สภาเซมสกี
สภาเซมสกี (รัสเซีย: зе́мский собо́р, สัทอักษรสากล: [ˈzʲemskʲɪj sɐˈbor], แปลตรงตัว: 'สภาปรึกษาราชการแผ่นดิน') เป็นรัฐสภาของอาณาจักรซาร์รัสเซีย โดยแบ่งประเภทสมาชิกตามหลักฐานันดรแห่งราชอาณาจักร ดำรงอยู่ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 16 และ 17
Земский собор | |
ภาพรวมหน่วยงาน | |
---|---|
ก่อตั้ง | ค.ศ. 1549 |
หน่วยงานก่อนหน้า | |
ยุบเลิก | ค.ศ. 1684 |
หน่วยงานสืบทอด | |
สำนักงานใหญ่ | เครมลินแห่งมอสโก |
หน่วยงานแม่ | สภาดูมาโบยาร์ |
สมาชิกสภาเซมสกีแบ่งออกเป็นสามชนชั้นในสังคมศักดินา ได้แก่ ขุนนางและข้าราชการระดับสูง สมัชชาศักดิ์สิทธิ์ ของบาทหลวงนิกายออร์ทอดอกซ์ และผู้แทนของ "สามัญชน" ประกอบด้วยเหล่าพ่อค้าและชาวเมือง[1] สภาเซมสกีอาจถูกจัดขึ้นโดยพระเจ้าซาร์ อัครบิดร หรือสภาดูมาโบยาร์ ก็ได้ เพื่อตัดสินปัญหาขัดแย้งหรือผ่านข้อกฎหมายสำคัญ[2]
ซาร์อีวานผู้โหดเหี้ยมเรียกประชุมสภาเซมสกีเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1549 การเรียกประชุมหลาย ๆ ครั้งมีจุดประสงค์เพื่อเป็นตรายาง แต่ในอีกทางหนึ่งก็เป็นไปเพื่อรับฟังแนวคิดจากขุนนางชั้นผู้น้อยและชาวเมืองเช่นกัน หลังจากการสิ้นสุดราชวงศ์รูลิค ซึ่งก่อให้เกิดวิกฤตการการสืบราชสมบัติ สภาเซมสกีได้ลงมติเลือกโบริส โกดูนอฟ ขึ้นเป็นพระเจ้าซาร์พระองค์ใหม่ในปี ค.ศ. 1598 เป็นสาเหตุหนึ่งซึ่งนำไปสู่ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวาย ภายหลังจากการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าซาร์มีไฮล์ที่ 1 ในปี ค.ศ. 1613 สภาเซมสกีก็เริ่มประชุมกันปีละครั้ง แต่เมื่อราชวงศ์โรมานอฟเริ่มมีความมั่นคงขึ้น สภาเซมสกีก็เริ่มสูญเสียอำนาจ โดยหลังจากการประชุมเพื่อลงนามในสนธิสัญญาเพเรยาสลาฟ เมื่อปี ค.ศ. 1654 ก็ไม่มีการเรียกประชุมอีกเลยเป็นเวลาสามสิบปี สภาเซมสกีครั้งสุดท้ายถูกจัดขึ้นในคริสต์ทศวรรษที่ 1680 เพื่อยกเลิกระบบ มานิสชิสเตโว (mestnichestvo) และลงนามในสนธิสัญญา"สันติภาพตลอดกาล" กับโปแลนด์
สภาเซมสกีแห่งปี ค.ศ. 1922
แก้สภาเซมสกีแห่งแคว้นอาร์มูร์ (Приамурский Земский Собор) ของรัฐบาลเฉพาะกาลปรีอาร์มูรีเย (Provisional Priamurye Government) ได้รับการจัดตั้งขึ้นในเมืองวลาดีวอสตอค ในวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1922 โดยมิฮาอิล ดิเทอร์คิน (Mikhail Diterikhs) ระหว่างสงครามกลางเมืองรัสเซีย ดิเทอร์คินเป็นนายทหารของกองทัพขาว ในภูมิภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย (Russian Far East) เขาได้เรียกประชุมสภาดังกล่าวหลังจากการประหารชีวิตราชวงศ์โรมานอฟผ่านมาแล้วสี่ปี เพื่อฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ขึ้นใหม่ โดยประกาศให้แกรนด์ดยุกนิโคไล นิโคเลวิช (Grand Duke Nicholas Nikolaevich) เป็นจักรพรรดิแห่งรัสเซีย และอัครบิดรทริคอน (Patriarch Tikhon) เป็นประธานสภากิตติมศักดิ์ ทั้งแกรนด์ดยุกนิโคไลและอัครบิดรทริคอนไม่อยู่ในที่ประชุมดังกล่าว และแผนนี้ก็มีอันต้องยกเลิกไปหลังจากแคว้นดังกล่าวเสียแก่พวกบอลเชวิกในอีกสองเดือนให้หลัง
อ่านเพิ่ม
แก้- S.L. Avaliani, "Литературная история земских соборов" [Literary History of the Zemsky Sabors]. Odessa: 1916.
- John Keep, "The Decline of the Zemsky Sobor," in Power and the People: Essays on Russian History. Boulder, CO: East European Monographs, 1995; pp. 51-72.
อ้างอิง
แก้- ↑ Acton, Edward (2014-09-19). Russia. doi:10.4324/9781315844770. ISBN 9781315844770.
- ↑ Krebs, H. (1905-03-11). "Zémstvo and Zemsky-Sobór". Notes and Queries. s10-III (63): 185. doi:10.1093/nq/s10-iii.63.185c. ISSN 1471-6941.