สัมโมหวิโนทนี เป็นคัมภีร์อรรถกถาอธิบายความในคัมภีร์วิภังค์ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ 2 ในบรรดาพระอภิธรรมปิฎก 7 คัมภีร์ คือ ธัมมสังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมกและปัฏฐาน คัมภีร์นี้เป็นผลงานของพระพุทธโฆสะ หรือพระพุทธโฆสาจารย์แต่งขึ้นโดยอาศัยอรรถกถาภาษาสิงหลชื่อมหาปัจจรีย์[1] [2] [3]

ผู้แต่ง แก้

ในนิคมคาถาของสัมโมหวิโนทนี ระบุไว้ว่า พระพุทธโฆสะเป็นผู้รจนาคัมภีร์นี้ขึ้นโดยรับการอาราธณาจากพระเถระรูปหนึ่งในคณะวัดมหาวิหาร แห่งลังกาทวีป ซึ่งท่านพักอาศัยอยู่และได้แต่งคัมภีร์หลายคัมภีร์ ณ สถานที่แห่งนี้ โดยการรจนาของท่านได้ทำการรวมเอาสาระแห่งอรรถกถาของอาจารย์ในอดีตไว้[4] ทั้งนี้ คาดว่าสัมโมหวิโนทนีรจนาขึ้นหลังคัมภีร์วิสุทธิมรรค[5]

เนื้อหา แก้

คัมภีร์สัมโมหวิโนทนีแบ่งออกเป็น 40 ภาณวาร (หมวด) เนื้อหาหลักเป็นการอธิบายหลักธรรมอันลึกซึ้งของพระอภิธรรม ซึ่งพระอภิธรรมนั้นเป็นการแจกแจงข้อธรรมล้วน ๆ ไม่มีเรื่องราวอธิบายประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของคัมภีร์วิภังค์ อันเป็นคัมภีร์ที่ 2 จากทั้งหมด 7 คัมภีร์ของพระอภิธรรมปิฎกนั้น เป็นการยกหมวดธรรมขึ้นตั้งเป็นหัวข้อเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด แต่แม้จะเป็นการอธิบายข้อธรรมโดยละเอียด ก็ยังยากที่จะพิจารณาให้เข้าใจ เนื่องจากเป็นข้อมูลเชิงลึก

ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้รจนาจึงใช้วิธีการอธิบายด้วยการยกอุปมาบ้าง ด้วยการยกตัวอย่างจากเรื่องราวจากพุทธประวัติของพระโคตมพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าในอดีตบ้าง เรื่องราวในอดีตบ้าง มีการวินิฉัยคำศัทพ์ที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์บ้าง (วินิจฉัยโดยอรรถ) นอกจากนี้ ยังมีการอธิบายข้อธรรม โดยโยงกับวิธีการปฏิบัติตามแนวทางวิปัสสนาต่าง ๆ เช่น การพิจารณาอสุภกรรมฐาน และตามแนวทางสติปัฏฐาน 4 เป็นอาทิ

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่า สัมโมหวิโนทนี มีลักษณะเป็นทั้งสารานุกรม โดยการอธิบายหลักธรรมด้วยการอุปมาและอ้างอิงข้อมูลและเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาแล้ว คัมภีร์นี้ยังมีลักษณะเป็นพจนานุกรม ด้วยการวินิฉัยคำศัทพ์ที่ปรากฏ และยังมีลักษณะเป็นคู่มือในการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมที่ปรากฏในพระไตรปิฎก ในข้อหลังนี้มีส่วนทำให้คัมภีร์สัมโมหวิโนทนี มีส่วนคล้ายคลึลงกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค ผลงานอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธโฆสะอยู่ไม่น้อย ดังที่ระบุไว้แล้วว่า คัมภีร์สัมโมหวิโนทนีนี้รจนาขึ้นหลังคัมภีร์วิสุทธิมรรค จึงอาจได้รับอิทธิพลจากกันไม่มาก็น้อย [6]

ตัวอย่างเนื้อหา แก้

ตัวอย่างการอธิบายศัทพ์วินิฉัย เช่น ในอายตนวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ อายตนวิภังคนิเทศ (บาลีข้อ 97) วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ ท่านผู้รจนาได้ทำการอธิบายศัพท์ที่ปรากฏในเนื้อความตอนนี้เช่น "สุณาตีติ โสตํ ชื่อว่าโสต เพราะอรรถว่าได้ยิน" และ "อตฺตโน ลกฺขณํ ธารยตีติ ธมฺมา ชื่อว่าธรรม เพราะอรรถว่าย่อมทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน" เป็นต้น [7]

ตัวอย่างการอธิบายโดยยกอุปมาอุปมัย เช่นใน ปัจจยาการวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ อรรถกถาปฏิจจสมุปปาทวิภังค์ ว่าด้วยการอธิบายปฏิจจสมุปบาท ซึ่งพระอรรถกถาจารย์ ได้ใช้วิธีการอุปมาลักษณะต่าง ๆ เพื่ออธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทได้อย่างแหลมคมและเห็นภาพ อีกทั้งยังมีความละเอียดลึกซึ้ง เฉพาะวิภังค์นี้มีความยาวกว่า 100 หน้ากระดาษพิมพ์แบบสมัยใหม่ แต่โดยคร่าว ๆ แล้วท่านผู้รจนาได้อธิบายนัยแห่งปฏิจจสมุปบาทได้ 4 นัยหลัก ๆ เพื่อแสดงถึงเหตุและปัจจัยอันก่อให้เกิดภพชาติ และการเวียนว่ายตายเกิดไม่มีที่สิ้นสุด และในท้ายที่สุดผู้รจนาย้ำว่า บัณฑิต "พึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ ประกอบความ เพียรเนือง ๆ ก็จะพึงได้ความหยั่งลงในประเภทแห่งปัจจยาการอันลึกซึ้งนี้ได้ [8]

ตัวอย่างการอธิบายโดยยกเรื่องราว เช่นในอารรถกถาขุททกวัตถุวิภังค์ ว่าด้วยความมัวเมาต่าง ๆ ท่านผู้รจนาได้ยกตัวอย่างเรื่องเล่าและตัวอย่างจากพุทธประวัติมาประกอบให้เกิดความเข้าใจเด่นชัดขึ้น เช่น ในการอธิบายส่าวนของอัตริจฉตานิทเทส หรือการอธิบายความอยากได้เกินประมาณ ท่านได้ยกตัวอย่าง เรื่องราวของพระเจ้าพาราณสีหลงไหลนางกินนรีจนถึงกับทิ้งพระเทวี แต่สุดท้ายก็ต้องสูญเสียทั้งพระเทวีและนางกินนรีเพราะความละโมบ เป็นต้น [9]

ตัวอย่างการอธิบายแนวทางการปฏิบัติ เช่นการระบุถึงวิธีมนสิการ หรือพิจารณาธาตุโดยอาการต่าง ๆ 10 อย่างอันประกอบขึ้นมาเป็นร่างกาย ในส่วนของธาตุวิภังค์ สุตตันตภาชนีย์ ธาตุวิภังคนิเทศ วรรณนาสุตตันตภาชนีย์ โดยท่านผู้รจนาได้เน้นหนักว่า การวิปัสสนาเพื่อบรรลุพระอรหัตนั้น "พึงชำระปาริสุทธิศีล ๔ ให้บริสุทธิ์ เพราะว่าการเจริญกรรมฐานย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้มีศีล" แล้วชี้ว่า "วิธีทำการชำระจตุปาริสุทธิศีลนั้น พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้ในวิสุทธิมรรคนั่นแหละ" จากนั้นจึงพิจารณา หรือมนสิการ อาการต่าง ๆ ดังนี้ เช่น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ เป็นต้น [10]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง แก้

อ้างอิง แก้

  1. วรรณคดีบาลี. หน้า 78
  2. The Life and Work of Buddhaghosa. หน้า 84
  3. ประวัติคัมภีร์บาลี. หน้า 104
  4. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 2 หน้า 1041 - 1042
  5. Ven. P. A. Payutto. A note on interpreting the principle of Dependent Origination
  6. Ven. P. A. Payutto. A note on interpreting the principle of Dependent Origination
  7. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 1 หน้า 163
  8. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 1 หน้า 438 - 574
  9. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 2 หน้า 871 - 872
  10. พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 1 หน้า 209 - 266
  11. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 107
  12. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 112
  13. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 114
  14. พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี หน้า 116

บรรณานุกรม แก้

  • Bimala Charan Law. (1923). The Life and Work of Buddhaghosa. Calcutta : Thacker, Spink & Co.
  • Ven. P. A. Payutto. A note on interpreting the principle of Dependent Origination ใน http://www.abuddhistlibrary.com/Buddhism/B%20-%20Theravada/Teachers/Ven%20Payutto/Dependent%20Origination/Appendix.htm
  • คณาจารย์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2550). วรรณคดีบาลี. กรุงเทพฯ. กองวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  • พระมหาอดิศร ถิรสีโล. (2543). ประวัติคัมภีร์บาลี. กรุงเทพมหานคร. มหามกุฏราชวิทยาลัย.
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 1
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. สัมโมหวิโนทนี อรรถกถาวิภังค์. พระอภิธรรมปิฎก เล่ม 2 ภาค 2