อวัธ
อวัธ (Awadh; ฮินดี: अवध, อูรดู: اودھ) หรืออูธเป็นแคว้นที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางตอนเหนือของอินเดียตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำระหว่างแม่น้ำยมุนาทางตะวันตกเฉียงใต้และแม่น้ำคันทักทางตะวันออก คำว่าอวัธมาจากอโยธยาเป็นชื่อเมืองของพระราม อังกฤษเข้ามายึดแคว้นนี้ไปทีละส่วนใน พ.ศ. 2344 และยึดได้ทั้งหมดใน พ.ศ. 2399 พร้อมทั้งตั้งชื่อแคว้นนี้ใหม่ว่าแคว้นอูธ ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของรัฐอุตตรประเทศ
ประวัติศาสตร์
แก้แคว้นอวัธนี้ปรากฏชื่อในรามายณะ ส่วนในนิทานชาดกทางพุทธศาสนาเรียกแคว้นนี้ว่าแคว้นโกศล และยังคงดำรงสถานะแคว้นต่อมาจนถึงสมัยราชวงศ์โมกุล ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาฮินดูและพูดภาษาฮินดี แคว้นอวัธแยกตัวออกมาจากจักรวรรดิโมกุลเมื่อจักรวรรดิอ่อนแอลง และปกครองโดยข้าหลวงที่เป็นมุสลิมเรียกว่านาวาบ เมืองหลวงอยู่ที่ไฟซาบาด ต่อมาย้ายไปเมืองลักเนา แม้ว่าจะถูกบริษัทอีสต์อินเดียรุกรานเมื่อ พ.ศ. 2319 แต่อวัธก็ยังรักษาสิทธิขาดในการปกครองของตนไว้ได้จนถึง พ.ศ. 2399
ตั้งแต่ พ.ศ. 2344 เป็นต้นมา อวัธเสียดินแดนให้อังกฤษไปกว่าครึ่ง ถูกปิดล้อมด้วยดินแดนของอังกฤษ นาวาบและราชสำนักไม่มีกองกำลังป้องกันตนเองอีกต่อไป อังกฤษเข้ามายึดดินแดนส่วนที่เหลือใน พ.ศ. 2399 ทำให้ชาวอวัธไม่พอใจ และเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดกบฏซีปอยใน พ.ศ. 2400 – 2401 เมืองลักเนาเสียหายอย่างมาก หลังจากนั้น อังกฤษจึงเปลี่ยนชื่ออวัธเป็นแคว้นอูด
อ้างอิง
แก้- ศรีสุรางค์ พูลทรัพย์. อวัธ ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 312 - 313