อาสนวิหารมากง (ฝรั่งเศส: Cathédrale de Mâcon) เรียกชื่อเต็มว่า อาสนวิหารนักบุญบิเซนเตแห่งมากง (Cathédrale Saint-Vincent de Mâcon) ในอดีตมีฐานะเป็นอาสนวิหารนิกายโรมันคาทอลิกประจำมุขมณฑลมากงซึ่งต่อมาได้ถูกยุบลงเป็นส่วนหนึ่งของมุขมณฑลโอเติงตั้งแต่ปี ค.ศ. 1801 (ตามความตกลง ค.ศ. 1801) ตั้งอยู่ที่เมืองมากง จังหวัดโซเนลัวร์ แคว้นบูร์กอญ-ฟร็องช์-กงเต ประเทศฝรั่งเศส สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่นักบุญบิเซนเตแห่งอูเอสกา

อาสนวิหารนักบุญบิเซนเตแห่งมากง
อาสนวิหารส่วนที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน
แผนที่
46°18′23″N 4°50′08″E / 46.30639°N 4.83556°E / 46.30639; 4.83556
ที่ตั้งมากง จังหวัดโซเนลัวร์
ประเทศ ประเทศฝรั่งเศส
นิกายโรมันคาทอลิก
สถานะอาสนวิหาร
(จนกระทั่งรื้อในปี ค.ศ. 1799)
ประเภทสถาปัตย์กางเขน
รูปแบบสถาปัตย์โรมาเนสก์
กอทิก
แล้วเสร็จคริสต์ศตวรรษที่ 14
รื้อถอนเมื่อค.ศ. 1799
(ปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง)
อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์
(ค.ศ. 1862)

อาสนวิหารประกอบด้วยสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นผสมผสานของทั้งสองแบบ คือโรมาเนสก์และกอทิก ซึ่งต่อมาได้ถูกทำลายลงเนื่องจากเหตุผลเรื่องความไม่ปลอดภัยทางโครงสร้างในปี ค.ศ. 1799 เหลือเพียงบริเวณโถงทางเข้าโบสถ์คริสต์กับหอทั้งสองจนถึงปัจจุบัน บริเวณกลางโบสถ์แบบกอทิกและบริเวณร้องเพลงสวดนั้นไม่เหลือให้เห็นในปัจจุบัน

ในปัจจุบันนิยมเรียกอาสนวิหารหลังนี้ว่า "อาสนวิหารนักบุญบิเซนเตหลังเก่า" (Vieux Saint-Vincent) เนื่องในปัจจุบันเป็นเพียงโบราณสถานและพิพิธภัณฑสถาน การเพิ่มคำว่า "เก่า" มีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้สับสนกันกับอาสนวิหารที่สร้างขึ้นมาแทนซึ่งสร้างในปี ค.ศ. 1808 โดยใช้ชื่อเดียวกันว่า "อาสนวิหารนักบุญบิเซนเตแห่งมากง"

อาสนวิหารแห่งนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์เมื่อปี ค.ศ. 1862[1]

สถาปัตยกรรม แก้

 
มองจากบริเวณที่เคยเป็นด้านในของวิหาร ยอดหอฝั่งทิศเหนือ (ซ้ายมือ) เคยมีหลังคาแบบยอดแหลม

บริเวณที่เก่าที่สุดของอาสนวิหารคือส่วนบริเวณหน้าบันทางเข้าหลักทิศตะวันตก ซึ่งประกอบด้วยหอสูงทรงแปดเหลี่ยมทั้งสองหอและบริเวณกลางโบสถ์เพียงแค่ช่วงเสาเดียวเท่านั้น สันนิษฐานว่าสร้างในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 11 ในขณะที่ส่วนทิศตะวันออกนั้นเป็นสถาปัตยกรรมแบบกอทิกในคริสต์ศตวรรษที่ 14

หอระฆังซึ่งถูกทำลายในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส เคยตั้งอยู่บนยอดบนสุดของหอฝั่งทิศใต้ ส่วนฝั่งทิศเหนือเคยเป็นยอดแหลมก็ถูกทำลายลงเช่นกัน บริเวณระหว่างหอทั้งสอง เหนือหน้าบันบริเวณมุขทางเข้าเป็นที่ตั้งของชาเปลชั้นบน ซึ่งมุงด้วยเพดานโค้งแบบประทุนสัน (barrel vault) มีชื่อเรียกว่า "ชาเปลนักบุญมารีย์แห่งประตู" (Sainte-Marie de la Porte) ซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยบันไดวนด้านในของหอทิศใต้ ผนังเก่าบริเวณหน้าบันนี้ตกแต่งด้วยแถบช่องหน้าต่างโค้งและตันแบบลอมบาร์ด ซึ่งยังอยู่ในสภาพดีโดยเฉพาะด้านบน

บริเวณโถงทางเข้าโบสถ์คริสต์ ด้านในจะพบองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่เด่นชัดของทั้งยุคกอทิกและโรมาเนสก์ ประกอบด้วยเพดานโค้งแบบประทุนจำนวนสามช่วงต้น ตามด้วยเพดานโค้งแบบโค้งสัน (rib vault) ตรงกลาง และเพดานโค้งแบบโค้งประทุนซ้อน (groin vault) บริเวณด้านข้างซึ่งรองรับด้วยเสาขนาดใหญ่ ประตูทางเข้าใหญ่ขนาบด้วยช่องโค้งครึ่งวงกลมซ้อน 3 ชั้นเล่นระดับ รับกับหัวเสาและเสากลม ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญของสถาปัตยกรรมโรมาเนสก์

หน้าบันเก่าทรงครึ่งวงกลมที่พบด้านในวิหารเป็นงานนูนต่ำบอกเล่าเรื่องราวของการพิพากษาครั้งสุดท้าย แบ่งเป็นรายละเอียดทั้งหมดถึง 5 ชั้น

ซุ้มประตูใหญ่เป็นแบบกอทิกวิจิตรในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 15 ยังพบการใช้ครีบยันเพื่อรับน้ำหนักและป้องกันการแยกตัวระหว่างโถงทางเข้าโบสถ์คริสต์กับหน้าบันยุคเก่า การขยายส่วนของวิหารมีผลทำให้พื้นดินมีการทรุดตัวลง จึงมีการติดตั้งบันไดทางเข้าจำนวน 2 ขั้น เพื่อเข้าสู่ภายในวิหารที่สูงขึ้นกว่าด้านนอกถึง 2 เมตร มีการเพิ่มบริเวณยอดหน้าบันประตูเข้ามาในปี ค.ศ. 1857

 
แบบจำลองอาสนวิหาร จะสังเกตได้ว่าส่วนที่อยู่สูงกว่านั้น (สถาปัตยกรรมกอทิก) ถูกรื้อจนหมดสิ้น

อ้างอิง แก้

  1. [1] Base Mérimée - กระทรวงวัฒนธรรมแห่งฝรั่งเศส

บรรณานุกรม แก้

  • (ฝรั่งเศส) Jean-François Garmier, Le Vieux Saint-Vincent, Mâcon, 1988. Seule description acceptable disponible.
  • (อังกฤษ) Leslie Joan Cavell, Social and Symbolic Functions of the Romanesque Facade: the Example of Mâcon's Last Judgment Galillee, PhD, University of Michigan, 1997. Thèse américaine inédite, un exemplaire disponible à la bibliothèque des Archives Départementales de Saône-et-Loire.
  • (ฝรั่งเศส) Alain Guerreau et Isabelle Vernus, premiers éléments de chronologie de la construction de la cathédrale, dans Pierre Goujon (éd.), Histoire de Mâcon, Toulouse, 2000, notamment pp. 47-49, 64-68, 86-87, 99-100.
  • (ฝรั่งเศส) Marcel Angheben, L'iconographie du portail de l'ancienne cathédrale de Mâcon : une vision synchronique du jugement individuel et du jugement dernier, Les Cahiers de Saint-Michel de Cuxa, XXXII-2001, pp. 73-87.