โรคหัดเยอรมัน

(เปลี่ยนทางจาก หัดเยอรมัน)

โรคหัดเยอรมัน หรือโรคเหือด (อังกฤษ: Rubella, German measles) หรือโรคหัดสามวัน (three-day measles) เป็นการติดเชื้อเกิดจากไวรัสหัดเยอรมัน โรคนี้มักไม่ร้ายแรงโดยผู้ป่วยครึ่งหนึ่งไม่รู้สึกตัวว่าป่วย ผื่นอาจเริ่มมีราวสองสัปดาห์หลังสัมผัสเชื้อและอยู่นานสามวัน ปกติเริ่มบนหน้าแล้วแพร่ไปร่างกายที่เหลือ ผื่นของโรคหัดเยอรมันสีไม่สดเท่าผื่นของโรคหัดและบ้างคัน พบต่อมน้ำเหลืองโตได้ทั่วไปและอาจอยู่นานหลายสัปดาห์ นอกจากนี้ อาจมีไข้ เจ็บคอและความล้า ในผู้ใหญ่ อาการปวดข้อพบได้บ่อย อาการแทรกซ้อนอาจรวมปัญหาเลือดออก อัณฑะบวม และการอักเสบของเส้นประสาท การติดเชื้อระหว่างช่วงต้นของการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้เด็กเกิดมามีกลุ่มอาการโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิด (CRS) หรือแท้ง อาการของ CRS มีปัญหาเกี่ยวกับตา เช่น ต้อกระจก หู เช่น หูหนวก หัวใจและสมอง พบปัญหาน้อยหลังสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์

โรคหัดเยอรมัน
(Rubella)
ผื่นจากโรคหัดเยอรมันบนหลังของเด็ก บริเวณที่เป็นคล้ายกับของโรคหัด แต่ผื่นสีแดงไม่สดเท่า
บัญชีจำแนกและลิงก์ไปภายนอก
ICD-10B06
ICD-9056
DiseasesDB11719
MedlinePlus001574
eMedicineemerg/388 peds/2025 derm/259

โรคหัดเยอรมันปกติแพร่ผ่านอากาศโดยทางการไอของผู้ที่ติดเชื้อ บุคคลแพร่เชื้อได้ระหว่างหนึ่งสัปดาห์ก่อนและหลังผื่นปรากฏ ทารกที่เป็น CRS อาจแพร่ไวรัสได้กว่าหนึ่งปี มีเฉพาะมนุษย์ที่ติดเชื้อ แมลงไม่แพร่โรค เมื่อฟื้นตัวแล้ว บุคคลจะมีภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อในอนาคต มีการทดสอบซึ่งสามารถพิสูจน์ยืนยันภูมิคุ้มกันได้ ยืนยันการวินิจฉัยโดยการพบไวรัสในเลือด คอหรือปัสสาวะ การทดสอบเลือดหาแอนติบอดีอาจเป็นประโยชน์ด้วย

โรคหัดเยอรมันป้องกันได้ด้วยวัคซีนโรคหัดเยอรมันเพียงขนาดยาเดี่ยว - วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน. มีประสิทธิผลกว่า 95% มักให้ร่วมกับวัคซีนโรคหัดและวัคซีนคางทูม เรียก วัคซีนหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม (MMR) ทว่า ด้วยอัตราการให้วัคซีนในประชากรน้อยกว่า 80% อาจมีหญิงที่มีชีวิตถึงวัยเจริญพันธุ์มากขึ้นโดยไม่มีการพัฒนาภูมิคุ้มกันและปัญหาอาจเพิ่มขึ้น เมื่อติดเชื้อแล้ว ไม่มีการรักษาจำเพาะ

โรคหัดเยอรมันเป็นการติดเชื้อทั่วไปในหลายบริเวณของโลก มีผู้ป่วยกลุ่มอาการโรคหัดเยอรมันแต่กำเนิดประมาณ 100,000 คนต่อปี อัตราของโรคลดลงในหลายพื้นที่รวมทั้งทวีปอเมริกาอันเป็นผลจากการให้วัคซีน กำลังมีความพยายามกำจัดโรคนี้ทั่วโลก ชื่อ "รูเบลลา" มาจากภาษาละติน หมายถึง "แดงเล็กน้อย" แพทย์ชาวเยอรมันอธิบายโรคดังกล่าวเป็นโรคต่างหากครั้งแรกใน ค.ศ. 1814 ในชื่อ "โรคหัดเยอรมัน" วันที่ 29 เมษายน 2558 สำนักงานองค์การอนามัยโลกในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประกาศให้ภูมิภาคทวีปอเมริกาปลอดจากการส่งผ่านโรคหัดเยอรมันประจำถิ่นอย่างเป็นทางการ

สาเหตุ แก้

เกิดจากเชื้อหัดเยอรมันซึ่งเป็นไวรัสชื่อว่า รูเบลลา (Rubella) เชื้อจะอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อได้โดยการไอ จาม หายใจรดกัน เช่นเดียวกับโรคหวัดหรือโรคหัด

ระยะฟักตัว 14-21 วัน ต่อมน้ำเหลืองโต (ที่หลังหู หลังคอ และท้ายทอย)

อาการ แก้

มีไข้ต่ำ ๆ ถึงปานกลาง ร่วมกับเป็นผื่นเล็ก ๆ สีชมพูอ่อน ๆ กระจายไปทั่ว ผื่นมักจะแยกกันอยู่ชัดเจน เริ่มที่หน้าผากชายผม รอบปาก และใบหูก่อนที่อื่น แล้วลงมาที่ลำคอ ลำตัว แขนขา อาจมีอาการคัน ผื่นมักขึ้นวันเดียวกับที่มีไข้ และมักจะหายได้เองภายใน 3 - 6 วัน โดยทั่วไปจะจางหายอย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งรอยดำให้เห็น บางรายอาจมีผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้ก็ได้ บางรายอาจมีอาการแสบเคืองตา เจ็บคอเล็กน้อย ปวดเมื่อยตามตัวแต่ไม่มากนัก อาการทั่วไปไม่ค่อยรุนแรง บางรายอาจติดเชื้อหัดเยอรมันและไม่มีอาการก็ได้

สิ่งตรวจพบ แก้

ไข้ 37.5 - 38.5 องศาเซลเซียส ผื่นแดงเล็กน้อย กระจายอยู่ทั่วตัว ตาแดงเล็กน้อย ที่สำคัญซึ่งบ่งชี้ถึงโรคนี้ คือ มีต่อมน้ำเหลืองโต (คลำได้เป็นเม็ดตะปุ่มตะป่ำ) ตรงหลังหู หลังคอ ท้ายทอย และข้างคอทั้ง 2 ข้าง

อาการแทรกซ้อน แก้

อาจทำให้ข้อนิ้วมือ และนิ้วเท้าอักเสบเล็กน้อย สมองอักเสบอาจพบได้บ้างข้อสำคัญคือ ถ้าเป็นในหญิงตั้งครรภ์ 3 เดือนแรกอาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้พบทารกพิการถึงร้อยละ 10-50 ภายในเดือนที่ 2 พบได้ร้อยละ 14 - 25 ภายในเดือนที่ 3 และหลัง 3 เดือน พบได้ร้อยละ 0 - 5 อาการที่พบในทารกที่คลอดออกมา ต้อกระจก ต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการที่พบบ่อย เช่น น้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ตับอักเสบ (ดีซ่าน) สมองอักเสบ ปัญญาอ่อน ซึ่งความพิการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกัน หรือเกิดเพียงอย่างเดียวก็ได้

การรักษา แก้

  • ถ้าพบในเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปที่ไม่ตั้งครรภ์ ให้การรักษาตามอาการ

ให้ยาลดไข้พาราเซตามอล ผู้ใหญ่ ครั้งละ 1 - 2 เม็ด (500 มิลลิกรัม) ทุก 4 - 6 ชั่วโมง ในเด็กให้ชนิดน้ำเชื่อม อายุต่ำกว่า 1 ปี 1/2 ช้อนชา, อายุ 1-4 ปี 1 ช้อนชา, อายุ 4-7 ปี ให้ 1 1/2 ช้อนชา

  • ในรายที่มีอาการคันให้ยาทาแก้ผื่นคัน คาลาไมน์โลชั่น (Calamine lotion) ทาบริเวณที่คัน วันละ 2 - 3 ครั้ง
  • ถ้าพบในหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก แนะนำผู้ป่วยให้ไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือดพิสูจน์ถ้าเป็นจริง อาจพิจารณายุติการตั้งครรภ์

การป้องกัน แก้

บทความหลัก: วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน

โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ครั้งแรกในตอนอายุ 9-15 เดือน สำหรับในท้องที่ห่างไกลในปัจจุบันนี้ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ ให้ในโรงเรียน นักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 และนักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 ผู้ปกครองที่มีข้อสงสัยบุตรหลานตนเองได้รับหรือไม่ให้สอบถามสถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือศูนย์สุขภาพชุมชน

อ้างอิง แก้

  • ตำราการตรวจโรคทั่วไป, คู่มือการรักษาพยาบาลสถานีอนามัย