สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ประเทศไทย)

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (อังกฤษ: Office of the Election Commission of Thailand) หรือย่อว่า OECT เป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เครื่องหมายราชการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

ที่ทำการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ภาพรวมหน่วยงาน
ก่อตั้ง9 มิถุนายน พ.ศ. 2540
(27 ปี 119 วัน)
สำนักงานใหญ่ไทย
เลขที่ 120 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
งบประมาณต่อปี1,798.2466 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • แสวง บุญมี, เลขาธิการ
  • กิตติพงษ์ บริบูรณ์, รองเลขาธิการ
  • ร.ต.อ.ชนินทร์ น้อยเล็ก, รองเลขาธิการ
  • วีระ ยี่แพร, รองเลขาธิการ
  • เกรียงไกร พานดอกไม้, รองเลขาธิการ
  • พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์, รองเลขาธิการ
  • สุรณี ผลทวี, รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดหน่วยงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
เว็บไซต์ECT.go.th
เชิงอรรถ
คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

กิจการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ตามที่กฎหมายบัญญัติ

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

แก้

ตามบทบัญญัติพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 31 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง และมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1. รับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมือง และคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา

2. ศึกษาและสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเลือกตั้ง การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา การออกเสียงประชามติ และการพัฒนาพรรคการเมือง

3. เผยแพร่วิชาการ ให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชนรวมทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งเกี่ยวกับการพัฒนาการเมืองและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

4. รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือการออกเสียงประชามติ ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง หรือการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา หรือเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคการเมือง หรือบุคคลอื่นใดเพื่อดำเนินการตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

5. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง

แก้

ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา 33 “ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งประธานกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งโดย ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ขึ้นตรงต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง และจะให้มีรองเลขาธิการเป็นผู้ช่วยสั่งและปฏิบัติงานรองจากเลขาธิการก็ได้ ให้เลขาธิการทำหน้าที่เป็นเลขานุการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง”

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ต้องเป็นผู้มีความเป็นกลางทางการเมือง มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ มีสัญชาติไทย มีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ และมีคุณวุฒิ ประสบการณ์ และความสำเร็จด้านการบริหารตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และอาจได้รับแต่งตั้งใหม่ได้ แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน การพ้นจากตำแหน่งของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนครบวาระ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขในการจ้าง

เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง มีหน้าที่ควบคุมดูแลงานโดยทั่วไปของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศ และมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้มีอำนาจ ดังต่อไปนี้

1. บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดเงินเดือน หรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงาน หรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ตามระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง

2. วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง

3. วางระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่าที่ไม่ขัดกับระเบียบหรือประกาศหรือมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง


ในกิจการของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้แทนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อการนี้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งจะมอบอำนาจให้บุคคลใดปฏิบัติงานแทนก็ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

ในการปฏิบัติงานของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง จะมีรองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ช่วยสั่งงานในหน้าที่รับผิดชอบ 5 ด้าน คือ ด้านกิจการบริหารกลาง ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ด้านกิจการการมีส่วนร่วม ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย และด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ

รายนามเลขาธิการ กกต.

แก้
ลำดับ ชื่อ - นามสกุล วาระดำรงตำแหน่ง หมายเหตุ
1. ร้อยตรีวิจิตร อยู่สุภาพ 1 ธันวาคม 2541 - 30 พฤศจิกายน 2546
2. พลตำรวจตรี เอกชัย วารุณประภา 5 มกราคม 2547 - 20 สิงหาคม 2549
3. ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ 10 พฤศจิกายน 2549 – 18 กันยายน 2554
4. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ 13 มีนาคม 2555[2] - 8 ธันวาคม 2558[3]
นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ 8 ธันวาคม 2558 - 30 กันยายน 2559 รักษาการ
พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา 2560 - 16 พฤษภาคม 2561 รักษาการ
5. พันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา 17 พฤษภาคม 2561[4] - 1 ธันวาคม 2564[5]
นายแสวง บุญมี 1 ธันวาคม 2564 - 31 มีนาคม 2565 รักษาการ
6. นายแสวง บุญมี 1 เมษายน 2565[6] - ปัจจุบัน

การจัดแบ่งส่วนงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

แก้

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และรับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นตรงต่อประธานกรรมการการเลือกตั้ง

โดยแบ่งโครงสร้างส่วนงานในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็น 5 ด้านกิจการ สถาบันพัฒนาพรรคการเมืองและการเลือกตั้ง และส่วนงานไม่สังกัดด้านกิจการ ดังนี้

1) ด้านกิจการบริหารกลาง จัดแบ่งส่วนงานของด้านกิจการบริหารกลาง เป็น 3 สำนัก คือ

  • สำนักบริหารทั่วไป
  • สำนักการคลัง และ
  • สำนักนโยบายและแผน

มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการทั่วไปของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และกิจการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมิได้กำหนดเป็นอำนาจหน้าที่ของด้านกิจการใดด้านกิจการหนึ่งโดยเฉพาะ รวมทั้งกำกับและเร่งรัดการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้เป็นไปตามนโยบาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง อำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้รวมถึงการเสนอและจัดทำนโยบายของคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนพัฒนาการเมือง และภารกิจตามกฎหมาย จัดทำแผนแม่บท ประสานแผนการปฏิบัติงาน เสนอแนะนโยบายในการตั้ง และการจัดสรรงบประมาณประจำปี ติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดทำรายงานผลการดำเนินการตามนโยบายและแผนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี และข้อสังเกตของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนภูมิภาค และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

2) ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย จัดแบ่งส่วนงานของด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย เป็น 5 สำนัก คือ

  • สำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 1
  • สำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 2
  • สำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 3
  • สำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 4 และ
  • สำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย 5

มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการรับเรื่องร้องคัดค้านเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หรือการออกเสียงประชามติ ผู้มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือเกี่ยวกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พรรคการเมือง หรือบุคคลอื่นใดทำการการสืบสวนสอบสวนเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดปัญหา ข้อโต้แย้ง ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนภูมิภาค และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

3) ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง จัดแบ่งส่วนงานของด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง เป็น 3 สำนัก คือ

  • สำนักบริหารการเลือกตั้ง
  • สำนักสนับสนุนการเลือกตั้ง และ
  • สำนักวิจัยและพัฒนาการเลือกตั้ง

มีอำนาจหน้าที่ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งตามที่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนภูมิภาค และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

4) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ จัดแบ่งส่วนงานของด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ เป็น 2 สำนัก คือ

  • สำนักกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ และ
  • สำนักบริหารการสนับสนุนโดยรัฐ

มีอำนาจหน้าที่รับคำขอจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง ควบคุมตรวจสอบการดำเนินการของพรรคการเมือง และปฏิบัติงานให้เป็นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปฏิบัติงานธุรการให้แก่นายทะเบียนพรรคการเมือง ศึกษาและรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานของนายทะเบียนพรรคการเมือง ปฏิบัติงานสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ ควบคุมและดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม พัฒนาพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ ประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และหน่วยงานของสำนักงานในส่วนภูมิภาค และปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง นายทะเบียนพรรคการเมือง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

5) ด้านกิจการการมีส่วนร่วม จัดแบ่งส่วนงานของด้านกิจการการมีส่วนร่วม เป็น 2 สำนัก คือ

  • สำนักการมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง และ
  • สำนักรณรงค์และเผยแพร่

มีอำนาจหน้าที่สนับสนุนส่งเสริมให้ประชาชน คณะบุคคล องค์การเอกชน และประชาคมจังหวัดเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้ง งานรับรองและสนับสนุนองค์การเอกชน งานดำเนินการเผยแพร่วิชาการ และให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชน ประสานงานกับหน่วยราชการ ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือสนับสนุนองค์การเอกชนในการให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประสานงานและสนับสนุนการปฏิบัติงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด และหน่วยงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในส่วนภูมิภาค ปฏิบัติการอื่นใดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมอบหมาย

6) สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ประกอบด้วย

  • สำนักวิจัยและวิชาการ และ
  • สำนักพัฒนาบุคลากร

มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1. ศึกษาวิเคราะห์สภาวการณ์ทางการเมืองและกระบวนการจัดการเลือกตั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การพัฒนาในทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้าง กระบวนการ และพฤติกรรมทางการเมือง

2. จัดทำหลักสูตรและดำเนินการศึกษาอบรมบุคลากรทางการเมืองและการเลือกตั้ง สมาชิกของกลุ่มองค์กรภาคเอกชน ประชาคม และองค์กรชุมชน ตลอดจนปรับปรุงหลักสูตรที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมยิ่งขึ้น

3. สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการเมืองระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมือง และการเลือกตั้ง

4. ให้ความรู้และการศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง

5. พัฒนาและบริหารฐานความรู้และองค์กรแห่งการเรียนรู้

6. ประสานความร่วมมือกับองค์กรจัดการเลือกตั้งของประเทศต่างๆ องค์กรระหว่างประเทศและองค์กรต่างประเทศในการศึกษาวิจัย การศึกษาอบรมบุคลากรทางการเมืองและการเลือกตั้งเกี่ยวกับการเมืองระบอบประชาธิปไตย พรรคการเมืองและการเลือกตั้ง

7. เป็นศูนย์ข้อมูลทางวิชาการและการวิจัยเกี่ยวกับการเมืองและการเลือกตั้ง และข้อมูลทางวิชาการอื่นๆ ที่เกี่ยวกับคณะกรรมการการเลือกตั้งและสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

7) ส่วนงานที่ไม่สังกัดด้านกิจการ ประกอบด้วย

  • สำนักกฎหมายและคดี
  • สำนักการประชุม
  • สำนักประชาสัมพันธ์
  • สำนักเลขานุการคณะกรรมการการเลือกตั้ง
  • สำนักวินิจฉัยและคดี
  • สำนักผู้ตรวจการ
  • สำนักผู้ตรวจสอบภายใน และ
  • กลุ่มงานวิชาการ

ที่ตั้งของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง

แก้

ในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ชุดแรก ใช้อาคารรัฐสภา 2 เป็นที่ทำการชั่วคราว ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2541 ได้ย้ายไปอาคารธนาคารทหารไทย ถนนพญาไท-ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร และเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2543 ได้ย้ายไปอาคารศรีจุลทรัพย์ ถนนพระรามที่ 1 แขวงรองเมือง เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร

เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 ได้ย้ายไปยังอาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้องเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จนถึงปัจจุบัน

อ้างอิง

แก้
  1. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 เล่ม 132 ตอนที่ 91ก วันที่ 25 กันยายน 2558
  2. https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1919000.pdf
  3. https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2060632.pdf
  4. https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/2140756.pdf
  5. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-02-20. สืบค้นเมื่อ 2023-02-20.
  6. "สำเนาที่เก็บถาวร" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-02-20. สืบค้นเมื่อ 2023-02-20.