สมัชชาสหพันธ์ (เยอรมนี)
สมัชชาสหพันธ์ (เยอรมัน: Bundesversammlung บุนเดิสแฟร์ซัมลุง) คือคณะผู้เลือกตั้งประธานาธิบดีเยอรมนี ประกอบด้วยสมาชิกสองประเภท ประเภทแรกคือผู้แทนราษฎร (อันหมายถึงสมาชิกทั้งหมดของสภาสหพันธ์) ประเภทที่สองคือผู้แทนรัฐในจำนวนเท่ากับสมาชิกประเภทแรก (ซึ่งถูกสรรหาโดยสิบหกสภารัฐท้องถิ่น)
ผู้ออกหมายเรียกประชุมสมัชชาสหพันธ์คือประธานสภาสหพันธ์ที่อยู่ในตำแหน่ง ซึ่งจะมีการเรียกประชุมไม่กี่เดือนก่อนหน้าที่วาระของประธานาธิบดีจะหมดลง กฎหมายพื้นฐานแห่งสหพันธ์ฯกำหนดให้จัดประชุมสมัชชาสหพันธ์ไม่ล่วงเลยสามสิบวันก่อนการหมดวาระของประธานาธิบดี เพื่อที่บรรดาสภารัฐท้องถิ่นจะได้มีเวลาในการเลือกผู้แทนรัฐ แต่ในกรณีที่ประธานาธิบดีลาออกฉับพลันหรือถึงแก่อสัญกรรม ให้จัดประชุมภายในสามสิบวัน
ในการประชุมสมัชชาสหพันธ์ พรรคการเมืองใดก็ได้ในสภาสหพันธ์สามารถเสนอชื่อแคนดิเดตประธานาธิบดี การลงคะแนนเสียงทำได้ไม่เกินสามครั้ง เป็นการลงคะแนนลับและไม่มีการอภิปรายก่อนลงคะแนน[1] แคนดิเดตจะต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ของสมัชชาสหพันธ์ จึงจะถือว่าได้รับเลือก แต่หากในการลงคะแนนสองครั้งแรกยังไม่มีผู้ใดได้รับคะแนนเสียงถึงเกณฑ์ดังกล่าว ในการลงคะแนนครั้งที่สาม ให้ถือว่าผู้ได้รับคะแนนเสียงมากสุดในบรรดาแคนดิเดตเป็นผู้ได้รับเลือกโดยปริยาย
การประชุมสมัชชาสหพันธ์สมัยแรกมีขึ้นในปี 1949 (ในสมัยที่ยังเป็นเยอรมนีตะวันตก) ซึ่งมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 804 คน ได้ประธานาธิบดีคนแรกคือเทโอดอร์ ฮ็อยส์ การประชุมสมัยล่าสุดคือสมัยที่ 17 มีขึ้นในปี 2022 ซึ่งมีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 1,472 คน การประชุมสมัยถัดไปจะมีขึ้นไม่เกินกุมภาพันธ์ 2027
สมัยการประชุม
แก้วันที่ | ที่ประชุม | ได้ประธานาธิบดี | พรรค | ครั้ง | คะแนน | |
---|---|---|---|---|---|---|
1 | 12 ก.ย. 1949 | บุนเดิสเฮาส์ บ็อน | เทโอดอร์ ฮ็อยส์ | FDP | 2 | 416 จาก 804 |
2 | 17 ก.ค. 1954 | ศาลาโอสท์พร็อยเซิน เบอร์ลิน | เทโอดอร์ ฮ็อยส์ | FDP | 1 | 871 จาก 1018 |
3 | 1 ก.ค. 1959 | ศาลาโอสท์พร็อยเซิน เบอร์ลิน | ไฮน์ริช ลึพเคอ | CDU | 2 | 526 จาก 1038 |
4 | 1 ก.ค. 1964 | ศาลาโอสท์พร็อยเซิน เบอร์ลิน | ไฮน์ริช ลึพเคอ | CDU | 1 | 710 จาก 1042 |
5 | 5 มี.ค. 1969 | ศาลาโอสท์พร็อยเซิน เบอร์ลิน | กุสทัฟ ไฮเนอมัน | SPD | 3 | 512 จาก 1036 |
6 | 15 พ.ค. 1974 | ศาลาเบทโฮเฟิน บ็อน | วัลเทอร์ เชล | FDP | 1 | 530 จาก 1036 |
7 | 23 พ.ค. 1979 | ศาลาเบทโฮเฟิน บ็อน | คาร์ล คาร์สเทินส์ | CDU | 1 | 528 จาก 1036 |
8 | 23 พ.ค. 1984 | ศาลาเบทโฮเฟิน บ็อน | ริชชาร์ท ฟ็อน ไวทซ์เซ็คเคอร์ | CDU | 1 | 832 จาก 1040 |
9 | 23 พ.ค. 1989 | ศาลาเบทโฮเฟิน บ็อน | ริชชาร์ท ฟ็อน ไวทซ์เซ็คเคอร์ | CDU | 1 | 881 จาก 1038 |
10 | 23 พ.ค. 1994 | อาคารไรชส์ทาค เบอร์ลิน | โรมัน แฮร์ทโซค | CDU | 3 | 696 จาก 1324 |
11 | 23 พ.ค. 1999 | อาคารไรชส์ทาค เบอร์ลิน | โยฮันเนิส เรา | SPD | 2 | 690 จาก 1333 |
12 | 23 พ.ค. 2004 | อาคารไรชส์ทาค เบอร์ลิน | ฮอสท์ เคอเลอร์ | CDU | 1 | 604 จาก 1204 |
13 | 23 พ.ค. 2009 | อาคารไรชส์ทาค เบอร์ลิน | ฮอสท์ เคอเลอร์ | CDU | 1 | 613 จาก 1224 |
14 | 30 มิ.ย. 2010 | อาคารไรชส์ทาค เบอร์ลิน | คริสทีอัน วุล์ฟ | CDU | 3 | 625 จาก 1242 |
15 | 18 มี.ค. 2012 | อาคารไรชส์ทาค เบอร์ลิน | โยอาคิม เกาค์ | ไม่มีพรรค | 1 | 991 จาก 1228 |
16 | 12 ก.พ. 2017 | อาคารไรชส์ทาค เบอร์ลิน | ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ | SPD | 1 | 931 จาก 1253 |
17 | 13 ก.พ. 2022 | ศาลาเพาล์-เลอเบอ เบอร์ลิน | ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ | SPD | 1 | 1045 จาก 1472 |
ดูเพิ่ม
แก้- สภาสหพันธ์ (Bundestag)
- คณะมนตรีสหพันธ์ (Bundesrat)
อ้างอิง
แก้- ↑ Köker, Philipp (2019). "Risk vs Reward Strategies in Indirect Presidential Elections: Political Parties and the Selection of Presidential Electors in Germany, 1949–2017". German Politics (ภาษาอังกฤษ). 28 (4): 602–620. doi:10.1080/09644008.2019.1590549. ISSN 0964-4008. S2CID 159163706.