อารีย์ ลีวีระ (พ.ศ. 2456 – 9 มีนาคม พ.ศ. 2496) เป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ชาวไทย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริษัทไทยพาณิชย์ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ สยามนิกร และ พิมพ์ไทย และดำรงตำแหน่งนายกสมาคมหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย 2 สมัย ระหว่าง พ.ศ. 2491–2494

อารีย์ ลีวีระ
เกิดพ.ศ. 2456
เสียชีวิต9 มีนาคม พ.ศ. 2496 (40 ปี)
บ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
อาชีพนักเขียน, นักหนังสือพิมพ์, นักแปล
คู่สมรสกานดา บุญรัตน์

ประวัติ แก้

อารีย์ ลีวีระ จบการศึกษาอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเอ้หมึงแห่งชาติ (National University of Amoy) ประเทศจีน และสอนภาษาจีนที่โรงเรียนเผยอิง และโรงเรียนฮั่วเฉียว[1] ใช้เวลาว่างเขียนบทความ ข่าว และสารคดีให้แก่หนังสือพิมพ์จีนหลายฉบับ แล้วเริ่มเป็นนักข่าวประจำหนังสือพิมพ์ หมินก๊กยิเป้า และ จงฮัวหมินเป้า[1] และร่วมกับเพื่อนออกหนังสือพิมพ์จีนชื่อ เสียนจิงสีเป้า แต่ทำได้ไม่นานก็เลิกกิจการ

งานการเมือง แก้

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อารีย์ ลีวีระ ร่วมกับญาติ เข้าซื้อกิจการบริษัทไทยพาณิชย์ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ สยามครอนิเคิล (Siam Chronicle), สยามนิกร, ไทยเสรี, และ สตรีไทย จากพระยาปรีชานุสาสน์ (เดิมคือ บริษัท สยามพาณิชยการ) แต่กิจการไม่ดีต้องยุบเลิกเหลือเพียงฉบับเดียวคือ สยามนิกร และได้ออกหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ คือ พิมพ์ไทย เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2489[1] มีนโยบายมุ่งเน้นให้เสนอข่าวอย่างอิสระ ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง

 
พาดหัว สยามนิกร ข่าวเบื้องหลังการเสียชีวิตของอารีย์

อารีย์ถูกจับกุมพร้อมกับนักหนังสือพิมพ์อีกหลายคนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 เนื่องในคดีกบฏสันติภาพ และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496[2] หลังได้รับอิสรภาพ อารีย์ เข้าพิธีมงคลสมรสกับคนรัก คือ นางสาวกานดา บุญรัตน์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 และเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ชายทะเลบ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

การเสียชีวิต แก้

วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2496 อารีย์ ลีวีระ ถูกปืนยิงเสียชีวิตที่เรือนพัก ณ บ้านหนองแก อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ยิงเป็นตำรวจยศสิบโท 1 นาย และพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ พ.ต.ท. ศิริชัย กระจ่างวงศ์ หนึ่งในตำรวจอัศวินแหวนเพชรลูกน้อง พล.ต.อ. เผ่า ศรียานนท์[3] การสอบสวนใช้เวลากว่าครึ่งปี ที่สุดแล้วพนักงานสอบสวนลงความเห็นว่า หลักฐานไม่พอฟ้องตำรวจทั้ง 5 นาย และพนักงานอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง[4]

อารีย์ และกานดา ลีวีระ มีบุตรสาวคนเดียว ชื่อ พลตรีหญิง แพทย์หญิง อารียา ลีวีระ (เทพชาตรี) จบแพทยศาสตรบัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล[5]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 อารีย์ ลีวีระ คนหนังสือพิมพ์ตายเพื่อหน้าที่ได้ แต่เสรีภาพหนังสือพิมพ์ต้องไม่ตาย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  2. "คดีความนักหนังสือพิมพ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-28. สืบค้นเมื่อ 2008-05-19.
  3. ประสมศักดิ์ ทวีชาติ (ป.ทวีชาติ). รัฐตำรวจยุคอัศวินผยอง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์วันชนะ, พ.ศ. 2545. 304 หน้า. หน้า หน้าที่[ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]. ISBN 974-90614-5-4
  4. สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8/2496 วันพฤหัสบดีที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2496 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม. กรุงเทพฯ : เสนาการพิมพ์, 2496. หน้า 466.
  5. ประกาศ วัชราภรณ์ทำเนียบคนหนังสือพิมพ์. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ดอกหญ้า (พิมพ์ครั้งแรกโดย ไทยวัฒนาพานิช พ.ศ. 2506), 2533. 462 หน้า. ISBN 974-601-275-4