หลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน

หลวงปู่สรวง บายตึ๊กเจีย ,หรือดาบสซวง ( เขมร: ហ្លួងពូស៊ួង ) เป็นพระดาบสชาวกัมพูชา ในประเทศไทยที่ธุดงค์บำเพ็ญเพียรอยู่ตามป่าเขา ทุ่งนาของชาวบ้านไม่ชอบจำวัดอยู่ตามวัดต่างๆทำให้วัตรปฏิบัติของท่านดูแปลกกว่าภิกษุทั่วไปผู้คนจึงเรียกท่านว่า"พระดาบส" หลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน ละสังขารเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2543 สรีระสังขารตั้งอยู่บนมณฑปปราสาทหลวงปู่สรวง[2] วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ

หลวงปู่สรวง บายตึ๊กเจีย

(หลวงปู่สรวง (ហ្លួងពូស៊ួង) ดาบสกสินไฟ)
ชื่ออื่นหลวงตาเบ๊าะ,ดาบสซวง
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ (ที่ตั้งสรีระสังขาร) ศรีสะเกษ

ประวัติหลวงปู่สรวง แก้

หลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน หรือดาบสซวง เกิดเมื่อใดและอายุเท่าใดนั้นไม่มีใครทราบแน่ชัด เพราะท่านไม่เคยบอกเล่าประวัติส่วนตัวให้ใครฟังแม้แต่ศิษย์ผู้ติดตามใกล้ชิดก็ไม่ทราบประวัติส่วนตัวของท่าน เพียงแต่รับรู้กันว่าเป็นชาวเขมรกัมพูชา ซึ่งเข้ามาในเมืองไทยนานแล้ว โดยปรกติหลวงปู่สรวงจะแวะจำวัดที่วัดบ้านขะยูง ตำบลห้วยตามอญ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษอยู่เป็นประจำและซึ่งแต่ละครั้งจะอยู่นานหลายเดือน นอกจากนั้นก็จะแวะจำวัดตามวัดต่างๆบ้างในระยะสั้นๆตามแต่ลูกศิษย์จะนิมนต์ไป แต่โดยส่วนมากหลวงปู่มักออกธุดงค์และจำวัดอยู่ตามป่าเขาและกระท่อมตามทุ่งนาของชาวบ้าน

มีผู้ยืนยันว่าเคยพบเห็นหลวงปู่สรวงตั้งแต่ตนยังเด็กซึ่งในจำนวนนั้นมีพระเถระสำคัญอยู่หลายท่านเช่น หลวงพ่อสร้อย ธัมมรโส วัดเลียบราษฎร์บำรุง กรุงเทพมหานคร , หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ วัดเพชรบุรี จังหวัดสุรินทร์ , หลวงปู่โป๊ะ วัดบ้านบิง จังหวัดศรีสะเกษ , หลวงปู่สาย ปาโมกโข วัดตะเคียนราม ต่างยืนยันว่าเคยพบเห็นหลวงปู่สรวงตั้งแต่ตัวเองยังเด็ก[3] นอกจากนั้นยังได้รับการเล่าขานจากคนแก่เฒ่าที่อยู่ชายป่าบ้านตะเคียนราม และพระสงฆ์ในวัดตะเคียนราม อำเภอภูสิงห์ ชาวบ้านตำบลกันทรารมย์ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ และหมู่บ้านต่างๆตามแนวชายแดนไทย - กัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ที่เคยพบเห็นหลวงปู่สรวงเมื่อตนเองยังเด็กเช่นกันปัจจุบันมีอายุ 80 ปีขึ้นไป ต่างบอกว่าเคยเห็นท่านตั้งแต่ตัวเองยังเป็นเด็ก 7 - 8 ขวบ หลวงปู่สรวงท่านก็มีสภาพแก่ชราแบบนี้มานานแล้วจากคำบอกเล่าของรุ่นปู่รุ่นย่าของผู้บอกเล่า จนถึงวันที่ท่านละสังขารก็มีสภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย

หลวงปู่สรวงเป็นคนที่มักน้อย สันโดษ สมถะ มีอุเบกขาสูง หลวงปู่สรวงหรือดาบสซวงจะจําวัดอยู่ตามกระท่อมเถียงนาของชาวบ้าน มีกระดานไม้ปูแค่พอนอนได้ ทุกแห่งที่หลวงปู่จําวัดจะมีเสาไม้สูงปักอยู่ มีเชือกขาวซึ่งระหว่างกระท่อมเสาไม้หรือต้นไม้ข้างเคียงจะมีว่าวขนาดใหญ่ ที่บุด้วยจีวรหรือกระดาษแขวนไว้เป็นสัญลักษณ์ ที่ขาดไม่ได้คือจะต้องให้ลูกศิษย์ก่อกองไฟไว้เสมอ บางครั้งลูกศิษย์ เอาสิ่งของมาถวายท่านก็มักจะโยนเข้ากองไฟ ชาวบ้านในสมัยนั้นเรียกขานท่านว่า “ลูกเอ็อวเบ๊าะ” หรือ “ลูกตาเบ๊าะ” (เป็นภาษาเขมร หมายถึงพระ ดาบสที่เป็นผู้รักษาศีลอยู่ตามถ้ำตามป่าเขา)[4]

ละสังขาร แก้

หลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน ละสังขารเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2543 ณ กระท่อมบ้านรุน อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ท่านมีอาการป่วยและฉันอาหารไม่ได้เป็นเวลาหลายวันและได้ย้ายมาพักที่กระท่อมข้างวัดป่าบ้านจะบกเวลาประมาณ 14.00 น. อาการป่วยของท่านก็กำเริบหนักหลวงปู่จึงบอกบรรดาศิษย์ว่าจะไปที่บ้านรุน อำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ได้สั่งให้ลูกศิษย์ช่วยกันงัดแผ่นกระดานปูกระท่อมที่หลวงปู่นั่งทับอยู่ออกมาซึ่งเป็นแผ่นที่ท่านนั่งอยู่พองัดออกมาหลวงปู่ได้พนมมือไหว้ไปทุกทิศ เสร็จแล้วก็ให้ลูกศิษย์หามท่านออกมาจากกระท่อมวางลงบนพื้นดินด้านทิศเหนืออยู่ระหว่างกระท่อมกับต้นมะขาม โดยตัวท่านเองหันหน้าเข้ากระท่อมจากนั้นลูกศิษย์จึงช่วยกันพยุงหลวงปู่ขึ้นรถ แล้วขับมุ่งตรงไปที่บ้านรุน ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ พอถึงบ้านรุนหลวงปู่ได้สั่งให้ขับรถไปที่กระท่อมโดยด่วนพอถึงกระท่อมลูกศิษย์ได้อุ้มหลวงปู่ วางลงบนแคร่ที่ตั้งอยู่ในกระท่อมแล้วช่วยก่อกองไฟเพื่อให้ความอบอุ่นแก่หลวงปู่ และนำอาหารมาให้ท่านฉันท่านก็ไม่ยอมฉันอาหารในที่สุดก็มีความเห็นว่าให้รีบแต่งขันธ์ห้าขันธ์แปดขอขมาหลวงปู่โดยด่วนตามที่เคยกระทำมาแล้วและได้ผลมาหลายครั้งลูกศิษย์คนหนึ่งกล่าวว่าถ้าได้แต่งขันธ์ห้าขันธ์แปดขอขมา พร้อมนิมนต์แม่ชีมาร่วมสวดมนต์ให้ท่านฟังท่านก็จะหายเป็นปกติ จึงได้พากันแต่งขันธ์ห้าขันแปดไปพลางก่อน แล้วค่อยไปตามคนที่เคยแต่งขันธ์ให้หลวงปู่ อีกที[5]

ขณะนั้นหนึ่งในคณะลูกศิษย์ได้มีความเห็นว่าควรนำหลวงปู่ไปรักษาที่โรงพยาบาลซึ่งทุกคนก็เห็นด้วย จึงได้พากันอุ้มหลวงปู่ไปขึ้นรถเพื่อจะไปโรงพยาบาลบัวเชด จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งใกล้ที่สุดแต่รถวิ่งออกห่างจากกระท่อมได้ไม่ถึง 50 เมตรหลวงปู่ก็มีอาการกำเริบหนักขึ้น ลูกศิษย์ต่างคนก็ร้องให้และมองดูหลวงปู่ด้วยความอาลัยและสิ้นหวัง หลวงปู่เริ่มหายใจแผ่วลง ในที่สุดได้ทอดมือทิ้งลงข้างกายเสียชีวิตด้วยความสงบบนรถ แต่ลูกศิษย์ก็ยังคงนำหลวงปู่ มุ่งไปที่โรงพยาบาลด้วยความหวังว่าหมอจะสามารถช่วยให้หลวงปู่ฟื้นขึ้นมาได้ พอไปถึงโรงพยาบาลบัวเชดหมอและพยาบาลได้นำหลวงปู่เข้าห้องฉุกเฉินทำการตรวจร่างกายโดยละเอียดแล้วสรุปว่า หลวงปู่เสียชีวิตไปแล้วไม่ต่ำว่า 3 - 4 ชั่วโมง แต่ลูกศิษย์ต่างก็ยืนยันว่าเสียชีวิตไม่เกิน 10 นาทีแน่นอน เพราะระยะทางจากบ้านรุนมาโรงพยาบาลบัวเชดประมาณ 10 กิโลเมตรและขับรถมาอย่างเร็วด้วย ลูกศิษย์ไม่ให้ทางโรงพยาบาลฉีดยารักษาศพ และปรึกษากันว่าจะนำสังขารหลวงปู่ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านขะยูง ตำบลห้วยตามอญ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นวัดที่หลวงปู่ แวะจำวัดอยู่เป็นประจำ แต่พอมาถึงบ้านไพรพัฒนา ตำบลไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ลูกศิษย์ได้ขับรถแวะเข้าที่วัดไพรพัฒนาเพื่อแจ้งข่าวให้หลวงพ่อพุฒ วายาโม เจ้าอาวาสวัดไพรพัฒนาได้ทราบว่าหลวงปู่สรวงได้เสียชีวิตแล้ว ขณะนั้นเวลาประมาณ 19.00 น. หลวงพ่อพุฒ วายาโม จึงขึ้นไปที่รถแล้วเปิดประตูรถขึ้นไปกราบสังขารหลวงปู่และถามบรรดาลูกศิษย์ว่าจะดำเนินการกันต่อไปอย่างไรก็ได้รับคำตอบว่า จะนำศพหลวงปู่ไปบำเพ็ญกุศลที่วัดบ้านขะยูง ตำบลห้วยตามอญ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ หลวงพ่อพุฒบอกให้เดินทางล่วงหน้าไปก่อนจะตามไปทันที รถได้เคลื่อนตัวออกจากวัดไพรพัฒนามุ่งหน้าไปยังวัดบ้านขะยูง พอถึงระหว่างทางไปวัดบ้านขะยูงปรากฏว่าขบวนลูกศิษย์เปลี่ยนใจจะนำร่างหลวงปู่กลับมาบำเพ็ญกุศลที่วัดไพรพัฒนา และได้ตั้งสรีระสังขารหลวงปู่สรวงที่วัดไพรพัฒนามาจนถึงปัจจุบัน [6]

สถานที่หลวงปู่สรวงเคยพำนักเพื่อโปรดสัตว์ แก้

อ้างอิง แก้

  1. "ประวัติโดยย่อ หลวงปู่สรวง เทวดาเดินดิน".
  2. "11 ปี ปู่สรวง...สังขารไม่สลายมุทิตาเสริมบารมี...แจกฟรีเหรียญ".
  3. หลวงปู่สรวง,ดาบสซวง เทวดาเดินดิน ผู้วิเศษแห่ง...เขาพนมกุเลน สำนักพิมพ์กรีน ปัญญาญาณ.โดยจักรทิพย์.พิมพ์ครั้งที่ 1 มิถุนายน 2554.
  4. "ประวัติและปฏิปทาหลวงปู่สรวง (เทวดาเล่นดิน) วัดไพรพัฒนา อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ".
  5. หนังสือหลวงปู่สรวง ออยเตียนสรูญ. บำเพ็ญกุศลครบ ๑๐๐ วัน.วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ.2544
  6. หนังสือหลวงปู่สรวง ออยเตียนสรูญ. บำเพ็ญกุศลครบ ๑๐๐ วัน.วัดไพรพัฒนา อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ.2544