สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (ย่อว่า สบร. อังกฤษ: Office of Knowledge Management and Development (Public Organization); OKMD) จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา "จัดตั้งสำนักงานบริหารพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2547" มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้มีโอกาสแสวงหา พัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อสร้างสรรค์ และพัฒนาคุณภาพความคิดของประชาชนและเยาวชนของประเทศ ทั้งนี้ สบร. ทำหน้าที่เป็นองค์กรในการผลักดันสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอผลงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อยกระดับประเทศให้เป็นประเทศชั้นนำทั้งในภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคม

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)
Office of Knowledge Management and Development
Office of Knowledge Management and Development Logo.png
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง4 พฤษภาคม พ.ศ. 2547
สำนักงานใหญ่69 อาคารวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ชั้น 18 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
รัฐมนตรี
  • ปรเมธี วิมลศิริ, ประธานกรรมการ
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ดร. ทวารัฐ สูตะบุตร [1], ผู้อำนวยการ
  • กิตติรัตน์ ปิติพานิช, รองผู้อำนวยการ
  • ราเมศ พรหมเย็น, รองผู้อำนวยการ
  • ดร.อภิชาติ ประเสริฐ, รองผู้อำนวยการ
ต้นสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี
เอกสารหลัก
เว็บไซต์www.okmd.or.th

หน่วยงานในสังกัดแก้ไข

สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ มีหน่วยงานในสังกัด 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย

  • สถาบันอุทยานการเรียนรู้ หรือ สอร. (Thailand Knowledge Park : TK park) สำหรับเด็กในวัยเรียนที่พ่อแม่ต้องการปลูกฝังให้รักการอ่านและการเรียนรู้ แต่ไม่ต้องการการศึกษาแบบคร่ำเคร่ง และยังคงความสนุกสนานตามวัยเด็ก ส่วนเด็กวัยรุ่น และผู้ใหญ่ ผู้ซึ่งเป็นทั้งผู้บริโภค ผู้ผลิต และเป็นอนาคตสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ต้องได้รับการบ่มเพาะความรู้ในรูปแบบที่ไม่ธรรมดา นอกเหนือจากระบบการศึกษาปกติ ให้กลายเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ไล่ตามความคิดและความต้องการของผู้บริโภคของโลกได้ทัน
  • สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ หรือ สพร. (National Discovery Museum Institute : NDMI) เป็นพิพิธภัณฑ์แนวใหม่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม และมีเวทีให้เด็กแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนี้เรายังสามารถเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย โดยใช้การนำเสนอในรูปแบบใหม่

OKMD เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการบริหาร สบร. โดยทำหน้าที่จัดระบบบริหารงานภายใน ประสานแผนและงบประมาณ พัฒนายุทธศาสตร์และนโยบายการพัฒนาองค์ความรู้

ข้อมูลเพิ่มเติมแก้ไข

  • หน่วยงานในสังกัด ระยะเริ่มต้น

ในระยะเริ่มแรก ของการจัดตั้ง สบร. ประกอบด้วยหน่วยงานเฉพาะด้านทั้งสิ้น 7 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ (สวร.) ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ (สมพช.) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) การควบรวมหน่วยงานเฉพาะด้าน ในปี 2550 มติคณะกรรมการบริหาร สบร. ให้ควบรวม 4 หน่วยงานเฉพาะด้าน เป็น 2 หน่วยงาน โดยควบรวม “ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ” กับ “สถาบันวิทยาการการเรียนรู้” เป็นสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) และ “สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ” กับ “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” เป็น “สถาบันการเรียนรู้และสร้างสรรค์ (สรส.)” ต่อมาในปี 2551 ยกเลิกการควบรวมศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ และสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ เป็นหน่วยงานเฉพาะด้าน 2 หน่วยงานเช่นเดิม ตามมติคณะกรรมการฯ การปรับโครงสร้าง สบร. เป็นองค์การมหาชนแบบเดี่ยว ในปี 2553 ตามประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2553 ปรับหน่วยงานเฉพาะด้านเป็นหน่วยงานภายใน นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ มีมติยุบสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) และปรับโอนงานการส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษรวมกับภารกิจของสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ และงานการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง Brain-based learning รวมกับภารกิจของ สบร. ส่วนกลาง โครงสร้างของ สบร. ประกอบด้วย 5 หน่วยงานภายใน ได้แก่ (1) สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) (2) ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ศสบ.) (3) สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) (4) ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) และ (5) ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม (ศูนย์คุณธรรม) สบร. ส่วนกลาง และ หน่วยงานภายใน 3 หน่วยงาน ในปี 2554 หน่วยงานภายใน 2 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ศลชท.) และศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม ได้แยกออกเป็นองค์การมหาชนใหม่ ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) วันที่ 28 พฤษภาคม 2554 และพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) วันที่ 9 มิถุนายน 2554

  • เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2550 คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงถึงกรณีเข้าร่วมประชุมกับนายอภินันท์ โปษยานนท์ ประธานคณะกรรมการ สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (สบร.) และมีมติให้ ยุบศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ไปควบรวมกับ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (NDMI) ว่า เป็นนโยบายของตนที่ต้องการปรับการบริหารจัดการหน่วยงานที่อยู่ภายใต้ สบร.ที่มี 7 หน่วยงาน ให้มีประสิทธิภาพและใช้งบประมาณคุ้มค่ามากขึ้นจึงให้นโยบายว่าต้องควบรวมให้เหลือ 4 หน่วยงาน ซึ่งในครั้งนี้ก็ได้มีการควบรวม สถาบันวิทยาการเรียนรู้ (NBL) กับศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษ (NGT) และต่อไปจะให้ศูนย์คุณธรรมไปสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อีกด้วย [2]
  • การปรับปรุงโครงสร้างภายในเหลือ 5 หน่วยงานภายในนั้น ได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2552
  • ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้มีการยกฐานะศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชนภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีชื่อว่า "ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)"[3] และยกฐานะศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม จัดตั้งขึ้นเป็นองค์การมหาชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวัฒนธรรม มีชื่อว่า "ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)[4]

อ้างอิงแก้ไข

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข