สาวน้อยเดือดร้อน

(เปลี่ยนทางจาก สาวเอ๊าะเดือดร้อน)

สาวน้อยเดือดร้อน[ต้องการอ้างอิง] (อังกฤษ: damsel in distress) เป็นหญิงสาวตามท้องเรื่องแบบดั้งเดิมและยอดนิยมในวรรณกรรม ศิลปะ และภาพยนตร์ส่วนใหญ่ของโลก โดยเธอมักเป็นหญิงงาม อ่อนหวาน และอ่อนวัย กำลังถูกเหล่าร้ายหรืออสุรกายคุกคาม และต้องการวีรบุรุษโดยด่วน ปรกติแล้ว "สาวน้อย" มักเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ในหลาย ๆ เรื่องเป็นเทพธิดา, พราย, เงือก หรือสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ก็มี แต่ลักษณะสากลของสาวน้อยเดือดร้อน คือ ต้องช่วยเหลือตนเองมิได้ (helpless) และบางทีก็ "ไม่ฉลาดนัก" (partly foolish) และ "อ่อนต่อโลก" (naive) ซึ่งเป็นลักษณะที่ชายหนุ่มทั่วไปต้องใจ[1][2] อย่างไรก็ดี ทัศนคติเช่นนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของฝ่ายนิยมสิทธิสตรีเป็นอันมาก[3]

ภาพนักบุญจอร์จปะทะพญานาค โดย เพาโล อูเชลโล ราว ๆ ค.ศ. 1470 แสดงแก่นเรื่องยอดนิยม ที่มีอัศวินขี่ม้าขาว สาวน้อยเดือดร้อน และอสุรกาย

คำ "damsel" ในภาษาอังกฤษนั้นมาแต่คำ "demoiselle" (เดมัวแซล) ในภาษาฝรั่งเศส อันแปลว่า "สาวน้อย" เช่นเดียวกับถ้อยคำ "damsel in distress" ที่มาจาก "demoiselle en détresse" (เดมัวแซล อ็อง เดแทร็ส) ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า "สาวน้อยกำลังแย่" ถ้อยคำเหล่านี้ใช้กันมาแต่โบร่ำโบราณ ซึ่งอาจนับถอยหลังไปถึงสมัยอัศวินพเนจร (knight-errant) ในยุโรปมัชฌิมยุค ซึ่งมีอัศวินออกเที่ยวไปในแว่นแคว้นต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือหญิงสาวผู้ตกที่นั่งลำบากเป็นหลัก[4]

เนื้อเรื่องแบบสาวน้อยเดือดร้อนนี้พบมากในละครประโลมโลก (melodrama)[4]

ประวัติ แก้

โบราณกาล แก้

 
ภาพแอนดรอมีดาถูกพันธนาไว้กับศิลารอสังเวยเจ้าบาดาล วาดโดยแรมบรังด์

ตัวอย่างดั้งเดิมที่สุดของเนื้อเรื่องแบบสาวน้อยเดือดร้อนนั้น มีอยู่ในเทพปกรณัมกรีกเกือบทุกเรื่อง ที่แม้ประกอบด้วยบรรดาเทพีทรงฤทธานุภาพ แต่ก็มักมีหญิงสาวที่สละตัวหรือถูกบังคับให้สละตัวบูชายัญ เช่น แอนดรอมีดา (Andromeda) เจ้าหญิงที่ได้รับความช่วยเหลือจากเพอร์ซีอุส (Perseus) หลังจากแคสซีออเพีย (Cassiopeia) มารดา ดูหมิ่นเจ้าบาดาลโพไซดอน และเจ้าบาดาลส่งสัตว์ร้ายมารังควาญอาณาจักรของเธอเป็นการตอบโต้ แล้วบิดามารดาของเธอตั้งใจจับเธอถ่วงน้ำบูชายัญเจ้าบาดาลเพื่อให้คลายโทสะ แอนดรอมีดาเป็นหัวเรื่องที่จิตรกรในสมัยต่อ ๆ มานิยมวาดเป็นอันมาก ทั้งยังเป็นรากของปรัมปราอีกหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องนักบุญจอร์จปะทะพญานาค (Saint George and the Dragon)

อีกตัวอย่างหนึ่งของสาวน้อยเดือดร้อน คือ สีดาในมหากาพย์อินเดียเรื่อง รามายณะ (Ramayana) ซึ่งถูกท้าวราพณ์ บิดาของเธอเอง ลักพาตัวไปยังกรุงลงกาด้วยหมายจะทำเป็นภริยา และพระราม สามี ติดตามมาช่วยเหลือได้ในที่สุด

สมัยกลาง แก้

เทพนิยายยุโรปหลายเรื่องมีแก่นสารเป็นสาวน้อยเดือดร้อน อาทิ ราพันเซลที่ถูกแม่มดขังไว้ในหอคอย สโนว์ไวต์ที่ถูกแม่มดฆ่าด้วยแอปเปิลอาบยาพิษ ตลอดจนเจ้าหญิงนิทราที่หลับไปเพราะมนตราแม่มด โดยหญิงสาวเหล่านี้ล้วนได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าชายรูปงาม (prince charming) และต่อมาก็ครองคู่กัน

ไม่เพียงเทพนิยาย นิทานจำนวนหนึ่งก็ว่าด้วยสาวน้อยเดือดร้อน เช่น อาหรับราตรี (One Thousand and One Nights) ซึ่งตอนหนึ่งว่าด้วยเจ้าชายกามาร์ อัล-อักมาร์ (Qamar al-Aqmar) ขี่ม้าพยนต์ไปช่วยเจ้าหญิงแห่งซานา (Sana'a) คนรัก จากพ่อมดแห่งอิหร่าน และจากจักรพรรดิแห่งไบแซนไทน์ อาหรับราตรีตอนดังกล่าวยังส่งอิทธิพลต่อนิทานยุโรปอีกหลาย ๆ เรื่อง เป็นต้นว่า เกลโอมาด (Cleomades) ของ อาเดอเนส เลอ รัว (Adenes Le Roi) และ เรื่องเล่าของอัศวินสํารอง (The Squire's Tale) ของเจฟฟรีย์ ชอเซอร์[5] อนึ่ง สาวน้อยเดือดร้อนยังเป็นตัวละครหลักในนิยายรักใคร่สมัยมัชฌิมยุคด้วย เนื้อเรื่องส่วนใหญ่มักให้อัศวินพเนจรมาพบเธอถูกขังไว้บนหอคอยสูงตระหง่าน และช่วยเธอไว้ได้ เช่น ใน เรื่องเล่าของเสมียน (The Clerk's Tale) ของชอเซอร์นั้น หญิงสาวชื่อ กรีเซลดา (Griselda) ถูกไต่สวนและลงทัณฑ์หนักจนอัศวินผ่านมาช่วย

ในชีวิตจริง เมื่อ ค.ศ. 1399 มีการจัดตั้งกลุ่มอัศวิน ชื่อ วิสาหกิจโล่เขียวและพระแม่พิสุทธิ์ (Emprise de l'Escu vert à la Dame Blanche) ขึ้น มีวัตถุประสงค์ช่วยหญิงสาวที่ตกทุกข์ได้ยากเป็นหลัก โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากแนวคิดเรื่องรักเทิดทูน (courtly love)[6]

เนื้อเรื่องทำนองสาวน้อยเดือดร้อนนี้ก็มีอยู่ในวรรณกรรมประเภทชีวประวัตินักบุญ (hagiography) ด้วย ที่ได้รับความนิยมที่สุดก็คือ เรื่องนักบุญจอร์จ ป้องกันมิให้เจ้าหญิงองค์หนึ่งถูกพญานาคกิน

อ้างอิง แก้

  1. Robert K. Klepper, Silent Films, 1877-1996, A Critical Guide to 646 Movies, pub. McFarland & Company, ISBN 0-7864-2164-9
  2. Steinmeyer, Jim (2003). Hiding the Elephant: How Magicians Invented the Impossible. William Heinemann/Random House. p. 277–295. ISBN 0434013250.
  3. See, e.g., Alison Lurie, "Fairy Tale Liberation," The New York Review of Books, v. 15, n. 11 (Dec. 17, 1970) (germinal work in the field); Donald Haase, "Feminist Fairy-Tale Scholarship: A Critical Survey and Bibliography," Marvels & Tales: Journal of Fairy-Tale Studies v.14, n.1 (2000).
  4. 4.0 4.1 Booth, Michael (1965). English Melodrama. Herbert Jenkins.
  5. Ulrich Marzolph, Richard van Leeuwen, Hassan Wassouf (2004). The Arabian Nights Encyclopedia. ABC-CLIO. pp. 172–4. ISBN 1576072045.
  6. Lalande, Denis (1988). Jean II Le Meingre, dit Boucicaut (1366–1421): étude d'une biographie héroïque.