สุญตา[1] (บาลี: สุญฺญตา) หรือ ศูนยตา (สันสกฤต: ศูนฺยตา) แปลว่า ความว่างเปล่า, ความเป็นของสูญ คือความไม่มีตัวตน ถือเอาเป็นตัวตนไม่ได้

สุญตามีความหมาย 4 นัย คือ

  1. ความเป็นสภาพที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาวะที่ขันธ์ 5 เป็นอนัตตา คือ มิใช่ตัวตน ไม่มีอัตตา ว่างจากความเป็นตน ตลอดจนว่างจากสารัตถะต่าง ๆ เช่น ความเที่ยง ความสวยงาม ความสุข เป็นต้น, โดยปริยายหมายถึง หลักธรรมฝ่ายปรมัตถ์ดัง เช่น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ และปฏิจจสมุปบาท ที่แสดงแต่ตัวสภาวะให้เห็นความว่างเปล่าปราศจากสัตว์ บุคคล เป็นเพียงธรรมหรือกระบวนธรรมล้วน ๆ
  2. ความว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น ก็ดี สภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลายก็ดี หมายถึง นิพพาน
  3. โลกุตตรมรรค ได้ชื่อว่าเป็นสุญตา ด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ เพราะลุด้วยปัญญาที่กำหนดพิจารณาความเป็นอนัตตา มองเห็นสภาวะที่สังขารเป็นสภาพว่าง (จากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน) เพราะว่างจากกิเลสมีราคะเป็นต้น และเพราะมีสุญตา คือ นิพพาน เป็นอารมณ์
  4. ความว่าง ที่เกิดจากความกำหนดหมายในใจ หรือทำใจเพื่อให้เป็นอารมณ์ของจิตในการเจริญสมาบัติ เช่น ผู้เจริญอากิญจัญญายตนสมาบัติกำหนดใจถึงภาวะว่างเปล่าไม่มีอะไรเลย

อ้างอิง

แก้
  1. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2556, หน้า 1242.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้