อภิเดช ศิษย์หิรัญ

อภิเดช ศิษย์หิรัญ (ชื่อเล่น: ตังค์; 1 กันยายน พ.ศ. 24844 เมษายน พ.ศ. 2556) เป็นนักมวยไทยคนเดียวที่มีลูกเตะเป็นอาวุธสำคัญสามารถชงเท้าเข้าก้านคอคู่ต่อสู้แล้วไล่ลงมาถึงขาพับ 3 จังหวะด้วยความรวดเร็ว โดยเฉพาะแข้งขวา จนได้รับฉายา "จอมเตะแห่งบางนกแขวก"[1]

อภิเดช ศิษย์หิรัญ
เกิดณรงค์ ทรงมณี[1]
1 กันยายน พ.ศ. 2484 [2]

วัยเด็ก

แก้

อภิเดช ศิษย์หิรัญ มีชื่อจริงคือ ณรงค์ ทรงมณี เป็นบุตรของนายพยอม ญาณประทีป (พ่อเลี้ยง) กับนางเสงี่ยม ทรงมณี (แม่จริง) มีอาชีพทำสวนมะพร้าว เกิดที่ตำบลบางนกแขวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เหนือวัดเจริญสุขารามขึ้นไปเล็กน้อย

ชีวิตในวัยเด็ก อภิเดชเป็นคนที่เรียนหนังสือไม่ค่อยเก่งแต่มีความสามารถเล่นกีฬาได้ดีแทบทุกชนิดโดยเฉพาะ ฟุตบอล ตะกร้อ กระโดดสูง ค้ำถ่อ และวิ่งจนเป็นนักกีฬาคนเก่งของโรงเรียนวัดเจริญสุขารามวรวิหาร ไปแข่งที่ไหนจะต้องคว้าชัยชนะมาอวดทางบ้าน และเพื่อนนักเรียนเสมอไม่ชอบเที่ยวเตร่เหมือนวัยรุ่นคนอื่น

เมื่อ ศึกษาระดับประถมศึกษาขณะศึกษาระดับมัธยมศึกษาอยู่ที่โรงเรียนเมธีชุณหะวัณวิทยาลัย ในชั้น ม.2 ได้พบกับครูพละคนแรกคือ ครูสุพร วงศาโรจน์ ซึ่งมองเห็นหน่วยก้านเข้าทีดีจึงเริ่มสอนวิชากระบี่กระบอง พลอง และไม้สั้นให้ ต่อมาก็สอนแม่ไม้มวยไทย เมื่อเห็นว่าเป็นผู้มีความสนใจ

ขึ้นชกมวยไทย

แก้

อภิเดชซ้อมมวยอยู่เสมอ 3-4 เดือนต่อมา ก็ไปเปรียบมวยครั้งแรกที่อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี เป็นมวยประกอบรายการ และสามารถคว้าชัยชนะมาได้ โดยค่าตัวในการชกครั้งแรกของเขาอยู่ที่ 30 บาท หลังจากนั้นไม่ว่าจะมีงานวัด หรืองานวิก อภิเดชจะต้องขึ้นเวทีด้วยทุกครั้งจนวันหนึ่งที่จังหวัดราชบุรี นายเกษม เอี่ยมภิญโญผู้จัดรายการมวยกรุงเทพฯมาพบเข้าชอบใจในลีลาการต่อสู้จึงชวนไปชกมวยที่กรุงเทพฯโดยใช้ชื่อว่า "อภิเดช ลูกพรชัย"[1]

เข้ากรุง

แก้

เมื่อขึ้นชกในกรุงเทพฯ ได้รับชัยชนะตลอดมาอภิเดชแพ้ครั้งแรกเมื่อชกกับ "โกมารเดช" โดยแพ้น็อค ในยกที่สองเพราะต่างคนต่างสับศอกเข้าใส่กันท่ามกลางเสียงเชียร์ที่ดังกระหึ่มทั้งสนาม ผลปรากฏว่า โกมารเดชกระเด็นตัวลอยไปติดเชือก ส่วนอภิเดชโดนเข้าแสกคาง กระเด็นหัวน๊อคพื้น และแพ้น๊อคอีกครั้งให้สินชัย แต่สามารถล้มสินชัยได้อย่างสอนมวยในเวลาต่อมา

อภิเดชเปลี่ยนมาใช้ชื่อ "อภิเดช ศิษย์หิรัญ" เมื่อ ครูสุพร วงศาโรจน์ พาไปฝากเป็นศิษย์ที่ค่ายมวย "ศิษย์หิรัญ" ของครูเกษม และ คุณองุ่น เอี่ยมภิญโญ ระยะนั้นชื่อ "อภิเดช" เป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ พ.ศ. 2502 - 2506 เป็นช่วงที่อภิเดชโด่งดังในเชิงมวยไทย ชกชนะคู่ชกชั้นดีหลายคน เช่น บุกเดี่ยว ยนตรกิจ แดนชัย ยนตรกิจ เขียวหวาน ยนตรกิจ ราวี เดชาชัย เดชฤทธิ์ อิทธิอนุชิต ได้ครองแชมป์มวยไทยรุ่นเวลเตอร์เวททั้งเวทีลุมพินีและเวทีราชดำเนิน โดยเฉพาะกับเดชฤทธิ์นั้น ทั้งคู่เปรียบเหมือนเป็นคู่รักคู่แค้นกัน โดยชกกันมากถึง 12 ครั้ง ในห้วงเวลานาน 7 ปี (พ.ศ. 2506 - 2513) โดยอภิเดชเป็นฝ่ายชนะไปถึง 6 ครั้ง และแพ้ 4 ครั้ง และอีกหนึ่งครั้งเป็นมวยสากล และก็เป็นอภิเดชที่เป็นฝ่ายชนะน็อคไปในยกที่ 7[3] ด้านความรุนแรงในการเตะ อภิเดชซึ่งเคยพบกับสมพงษ์ เจริญเมือง ได้เป็นฝ่ายเตะสมพงษ์ที่ตั้งศอกรับจนแขนร่วงมาแล้วครั้งหนึ่ง[4]

ภาพยนตร์

แก้

ช่วง พ.ศ. 2506-2508 อภิเดชมีส่วนร่วมในบทเล็ก ๆ ในภาพยนตร์จอใหญ่ที่ไม่โดดเด่นนัก แต่ใน พ.ศ. 2508 ได้รับบทสำคัญในภาพยนตร์เรื่อง ยอดมวยสยาม โดยแสดงคู่กับโขมพัสตร์ อรรถยา และมีดวงดาว จารุจินดา กับสายัณห์ จันทรวิบูลย์ เป็นนักแสดงนำ[2]

ชกมวยสากล

แก้

หลังจากนั้น อภิเดช ศิษย์หิรัญได้หันไปชกมวยสากลในรุ่นเวลเตอร์เวท ชิงแชมป์มวยสากลทั้งเวทีราชดำเนินและลุมพินีเป็นผลสำเร็จทั้ง 2 เวที และได้ขึ้นชกกับนักมวยต่างชาติ เอลิลิโอ อรันดาได้รับชัยชนะในยกแรกเป็นแชมป์สหพันธ์มวยภาคตะวันออกไกลและแปซิฟิก (OPBF) อภิเดชขึ้นชกกับนักมวยสากลระดับรองแชมป์โลก เพื่อลุ้นเข้าอันดับโลกแต่ไม่สำเร็จ พ.ศ. 2508 แพ้คะแนน ฟอร์ตูนาโต้ มันกา (อิตาลี) จากนั้นขึ้นชกป้องแชมป์ OPBF ชนะคะแนน คูโบ อูร่า จึงได้เข้าอันดับโลกเป็นรองแชมป์โลกอันดับ 10 ของสมาคมมวยโลก (WBA) แต่หลุดจากอันดับเมื่อแพ้คะแนน วาเลอริโอ นูเนซ (อาร์เจนตินา) เมื่อ พ.ศ. 2509

ยุคร่วงโรย

แก้

อภิเดชเริ่มตกอับเมื่อชกมวยไทยแพ้น็อค แดนชัย เพลินจิต ยก 2 เมื่อ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2509 โดยอภิเดชถูกแดนชัยเตะตัดขาจนยอมแพ้ไป ผลจากการพ่ายแพ้ครั้งนี้ ทำให้อภิเดชถูกปลดจากตำแหน่งแชมป์มวยไทยและถูกกล่าวหาว่าล้มมวยด้วย ต่อมาต้นปี พ.ศง 2510 อภิเดชก็ไปเสียแชมป์ OPBF ที่ญี่ปุ่น

อภิเดชกลับมาสู้ต่อในแบบมวยไทย โดยคว้าแชมป์มวยไทยรุ่นเวลเตอร์เวทของเวทีลุมพินีมาครอง จากนั้นข้ามไปชิงแชมป์เวทีราชดำเนินกับเดชฤทธิ์ อิทธิอนุชิต ปรากฏว่าถูกศอกแพ้แตกในยกที่ 2 ชิงแชมป์ไม่สำเร็จและถูกปลดจากแชมป์เวทีลุมพินีอีกด้วย จากนั้นอภิเดชกลับมาชกมวยสากลอีก ขึ้นชกนอกรอบกับกิม กีซู แชมป์โลกรุ่นจูเนียร์มิดเดิลเวทชาวเกาหลีใต้ แต่อภิเดชเป็นฝ่ายแพ้คะแนนไปอีก

ในช่วง พ.ศ. 2511 - 2512 อภิเดชหันกลับมาชกมวยไทยอีก ชนะนักมวยชื่อดังจนมีชื่อเสียงอีกครั้ง จนแพ้น็อค คงเดช ลูกบางปลาสร้อย เมื่อ พ.ศ. 2512 จึงพบกับความตกต่ำอีกครั้ง จนแขวนนวมไปเมื่อ พ.ศ. 2514 อภิเดช หายไปจากวงการมวยอยู่หลายปี และกลับมาชกอีกเมื่อ พ.ศ. 2518 แต่ไม่รุ่งเรืองเหมือนเดิม ชกแพ้มากกว่าชนะ กระทั่งขึ้นชกครั้งสุดท้ายเมื่อ 29 มีนาคม พ.ศ. 2520 แพ้คะแนน เซียนโหงว ศิษย์บางพระจันทร์ อภิเดชจึงแขวนนวมไป ไม่ได้ขึ้นชกมวยอีกเลย

หลังแขวนนวม อภิเดชไปประกอบอาชีพค้าขายมะพร้าว กับภรรยาและลูกอีก 3 คนอยู่ที่ห้วยขวาง ในภายหลัง เขาได้หวนกลับมาสู่วงการมวยด้วยการเป็นเทรนเนอร์ให้กับนักมวยที่ค่ายมวยแฟร์เท็กซ์[5] ต่อมา เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2548 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับจังหวัดสมุทรสงคราม ได้จัดพิธีเชิดชูเกียรติ และมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับอภิเดช เนื่องจากเป็นบุคคลที่ทำคุณประโยชน์ และสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัด เพื่อเป็นการยกย่อง และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชนรุ่นหลังได้ไปศึกษาเป็นแบบอย่าง เพราะ อภิเดช ศิษย์หิรัญ ได้สร้างชื่อเสียงด้านกีฬาให้กับจังหวัดสมุทรสงครามและประเทศไทยเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติเป็นระยะเวลาถึง 11 ปี (พ.ศ. 2503-2514) จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติอย่างยิ่ง

ซึ่งถือว่าอภิเดชเป็นอดีตนักมวยที่ทำคุณประโยชน์อย่างมากให้แก่วงการมวยไทย โดยเป็นนายกชมรมนักมวยไทยเก่า หาเงินช่วยนักมวยไทยเก่าอย่างต่อเนื่อง

อภิเดช ศิษย์หิรัญ ถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 02.00 น. ของวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จากโรคมะเร็งปอด ที่ล้มป่วยมานาน เนื่องจากการสูบบุหรี่ซึ่งสูบมาตั้งแต่วัยรุ่นจนกระทั่งอายุ 37 ปี จึงเลิก เมื่อแขวนนวมแล้วในบั้นปลายชีวิตก็มีอาการป่วยกระเสาะกระแสะ ต้องเข้าโรงพยาบาลเช็คร่างกายอยู่เป็นระยะ ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 จนกระทั่งถึงแก่กรรม สิริอายุได้ 72 ปี[6][7][8][9]

เกียรติประวัติ

แก้
  • แชมป์มวยไทยรุ่นเวลเตอร์เวททั้งเวทีลุมพินีและเวทีราชดำเนิน[2]
  • แชมป์ประเทศไทยรุ่นเวลเตอร์เวท[2]
    • ชิง 21 พฤษภาคม 2507 ชนะน็อค ยก 10 ศรีสวัสดิ์ ศิษย์ ส.พ. [2]
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 30 มิถุนายน 2507 ชนะน็อค ยก 2 อดิศักดิ์ อิทธิอนุชิต [2]
    • สละแชมป์[2]
  • แชมป์ OPBF รุ่นเวลเตอร์เวท[2]

รางวัล

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 มวยสยาม Extra. บริษัท สยามพริ้นท์ จำกัด. ปีที่ 1 ฉบับที่ 2. มิถุนายน 2556. หน้า 12
  2. 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 2.18 เจี๊ยบ จอมบึง. ย้อนอดีต สู่ปัจจุบัน. น็อกเอาต์ฉบับมวยสยาม. ปีที่ 28 ฉบับที่ 2060. วันที่ 10-16 เมษายน 2556. ISSN 15135438. หน้า 6-7
  3. "แฟนพันธุ์แท้ 2014_7 มี.ค. 57 (มวยไทย)". แฟนพันธุ์แท้ 2014. March 7, 2014. สืบค้นเมื่อ September 9, 2016.
  4. "ช่อง 4 บางขุนพรหม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-05-09. สืบค้นเมื่อ 2013-08-09.
  5. มะเร็งคร่าชีวิต “อภิเดช ศิษย์หิรัญ” อดีตนักมวยไทยชื่อดัง - Manager Online[ลิงก์เสีย]
  6. สิ้นยอดมวย หน้า 14 ต่อข่าวหน้า 1, เดลินิวส์. ฉบับที่ 23,185: ศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2556 แรม 10 ค่ำ เดือน 4 ปีมะเส็ง
  7. "อภิเดช ศิษย์หิรัญ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-11-10. สืบค้นเมื่อ 2006-12-08.
  8. "สถิติการชกเฉพาะมวยสากล". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-22. สืบค้นเมื่อ 2007-08-11.
  9. ชายพจน์. มวยดังไทยแลนด์ในอดีต:"จอมเตะบางนกแขวก" อภิเดช ศิษย์หิรัญ แชมป์ OPBF คนที่ 11 ของไทย. นิตยสารมวยโลก ฉบับที่ 849 ธันวาคม พ.ศ. 2543 หน้า 42 - 46

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้