สนธิสัญญาไทย–ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2483)

สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน[1] (อังกฤษ: Treaty between Thailand and Japan Concerning the Continuance of Friendly Relations and the Mutual Respect of Each Other's Territorial Integrity) เป็นสนธิสัญญาที่ทำขึ้น ณ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) ระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น สนธิสัญญานี้เป็นก้าวหนึ่งของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั้งสองซึ่งที่สุดได้กลายเป็นพันธมิตรกันในสงครามโลกครั้งที่สอง

สนธิสัญญาไทย–ญี่ปุ่น พ.ศ. 2483
สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน
สำเนาสนธิสัญญาฯ ฉบับภาษาไทย
ประเภทสนธิสัญญาไมตรี
วันลงนาม12 มิถุนายน พ.ศ. 2483
ที่ลงนามโตเกียว จักรวรรดิญี่ปุ่น
วันมีผล23 ธันวาคม พ.ศ. 2483
วันหมดอายุ23 ธันวาคม พ.ศ. 2488
ผู้ลงนาม
ภาคี
ภาษาไทย และญี่ปุ่น
สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นฯ ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2483 ที่ วิกิซอร์ซ

มีการแลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกัน ณ กรุงเทพฯ ในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1940[2] สนธิสัญญามีผลใช้บังคับในวันเดียวกันนั้น[1] และได้ขึ้นทะเบียนใน ชุดสนธิสัญญาสันนิบาตชาติ (League of Nations Treaty Series) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม ค.ศ. 1941[3]

ประวัติ แก้

การปฏิรูปเมจิใน ค.ศ. 1868 ทำให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจและการเมืองอย่างยิ่ง แต่ญี่ปุ่นไม่เหมือนชาติอื่นตรงที่ญี่ปุ่นค่อย ๆ กลายเป็นรัฐที่ใช้กำลังทหารในการขยายอุดมการณ์ของตน[4] ญี่ปุ่นประสงค์ขยายอำนาจไปสู่ภูมิภาคใกล้เคียง เพราะมีทรัพยากรสำคัญที่ญี่ปุ่นไม่มี[5] เดิมทีญี่ปุ่นหมายตาแมนจูเรีย, เกาหลี, ไต้หวัน, และจีนแผ่นดินใหญ่ ภายหลังก็มุ่งเป้าเพิ่มไปที่ไซบีเรีย, มาเลเซีย, สิงคโปร์, พม่า, อินโดจีนของฝรั่งเศส, และฟิลิปปินส์[4]

สำหรับไทยนั้น ญี่ปุ่นได้สถาปนาความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ ค.ศ. 1887[4] และช่วงที่ญี่ปุ่นบุกแมนจูเรียใน ค.ศ. 1931 รัฐบาลไทยก็ได้ช่วยควบคุมชาวจีนกลุ่มน้อยในประเทศไทยไม่ให้ต่อต้านการยึดครองแมนจูเรียของญี่ปุ่น[4] ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1933 มีการประณามญี่ปุ่นที่บุกแมนจูเรียในที่ประชุมสันนิบาตชาติ มีแต่ประเทศไทยที่งดออกเสียงประณาม และโยซูเกะ มัตสึโอกะ (Yōsuke Matsuoka) ผู้แทนญี่ปุ่นในสันนิบาตชาติ ก็ขอบคุณไทยทันทีหลังสิ้นการประชุม[4]

นอกจากนี้ ประเทศไทยเองมีการเปลี่ยนแปลงดินแดนตลอดในห้วงประวัติศาสตร์ โดยในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1930 ฝรั่งเศสเอาดินแดนบางส่วนที่เป็นลาวและกัมพูชาในปัจจุบันไปจากไทย ทั้งไทยเองก็มองหาช่องทางจะแสวงประโยชน์ทางดินแดนจากเพื่อนบ้านอย่างพม่าอยู่เสมอ[4] การได้ดินแดนคืนจากฝรั่งเศสจึงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักด้านการต่างประเทศของไทย[4] สำหรับไทย ญี่ปุ่นจึงเป็นเหมือนมหาอำนาจที่จะช่วยกอบกู้ดินแดนที่เสียไป[4]

แม้ไทยกับญี่ปุ่นดูจะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน แต่แวดวงการเมืองญี่ปุ่นมีความเห็นหลากหลายเกี่ยวกับไทย จนกระทั่งใน ค.ศ. 1938 จักรพรรดิโชวะทรงประกาศชัดเจนว่า ทหารญี่ปุ่นจะเคลื่อนไหวใด ๆ ในประเทศไทย ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาลไทยก่อน[4] ทัพเรือญี่ปุ่น แม้ประสงค์จะขยายอำนาจลงใต้ ก็ยังเกรงจะเผชิญหน้ากับสหรัฐ ส่วนทัพบกญี่ปุ่นตัดสินใจจะขยายอำนาจลงใต้เต็มที่ และในการนี้ จำต้องได้ความร่วมมือจากไทยในการบุกพม่าและมลายู[4] ดังนั้น ญี่ปุ่นจึงส่งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองเข้ากรุงเทพฯ มากขึ้น ทั้งยังกำหนดให้นักการทูตอาซาดะ ชุนซูเกะ (Asada Shunsuke) และพันเอก ฮิโรชิ ทามูระ (Colonel Hiroshi Tamura) นำพาจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีไทย เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นให้ได้[4]

ที่สุดแล้ว ไทยกับญี่ปุ่นจึงได้ลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพอาณาเขตแห่งกันและกัน คือ สนธิสัญญาฉบับนี้ ซึ่งช่วยให้ญี่ปุ่นสมปรารถนาที่จะแผ่อิทธิพลมาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนไทยก็ได้ประโยชน์ คือ ได้การสนับสนุนอันแข็งแรงจากญี่ปุ่นสำหรับอุดมการณ์ชาตินิยมแบบเรียกร้องดินแดน (irredenta) ของตน[4] ผู้แทนฝ่ายไทยในการทำสนธิสัญญา คือ พระยาศรีเสนา (ศรีเสนา สมบัติศิริ) อัครราชทูตไทยในญี่ปุ่น ส่วนฝ่ายญี่ปุ่น คือ ฮาจิโร อาริตะ (Hachirō Arita) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น[1] ลงนามกัน ณ กรุงโตเกียวเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1940[1] แลกเปลี่ยนสัตยาบันสารกันในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1940 ณ กรุงเทพฯ และสนธิสัญญามีผลใช้บังคับทันที[1]

เนื้อหา แก้

สนธิสัญญานี้มีเนื้อหาสำคัญ คือ ยืนยันว่า ทั้งไทยและญี่ปุ่นยังเป็นสัมพันธมิตรสนิทเสน่หา และจะเคารพบูรณภาพในดินแดนของกันและกัน ซึ่งหมายความว่า จะไม่รุกรานดินแดนกัน นอกจากนี้ ยังตกลงจะแบ่งปันข้อมูลกันและปรึกษากันในประเด็นที่สำคัญต่อทั้งสองฝ่าย อนึ่ง ถ้าฝ่ายใดถูกบุคคลที่สามโจมตี อีกฝ่ายจะไม่ช่วยเหลือผู้โจมตีเป็นอันขาด[4]

ข้อสุดท้ายของสนธิสัญญากล่าวว่า สนธิสัญญามีผลห้าปีนับแต่วันแลกเปลี่ยนสัตยาบันสาร ถ้าจะต่ออายุ ก็ต้องบอกกล่าวกันอย่างน้อยหกเดือนก่อนสิ้นกำหนดห้าปีนั้น[1]

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 1.5 "ประกาศใช้สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น ว่าด้วยการจำเริญสัมพันธไมตรีและต่างเคารพบูรณภาพแห่งอาณาเขตต์แห่งกันและกัน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. Bangkok: สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. 57: 944–949. 1940-12-24. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.
  2. "Address by foreign minister of Japan, Yosuke Matsuoka, delivered before the 76th session of the Imperial Diet, Tokyo, Japan, January 21, 1941". astro.temple.edu. n.p.: n.p. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-03-01. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.
  3. League of Nations Treaty Series, vol. 204, pp. 132-133.
  4. 4.00 4.01 4.02 4.03 4.04 4.05 4.06 4.07 4.08 4.09 4.10 4.11 4.12 Staniczek, Lukasz (1999). "Pibun Songkram's Role in Thailand's Entry into the Pacific War" (ภาษาอังกฤษ). Ouachita Baptist University. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.
  5. กาญจนการุณ, วลัยพร; ปัญโญ, ธีรัช; Yamaguchi, Masayo (2016). "ความสัมพันธ์ระหว่างชาวญี่ปุ่นและชาวไทยในจังหวัดเชียงใหม่ช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง" (pdf). วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. Bangkok: มหาวิทยาลัยทักษิณ. 11 (1 (January–June)): 37–61. สืบค้นเมื่อ 2019-07-15.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้