สวดคฤหัสถ์
สวดคฤหัสถ์ หรือ สวดกะหัด คือการสวดชนิดหนึ่ง เป็นการเล่นที่นิยมเล่นในงานศพ เป็นการเล่นเลียนแบบการสวดพระอภิธรรมของพระสงฆ์ และเล่นในตอนดึกหลังจากพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมเสร็จแล้ว[1]
การแสดงจะมีบทสวด "พื้น" อยู่ 4 อย่าง คือ พื้นพระอภิธรรม (สวดบทพระอภิธรรม) พื้นโพชฌงค์มอญหรือหับเผย พื้นพระมาลัย (สวดเรื่องพระมาลัย) และพื้นมหาชัย 1 แต่ที่นิยมใช้สวดกันอย่างแพร่หลาย คือพื้นพระอภิธรรม แต่เดิมเป็นการละเล่นของพระสงฆ์ซึ่งสวดมนต์แล้วออกลำนำเป็นภาษาต่างๆ มีปรากฏในกฎหมายตราสามดวง ห้ามไม่ให้พระสงฆ์สวดออกลำนำแบบนี้ จากนั้นจึงแพร่หลายมาในหมู่ชาวบ้าน และเริ่มมีการแต่งตัวตามภาษาที่ใช้สวด[2]
การเล่น
แก้สถานที่เล่นอาจเล่นตามวัด หรือเล่นที่บ้าน จะเล่นกันแต่ตอนค่ำ บ้างก็เลิกจนรุ่งสว่าง ผู้เล่นสวดคฤหัสถ์มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เรียกผู้สวดว่า “นักสวด” และเรียกผู้สวดคณะหนึ่งๆ ว่า “สำรับ” โดยแบ่งนักสวดเป็น 2 ประเภทคือ นักสวดอาชีพ และนักสวดสมัครเล่น นักสวดอาชีพมีทั้งสำรับพระสงฆ์ และสำรับฆราวาส สำรับหนึ่งมี 4 คน ที่นั่งสำหรับสวดเรียกว่า "ร้าน" ผู้ที่สวดทุกคนถือตาลปัตร ตั้งตู้พระธรรมข้างหน้า ตำแหน่งนักสวดทั้ง 4 คนนั่งเรียงจากซ้ายไปขวาของผู้ชมดังนี้ [3]
- ตัวตุ๊ย คือตัวตลก มีหน้าที่ทำความขบขันให้แก่ผู้ชม แต่จะต้องอยู่ในแบบไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางไป
- แม่คู่ (หรือคอหนึ่ง) มีหน้าที่ขึ้นต้นบท และนำทางที่จะแยกการแสดงออกไปเล่นในชุดใด ยังเป็นตัวซักไซ้ให้เกิดความขบขันจากตัวตลกด้วย
- คอสอง มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยแม่คู่ คอยซักสอดเพิ่มเติม
- ตัวภาษา เป็นตัวภาษาต่างๆ และตัวนาง ผู้ทำหน้าที่นี้จะต้องร้องเพลงได้ดี พูดเลียนสำเนียงภาษาต่างๆได้ชัดเจน
เมื่อเริ่มสวดคฤหัสถ์นักสวดทั้งหมดจะใช้ตาลปัตรบังหน้าเหมือนพระสวดพระอภิธรรม หากเป็นบทสวด คฤหัสถ์ของ “สำรับพระ” จะขึ้นต้นบทสวดสรรเสริญคุณพระรัตนตรัยพร้อมกัน 3 จบ แล้วจึงขึ้นบทสวดพระอภิธรรมสังคณี ตัวตุ๊ยก็จะขยับมือข้างหนึ่งออกท่ารำขณะที่ยังถือตาลปัตรอยู่ แม่คู่คนที่อยู่ใกล้จึงยึดมือไว้สักอึดใจหนึ่ง แต่ตัวตุ๊ยยังขยับมือรำอีกแต่จะเป็น 2 มือ หลังจากนั้นจึงมีการเจรจาระหว่างตัวตุ๊ยและแม่คู่
การเริ่มลองเสียงจะร้องว่า "เออเฮอะ เออๆๆๆ" หลายๆครั้ง ต่อจากนี้จึงขึ้นบท "เอ๋ย กุ...สลา ฯลฯ" แล้วจึงสวดแยกออกร้องเพลง ตัวตุ๊ยกับตัวภาษาก็ขึ้นรำแสดงท่าทาง มีการตี และตบกันด้วยตาลปัตรบ้างตามสมควร แล้วจึงหันเข้าบทพระธรรม ตัวภาษาตีกลองเข้าจังหวะเพลง ตัวตุ๊ยเข้าแทรกประกอบ แล้วจึงร้องลำจีนกำกับท้ายกราวต่อจากนี้จึงแยกออกชุดจีน และชุดอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งการแสดงชุดต่าง ๆ ยังมีอีกมากแล้วแต่ทางคณะเช่น ชุดภาษาญวน มอญ แขก ลาว พม่า เขมร ฝรั่ง เพลงฉ่อย และละคร เป็นต้น ไม่มีการวางลำดับตายตัว
การเล่นพื้นพระอภิธรรม
แก้ในการเล่นพื้นพระอภิธรรม ทั้งสี่คนจะสวดบทพระสังคิณี เริ่มจากบทสวดภาษาบาลีก่อน แล้วจึงเจือลำนำทีละน้อยจนเป็นลำนำล้วน เมื่อท้ายตู้กับหัวตู้แต่งตัวพร้อมแล้วจะร้องลำนำเป็นเรื่องต่างๆ เช่นออกภาษาไทยจะเล่นเรื่องไกรทอง รามเกียรติ์เป็นต้น ถ้าออกภาษาจีน จะนิยมเล่นเรื่อง ตั๋งโต๊ะ-เตียวเสี้ยน (สามก๊ก) ไกโซบุ๋น และจีนไหหลำ ซึ่งเป็นการเจรจาโต้ตอบแบบจำอวด ถ้าออกภาษาลาว นิยมเล่นเพลงเส่เหลเมา ถ้าออกภาษาญวน ใช้บทสวดสังคโหและใช้เพลงญวนทอดแห[2]
อิทธิพล
แก้ในระยะต่อมาเมื่อการเล่นสวดคฤหัสถ์เสื่อมความนิยมลงไป ได้มีอิทธิพลต่อการละเล่นในยุคต่อมาคือ การเล่นจำอวด ปี่พาทย์ออกสิบสองภาษา การออกหางเครื่องลูกบทของมโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องลูกบทของลิเก[2]
อ้างอิง
แก้- ↑ สวดคฤหัสถ์[ลิงก์เสีย]
- ↑ 2.0 2.1 2.2 ภาษิต จิตรภาษา. สวดคฤหัสถ์. ศิลปวัฒนธรรม. 17(3): มกราคม 2539. หน้า 68-71
- ↑ "การสวดคฤหัสถ์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2005-02-28. สืบค้นเมื่อ 2008-10-04.