ในประวัติศาสตร์นิพนธ์ยุโรปเหนือ ศัพท์ สมัยฝรั่งเศส (อังกฤษ: French period; ฝรั่งเศส: Période française; เยอรมัน: Franzosenzeit; ดัตช์: Franse tijd) สื่อถึงช่วง ค.ศ. 1794 ถึง 1815 ซึ่งส่วนใหญ่ของยุโรปเหนือถูกฝรั่งเศสสมัยสาธารณรัฐที่ 1 หรือสมัยนโปเลียนควบคุม[1] ระยะเวลาของสมัยนี้แตกต่างกันไปตามท้องที่ที่เกี่ยวข้อง[2]

จักรวรรดิฝรั่งเศสและรัฐบริวารใน ค.ศ. 1812
  จักรวรรดิฝรั่งเศสใน ค.ศ. 1804
  การครอบครองของฝรั่งเศสหลัง ค.ศ. 1804
                     เขตอิทธิพลของฝรั่งเศส

ประวัติ แก้

 
จักรพรรดินโปเลียนเข้าร่วมพิธีปล่อยเรือ ฟรีทลันท์ ที่แอนต์เวิร์ป (ปัจจุบันอยู่ในประเทศเบลเยียม) ใน ค.ศ. 1810

หลังยุทธการเอาสเทอร์ลิทซ์และสงครามสหสัมพันธมิตรครั้งที่สาม นโปเลียนทรงยุบจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ผนวกดินแดนบางส่วนของออสเตรียและรัฐเยอรมันบางรัฐเข้ากับฝรั่งเศส และจัดตั้งรัฐเยอรมันขึ้นเป็นสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์ นโปเลียนเป็น "ผู้พิทักษ์" ของสมาพันธรัฐ แต่เนื่องจากสมาพันธรัฐเป็นพันธมิตรทางทหารเหนือสิ่งอื่นใด นโยบายการต่างประเทศจึงถูกฝรั่งเศสครอบงำอย่างเต็มรูปแบบ และสมาพันธรัฐต้องจัดหากองกำลังทหารจำนวนมากให้แก่ฝรั่งเศส ความกังวลต่อการเกณฑ์ทหารก่อให้เกิดการจลาจลที่มีชื่อว่าสงครามชาวไร่ชาวนาใน ค.ศ. 1798 ในพื้นที่ที่ปัจจุบันคือประเทศเบลเยียมและลักเซมเบิร์ก ส่วนเยอรมนี นโปเลียนจัดตั้งรัฐใหม่สองรัฐ คือ แกรนด์ดัชชีเบิร์กกับราชอาณาจักรเว็สท์ฟาเลินซึ่งพระองค์ทรงยกให้แก่ฌออากีม มูว์รา นายพลของพระองค์ กับเฌโรม โบนาปาร์ต พระอนุชาของพระองค์ตามลำดับ เนเธอร์แลนด์ของออสเตรียและราชรัฐมุขนายกลีแยฌถูกผนวกเข้ากับฝรั่งเศสและกลายเป็นจังหวัด

ระหว่างการครอบครองของฝรั่งเศสมีการนำประมวลกฎหมายนโปเลียนมาใช้ ทำให้ชาวเยอรมันรับรู้ถึงแนวคิดการปฏิวัติฝรั่งเศสซึ่งรวมถึงชาตินิยมด้วย ในปรัสเซีย (ซึ่งไม่ได้อยู่ในสมาพันธรัฐแห่งแม่น้ำไรน์แต่ยังคงถูกฝรั่งเศสครอบครอง) สถานการณ์นี้ก่อให้เกิดแรงขับเคลื่อนต่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ การเมือง สังคม และการทหารซึ่งต่อมาจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในช่วงสงครามประกาศอิสรภาพ ส่วนในสมาพันธรัฐก็มีการจลาจลต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสอยู่แล้ว และหลังกองทัพฝรั่งเศสประสบความพ่ายแพ้อย่างหนักในการรุกรานรัสเซีย ลูทวิช ยอร์ค ฟ็อน วาร์เทินบวร์ค ผู้บัญชาการของกองพลปรัสเซีย ลงนามสงบศึกกับรัสเซีย ซึ่งถือเป็นตัวกระตุ้นสงครามประกาศอิสรภาพ

อ้างอิง แก้

  1. Eduard Rothert: Rheinland-Westfalen im Wechsel der Zeiten. Düsseldorf 1900; Online-Präsentation der Universitätsbibliothek der Heinrich-Heine-Universität Düsseldorf, abgerufen am 21. März 2011
  2. Das Rheinland unter den Franzosen 1794–1815. เก็บถาวร 2010-10-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Landschaftsverband Rheinland (LVR), abgerufen 18. März 2011