ปุคคลบัญญัติ หรือ ปุคคลบัญญัติปกรณ์ เป็นส่วนหนึ่งของพระอภิธรรมปิฎก และมีเนื้อหาน้อยที่สุดในบรรดาคัมภีร์ทั้ง 7 ของพระอภิธรรม อีกทั้งยังมีลักษณะต่างจากคัมภีร์อื่น ๆ ตรงที่กล่าวถึงบุคคล ไม่ได้เน้นหนักที่ปรมัตถธรรม หรือเรื่องจิต ดังในคัมภีร์อื่น ๆ ของอภิธรรม นอกจากนี้ยังมีลักษณะการเรียบเรียงภาษาคล้ายกับประโยคบอกเล่าในพระสุตตันตปิฎก โดยเฉพาะในส่วนของอังคุตตรนิกาย และสังคีติสูตร ในทีฆนิกาย ขณะที่พระอภิธรรมปิฎกใช้สำนวนภาษาแบบแจกแจงเป็นข้อ ๆ หรือรายละเอียดปลีกย่อย[1] และในพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย คัมภีร์ปุคคลบัญญัติ มักรวมเป็นเล่มเดียวกับคัมภีร์ธาตุกถา เนื่องจากมีเนื้อหาไม่มากนัก

เนื้อหา

แก้

ปุคคลบัญญัติ เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยการกำหนดลักษณะของบุคคลประเภทต่าง ๆ โดยบัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่าง ๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า “โสดาบัน” ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์ 3 ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น [2]

ปุคคลบัญญัติเริ่มต้นด้วยการตั้งมาติกาจำแนกบัญญัติทั้ง 6 ประเภท ดังในพระบาลีว่า "ฉ ปญฺญตฺติโย – ขนฺธปญฺญตฺติ, อายตนปญฺญตฺติ, ธาตุปญฺญตฺติ, สจฺจปญฺญตฺติ, อินฺทฺริยปญฺญตฺติ, ปุคฺคลปญฺญตฺตีติฯ" แปลว่า บัญญัติ 6 ประการ คือ 1. ขันธบัญญัติ (บัญญัติว่าเป็นขันธ์) 2. อายตนบัญญัติ (บัญญัติว่าเป็นอายตนะ) 3. ธาตุบัญญัติ (บัญญัติว่าเป็นธาตุ) 4. สัจจบัญญัติ (บัญญัติวาเป็นสัจจะ) 5. อินทริยบัญญัติ (บัญญัติว่าเป็นอินทรีย์) 6. ปุคคลบัญญัติ (บัญญัติว่าเป็นบุคคล) [3] [4] โดยบัญญัติทั้ง 6 นี้ ยังแบ่งย่อยออกเป็นขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 สัจจะ 4 (อริยสัจ 4) อินทรีย์ 22 [5]

ส่วนบัญญัติของความเป็นบุคคลประเภทต่าง ๆ มีการลงรายละเอียดมากขึ้นและแบ่งออกเป็นจำนวนต่าง ๆ โดยตั้งมาติกาแล้วตามด้วยจำนวนของบุคคลในกลุ่มมาติกานั้น ๆ เช่น เอกกมาติกา ว่าด้วยบุคคล 1 จำพวก เช่น บุคคลผู้ที่เป็นปุถุชน บุคคลผู้ควรแก่การบรรลุมรรคผล บุคคลผู้เป็นอริยะ บุคคลผู้ไม่เป็นอริยะ เป็นต้น [6] ไล่เรียงมาจนถึงทสกมาติกา ว่าด้วยบุคคล 10 จำพวก ได้แก่ ความสำเร็จของพระอริยบุคคล ในกามาวจรภูมินี้ 5 จำพวก และความสำเร็จของพระอริยบุคคล เมื่อละกามาวจรภูมิ นี้ไปแล้ว 5 จำพวก [7] เป็นต้น ซึ่ง 5 ประเภทแรก ได้แก่พระโสดาบัน 3 ปรเภท กับพระสกทาคามี และพระอรหันต์ ส่วน 5 ประเภทหลัง ได้แก่พระอนาคามี 5 ประเภท ผู้ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาส [8]

คัมภีร์ที่เกี่ยวข้อง

แก้
  1. ปุคคลบัญญัติปกรณ์อรรถกถา หรือปรมัตถทีปนีฉบับพระพุทธโฆสะ หรือ ปัญจปกรณัฏฐกถา พระพุทธโฆสะ รจนาขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 5 [9]
  2. ปุคคลบัญญัติมูลฎีกา หรือปัญจปกรณ์มูลฎีกา หรือปัญจปกรณ์ปกาสินี หรือลีนัตถโชติกา หรือลีนัตถโชตนา หรือลีนัตถปทวัณณนา พระอานันทะเถระ รจนาขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 6 หรือราวศตวรรษที่ 8 - 9 [10]
  3. ปุคคลบัญญัติอนุฎีกา หรือปัญจปกรณ์อนุฎีกา หรือลีนัตถวัณณนา หรือลีนัตถปกาสินี หรืออภิธัมมอนุฎีกา พระจุลลธัมปาลเถระ รจนาขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 6 หรือราวศตวรรษที่ 8 - 9 [11]
  4. ปุคคลบัญญัติโยชนา หรือปุคคลบัญญัติ อัตถโยชนา พระญาณกิตติ เมืองเชียงใหม่ รจนาขึ้นเมื่อศตวรรษที่ 15 [12]
  5. ปุคคลบัญญัติคัณฐี ไม่ระบุชื่อผู้แต่ง [13]

อ้างอิง

แก้
  1. Nyanatiloka Thera. (2008). Guide Through The Abhidhamma Pitaka หน้า 80
  2. พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ หน้า 116
  3. พระไตรปิฎกบาลี ฉบับฉัฏฐสังคายนา
  4. พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 155
  5. Karl H. Potter. (2011). Encyclopedia of Indian Philosophies Vol. VII
  6. พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 160
  7. พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 178
  8. สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน หน้า 58
  9. Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012). An Analysis of the Pali Canon and a Reference Table of Pali Literature หน้า 176
  10. Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012). An Analysis of the Pali Canon and a Reference Table of Pali Literature หน้า 176
  11. Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012). An Analysis of the Pali Canon and a Reference Table of Pali Literature หน้า 176
  12. Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012). An Analysis of the Pali Canon and a Reference Table of Pali Literature หน้า 176
  13. Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012). An Analysis of the Pali Canon and a Reference Table of Pali Literature หน้า 176

บรรณานุกรม

แก้
  • พระไตรปิฎกฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย, พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 155
  • พระไตรปิฎกบาลี ฉบับฉัฏฐสังคายนา, อภิธมฺมปิฎเก, ปุคฺคลปญฺญตฺติปาฬิ, มาติกา.
  • สุชีพ ปุญญานุภาพ. (2550). พระไตรปิฎกฉบับประชาชน. กรุงเทพฯ . กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม.
  • พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต). (2551). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 11.
  • Nyanatiloka Thera. (2008). Guide Through The Abhidhamma Pitaka. Kandy. Sri Lanka. Buddhist Publication Society.
  • Karl H. Potter. (2011). Encyclopedia of Indian Philosophies Vol. VII: Abhidharma Buddhism to 150 A.D. Delhi. Motilal Banarsidass.
  • Bhikkhu Nyanatusita (Compiler), R. Webb (Editor). (2012). An Analysis of the Pali Canon and a Reference Table of Pali Literature. Sri Lanka. Buddhist Publication Society.