หว่อง อากิ๊ว (จีน: 黄亞嬌) หรือ โญญา บินตี ตาฮีร์ (มลายู: Nyonya binti Tahir) เป็นหญิงชาวมาเลเซียที่เกิดในครอบครัวมุสลิม ครั้นเจริญวัยเธอได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ[1] คดีศาลเกิดขึ้นหลังการตายของเธอ ว่าควรปลงศพแบบอิสลามหรือพุทธ อันก่อให้เกิดข้อถกเถียงด้านเสรีภาพในการนับถือศาสนาของประเทศมาเลเซีย[2]

หว่อง อากิ๊ว
黄亞嬌
เกิดโญญา บินตี ตาฮีร์
พ.ศ. 2461
อาโลร์กาจะฮ์ รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย
เสียชีวิต19 มกราคม พ.ศ. 2549 (88 ปี)
ตัมปิน รัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน ประเทศมาเลเซีย
คู่สมรสเจิง หมิ่ง (張明)
บุตร13 คน

ประวัติ แก้

หว่องเกิดที่เมืองซิมปังอัมปัต รัฐมะละกา[3] ในครอบครัวเชื้อสายมลายูและจีน ย่าหรือยายของเธอเป็นหญิงมลายูมุสลิมที่สมรสกับชาวจีนไหหลำเข้ารีตอิสลาม อย่างไรก็ตามเธอได้รับการอุปการะจากครอบครัวชาวจีนและเติบโตเป็นพุทธศาสนิกชน[1][3] ใน พ.ศ. 2479 หว่องสมรสกับเจิง หมิ่ง (張明) ชายเชื้อสายจีนที่อายุมากกว่าเธอ 16 ปี เขาไม่ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม และหว่องเองก็ยังปฏิบัติตนอย่างชาวพุทธต่อไป[3] เธอดำเนินวิถีชีวิตอย่างชาวจีนและบริโภคเนื้อสุกรเช่นเดียวกับบุตรของเธอ[4] ในบัตรประจำตัวประชาชนของลูก ๆ ระบุว่าเป็นคนเชื้อชาติจีน นับถือศาสนาพุทธ[5] ขณะที่บัตรของหว่องระบุตัวตนว่าเป็นคนเชื้อชาติมลายู นับถือศาสนาอิสลาม[6]

หว่องยื่นคำขอร้องให้เขตปกครองท้องถิ่นเพื่อเปลี่ยนชื่อและศาสนาในบัตรประจำตัวประชาชนของเธอ ทว่าสำนักงานกิจการอิสลามอาโลร์กาจะฮ์ได้ทำการสอบสวนเธอ และปฏิเสธคำร้องของเธอเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2529[3] หลังสามีเสียชีวิตใน พ.ศ. 2532 ขณะอายุ 87 ปี หว่องทราบว่าตนมิอาจฝังศพเคียงข้างสามีเมื่อตาย หากยังไม่ได้สถานะการรับรองทางกฎหมายในการเปลี่ยนไปนับถือศาสนาพุทธ เธอจึงยื่นคำร้องอีกครั้งใน พ.ศ. 2534 และ พ.ศ. 2541 ซึ่งถูกทางการปฏิเสธทั้งหมด[1] หว่องได้ทำบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ระบุว่าเธอเป็นชาวพุทธ และต้องการจัดพิธีศพแบบพุทธมากกว่าอิสลาม[4][7]

การตายและคดีในชั้นศาล แก้

หว่องเสียชีวิตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2549 ภายในบ้านของเธอที่ตามันอินดะฮ์ ขณะอายุได้ 88 ปี[1] เมื่อครอบครัวของเธอไปสถานีตำรวจท้องที่เพื่อแจ้งตาย เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รับเรื่องรู้สึกสับสนกับข้อมูลในบัตรประจำตัวประชาชนของเธอที่ระบุว่าเธอเป็นชาวมลายู นับถือศาสนาอิสลาม แต่คนในครอบครัวกลับเป็นชาวจีน ที่นับถือศาสนาพุทธทั้งหมด ภายหลังเจ้าหน้าที่รายนี้ได้แจ้งข้อมูลไปยังกรมการศาสนารัฐเนอเกอรีเซิมบีลัน[8] กรมการศาสนาได้สั่งการให้ศาลชะรีอะฮ์เมืองตัมปินออกคำสั่งให้ระงับการฝังศพของเธอหลังมีข้อมูลว่าเธอเป็นชาวมลายู สภากิจการอิสลามรัฐเนอเกอรีเซิมบีลันได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงชะรีอะฮ์ประจำเมืองเซอเร็มบันเกี่ยวกับการปลงศพของเธอ[1][3] หัวหน้ากรมการศาสนารัฐเนอเกอรีเซิมบีลันเดินทางไปที่บ้านของหว่องด้วยตัวเอง และสั่งการให้ครอบครัวหว่องฝังศพเธอตามธรรมเนียมพิธีอิสลาม[9] อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลชะรีอะฮ์ได้รับฟังคำให้การจากลูก ๆ ของหว่อง ว่าเธอเป็นชาวพุทธและขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน ในวันจันทร์ถัดมา ศาลได้ตัดสินว่าหว่องไม่ใช่ชาวมุสลิมเมื่อเสียชีวิต และอนุญาตให้ครอบครัวจัดงานปลงศพแก่หว่องตามธรรมเนียมพุทธ ร่างของหว่องถูกฝังเคียงข้างสามีในสุสานจีนที่ซิมปังอัมปัต อำเภออาโลร์กาจะฮ์ อันเป็นบ้านเกิดของเธอ[3]

คดีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเบิกพยานที่ไม่ใช่มุสลิมในศาลชะรีอะฮ์ของมาเลเซีย ผู้ไม่ใช่ชาวมุสลิมจะไม่ได้รับการอนุญาตเริ่มคดีในศาลชะรีอะฮ์ แต่ก็ไม่ได้ห้ามพยานนอกศาสนาขึ้นให้การอย่างเป็นทางการ มีรายงานว่า ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในประเทศรู้สึกโล่งใจกับคำตัดสินดังกล่าว แต่ก็มีกลุ่มหนึ่งระบุว่าการตัดสินของศาลนั้น "ไม่สอดคล้องกับการคุ้มครอง [พวกเขา]" ซึ่งเป็นคนนอกศาสนาอิสลาม[5] นอกจากนี้แม้ว่าศาลจะตัดสินอนุญาตแก่ครอบครัวหว่องไปแล้ว แต่ฮันนี ตัน โฆษกสมาคมกฎหมาย อ้างถึงรัฐธรรมนูญมาตรา 11 วิจารณ์คำตัดสินดังกล่าวว่า "ศาลไม่ได้ให้เพียงการเยียวยาความคับข้องใจที่ยกขึ้นโดยโจทก์ด้วยเหตุผลตามรัฐธรรมนูญ"[2] และคดีของหว่องเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้หน่วยงานศาสนา สอบถามข้อมูลจากสมาชิกในครอบครัวของผู้วายชนม์ในการเป็นพยาน เพื่อให้ศาลตัดสินว่าผู้ตายยังมีสถานะเป็นมุสลิมอยู่หรือไม่ โดยส่วนใหญ่แล้วผู้คนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่กรณีของเอ็ม. มูรที หนึ่งในสมาชิกในทีมผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ของมาเลเซีย เขาเติบโตในครอบครัวที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ถูกกล่าวอ้างว่าเขาเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม โดยที่ครอบครัวไม่ทราบเรื่องดังกล่าว ศพของเขาถูกฝังไว้ตามธรรมเนียมอิสลาม และมีรายงานว่าครอบครัวของเขาเพิกเฉยต่อหมายศาลที่ออกโดยศาลชะรีอะฮ์ในท้องที่[10]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ""她是回教徒" 老婦舉殯宗教局搶屍/"She was a Muslim": Religious Affairs Department claims woman's corpse", Sin Chew Daily, 20 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 September 2007, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007; has picture of Wong.
  2. 2.0 2.1 Surin, Jacquelin Ann (21 March 2007), "Article 11 launches video series on upholding Constitution", The Sun, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 "Syariah Court Decides Nyonya Tahir Not A Muslim". Bernama. 23 January 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29. สืบค้นเมื่อ 2 May 2007.
  4. 4.0 4.1 "Nyonya Tahir - a landmark judgment", MalaysiaKini, 24 January 2006, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  5. 5.0 5.1 "Malaysian allowed non-Muslim burial", Al Jazeera, 25 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 March 2008, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  6. "'Nyonya not a Muslim' - Court orders body released to her family", Kementerian Penerangan Malaysia, 24 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-29, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  7. "老婦舉殯宗教局搶屍 搶屍案,家屬勝訴 老婦可依據華人傳統安葬/Woman's corpse claimed by Religious Affairs Department; Family wins suit, woman can be buried according to Chinese custom", Sin Chew Daily, 23 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 September 2007, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007; has picture of son Chiang Ah Fatt.
  8. "JHEAINS accepts whatever ruling by Syariah Court on Nyonya's religion", Bernama, 23 January 2006
  9. "Seremban Syariah Court declared Nyonya Tahir not a Muslim", Radio Televisyen Malaysia, 23 January 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-24, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007
  10. "Don't submit Non-Muslims to syariah court jurisdiction", The Sun, 21 December 2006, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-15, สืบค้นเมื่อ 2 May 2007