยงโดยชาวเรือต่อมาอีกกว่า 350 ปี

แม้ว่าทางการเฮติจะได้อ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะแห่งนี้มาก่อนแล้ว แต่เกาะนาแวสซาก็ถูกสหรัฐอเมริกาอ้างสิทธิ์ในปี ค.ศ. 1857 โดยปีเตอร์ ดังกัน (Peter Duncan) กัปตันเดินเรือชาวอเมริกัน และกลายเป็นเกาะแห่งที่สามที่ถูกสหรัฐอเมริกาอเมริกาเข้าครอบครองภายใต้รัฐบัญญัติกลุ่มเกาะปุ๋ยขี้นก (Guano Islands Act) ที่ถูกประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1856 โดยสาเหตุที่อเมริกาเข้าครอบครองเกาะแห่งนี้ก็เป็นเพราะความอุดมสมบูรณ์ของปุ๋ยขี้นกนั่นเอง หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาก็ขุดปุ๋ยขี้นกไปตั้งแต่ปี ค.ศ. 1865 ถึง ค.ศ. 1898 แม้ว่าเฮติจะคัดค้านการผนวกดินแดนของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ แต่สหรัฐอเมริกาก็ปฏิเสธการอ้างสิทธิ์ของเฮติมาตลอด และในปี ค.ศ. 1857 ก็ครอบครองเกาะแห่งนี้ในฐานะดินแดนที่ถูกผนวกโดยสหรัฐอเมริกา แต่ไม่ถูกรวมเข้ากับรัฐใดรัฐหนึ่ง และไม่มีรัฐบาลท้องถิ่นคอยปกครอง (unincorporated unorganized territory)[2]

ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ปุ๋ยขี้นกฟอสเฟตเป็นเป็นปุ๋ยที่การเกษตรของอเมริกาใช้เป็นหลัก ดังกันได้โอนย้ายกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้ค้นพบไปยังนายจ้าง ซึ่งเป็นพ่อค้าปุ๋ยขี้นกชาวอเมริกันในจาเมกา ซึ่งได้ขายต่อให้กับบริษัทที่เพิ่งก่อตั้งนามว่า บริษัทฟอสเฟตนาแวสซา (Navassa Phospate Company) ในบอลทิมอร์ ภายหลังสงครามกลางเมืองอเมริกา บริษัทได้สร้างเหมืองที่มีขนาดใหญ่ขึ้นซึ่งประกอบไปด้วยค่ายสำหรับจุคนงานผิวดำจากรัฐแมริแลนด์จำนวน 140 คน บ้านสำหรับหัวหน้างานผิวขาว ร้านช่างเหล็ก คลัง และโบสถ์ 1 หลัง[4] การทำเหมืองเริ่มขึนในปี ค.ศ. 1865 โดยคนงานจะขุดปุ๋ยขี้นกโดยใช้ระเบิดและพลั่วเจาะ (pickaxe) จากนั้นจะลำเลียงโดยรถรางไปยังอ่าวลูลู (Lulu) เพื่อลำเลียงปุ๋ยขี้นกลงเรือของบริษัทนามว่า เอสเอส โรแมนซ์ (SS Romance) ต่อไป โดยบริเวณที่พักอาศัยในอ่าวลูลูถูกเรียกว่า ลูลูทาวน์ ซึงเป็นเมืองที่เคยปรากฏอยู่ในแผนที่ในสมัยนั้น ต่อมาได้มีการขยายรางให้เข้าไปในเกาะมากยิ่งขึ้น

เนื่องจากการขนส่งปุ๋ยขี้นกเป็นงานที่ใช้แรงคนเพียงอย่างเดียว และยังเป็นการทำงานภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ร้อนจัด ประกอบกับสภาวะแวดล้อมโดยทั่วไปของเกาะก็ไม่อำนวยต่อการอยู่อาศัย ทำให้ในที่สุดคนงานได้ก่อการจราจลบนเกาะในปี ค.ศ. 1889 ส่งผลให้มีหัวหน้างานเสียชีวิตไป 5 คน ภายหลังการจลาจลเรือรบของสหรัฐอเมริกาได้ขนส่งคนงาน 18 คนกลับไปยังบอลทิมอร์เพื่อขึ้นศาลในข้อหาฆาตกรรมใน 3 คดี โดยสมาคมลับชาวผิวดำนามว่า The Order of Galilean Fisherman ได้ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือคนงานในการต่อสู้คดีในชั้นศาล โดยแก้ต่างว่าคนงานได้กระทำลงไปเพื่อเป็นการป้องกันตนเองหรือเกิดจากการบันดาลโทสะ และยังได้โต้แย้งว่าสหรัฐอเมริกาไม่มีอำนาจตุลาการที่เหมาะสมในการตัดสินคดีความใด ๆ ที่เกิดขึ้นบนเกาะ[5][6] ท้ายที่สุดแล้วคดีก็ได้ไปถึงชั้นศาลสูงสุดในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 1890 ซึ่งศาลมีคำตัดสินว่ารัฐบัญญัติกลุ่มเกาะปุ๋ยขี้นกนั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ และให้ประหารชีวิตคนงานเหมือง 3 คนในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1891 ภายหลังการตัดสินของศาล ได้มีการยื่นฎีกาโดยโบสถ์ชาวผิวดำทั่วประเทศและลูกขุนผิวขาวสามคนจากทั้งสามคดี ไปยังประธานาธิบดีเบนจามิน แฮร์ริสัน ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงคำตัดสินให้เหลือเพียงการจำคุกในที่สุด

หลังจากนั้นก็ได้มีการทำเหมืองปุ๋ยขี้นกบนเกาะนาแวสซาอีกครั้ง แต่ในขนาดที่เล็กลงมาก สงครามระหว่างสเปนกับสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1898 ส่งผลให้บริษัทต้องอพยพคนออกจากเกาะและเข้าสู่ภาวะล้มละลายในที่สุด เจ้าของใหม่ของเกาะตัดสินใจที่จะคืนเกาะให้กลับคืนสู่ธรรมชาติในปี ค.ศ. 1901

เกาะนาแวสซากลับมามีความสำคัญอีกครั้งภายหลังการเปิดคลองปานามาในปี ค.ศ. 1904 ซึ่งส่งผลให้การเดินเรือระหว่างชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกากับคลองปานามาต้องผ่านช่องแคบเวสต์เวิร์ด (Westward Passage) ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างคิวบากับเฮติ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีประภาคารบนเกาะนาแวสซา ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการเดินเรือผ่านช่องแคบแห่งนี้ ในที่สุดสำนักงานประภาคารแห่งสหรัฐ (US Lighthouse Service) ก็ได้สร้างประภาคารนาแวสซาไอแลนด์ไลต์ สูง 162 ฟุต (46 เมตร) ขึ้นบนเกาะในปี ค.ศ. 1917 ที่ระดับความสูง 395 ฟุตหรือ 120 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยมีผู้ดูแลและผู้ช่วยสองคนคอยทำหน้าที่ดูแลรักษาอยู่บนเกาะ จนกระทั่งได้มีการติตตั้งอุปกรณ์อัตโนมัติให้กับประภาคารในปี ค.ศ. 1929 จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีผู้ดูแลประภาคารคอยประจำอยู่บนเกาะ และภายหลังจากที่สำนักงานประภาคารถูกยุบรวมเข้ากับหน่วยป้องกันชายฝั่งแห่งสหรัฐ (US Coast Guard) หน่วยป้องกันชายฝั่งจึงกลายเป็นหน่วยงานที่คอยดูแลซ่อมแซมประภาคารแห่งนี้ โดยมีการตรวจสภาพปีละสองครั้ง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งหน่วยสังเกตการณ์บนเกาะ และหลังจากสิ้นสุดสงคราม กองทัพเรือได้ถอนกำลังออกไป และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันก็ไม่มีผู้อาศัยอยู่บนเกาะ ในปี ค.ศ. 1930 ได้มีการสำรวจทางวิทยาศาสตร์โดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อศึกษาชีวิตบนเกาะและในทะเลโดยรอบ

ในช่วงปี ค.ศ. 1903 ถึง 1917 เกาะแห่งนี้เป็นดินแดนที่ขึ้นอยู่กับฐานทัพเรือของสหรัฐอเมริกาในอ่าวกวนตานาโม และในช่วง ค.ศ. 1917 ถึง ค.ศ. 1996 เกาะได้ถูกโอนมาให้หน่วยป้องกันชายฝั่งเป็นผู้ดูแล ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 1996 เกาะได้รับการดูแลโดยกระทรวงกิจการภายในของสหรัฐอเมริกา โดยในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1996 หน่วยป้องกันชายฝั่งได้รื้อประภาคารออกเพื่อโอนการดูแลไปยังกระทรวงกิจการภายใน[7]

ภายหลังจากการสำรวจทางวิทยาศาสตร์โดยศูนย์อนุรักษ์ทางทะเล (Center of Marine Conservation) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เกาะนาแวสซาได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลแคริบเบียน ส่งผลให้ในวันที่ 3 ธันวาคม ค.ศ. 1999 องค์การบริหารปลาและสัตว์ป่าแห่งสหรัฐได้เข้าควบคุมดูแลเกาะแห่งนี้[7][8] และได้กลายเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในที่สุด

อ้างอิง แก้

  1. Region, U. S. Fish and Wildlife Service Southeast (2011-12-03), Susan Silander, Project Leader for the Caribbean Islands NWR Complex, สืบค้นเมื่อ 2022-12-08
  2. 2.0 2.1 "GAO/OGC-98-5 - U.S. Insular Areas: Application of the U.S. Constitution". U.S. Government Printing Office. November 7, 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ September 27, 2013. สืบค้นเมื่อ March 23, 2013.
  3. Steven Latta; Christopher Rimmer; และคณะ (23 April 2010). Birds of the Dominican Republic and Haiti. Princeton University Press. pp. 9–. ISBN 1-4008-3410-4.
  4. Brennen Jensen (March 21, 2001). "Poop Dreams". Baltimore City Paper. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 25, 2012. สืบค้นเมื่อ November 16, 2012.
  5. https://www.gutenberg.org/cache/epub/5030/pg5030.txt
  6. John Pike. "Navassa Island Incident 1889-1891". GlobalSecurity.org. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 2, 2012. สืบค้นเมื่อ November 16, 2012.
  7. 7.0 7.1 "Navassa Island". Washington, D.C.: U.S. Department of the Interior. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ August 15, 2016. สืบค้นเมื่อ March 3, 2018.
  8. US Geological Survey (August 2000). "Navassa Island: A Photographic Tour (1998–1999)". US Geological Survey. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ November 19, 2012. สืบค้นเมื่อ November 18, 2012.