สถาบันนิยม

หน้าแก้ความกำกวมวิกิมีเดีย

สถาบันนิยม (Institutionalism) เป็นแนวคิดที่ใช้อธิบายชีวิตทางสังคมการเมือง ภายใต้กรอบความคิดว่าพฤติกรรมของมนุษย์หรือตัวแสดงทางการเมืองต่าง ๆ จะถูกกำหนดและกำกับโดยบริบทเชิง “สถาบัน” ที่คอยจัดความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในสังคม ซึ่งสถาบันจะมีกฎ ระเบียบ กติกา และบรรทัดฐานบางอย่างในการกำกับมนุษย์ในสังคม และมนุษย์จะแสดงพฤติกรรมผ่านสถานภาพและบทบาทของตัวเองออกมาเป็นหน้าที่ของตน ทั้งบทบาทและหน้าที่ดังกล่าวจะถูกกำกับโดยองค์กร หรือสถาบันทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เช่น สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา สถาบันการศึกษา องค์กรเศรษฐกิจ เป็นต้น และมนุษย์หนึ่งคนสามารถอยู่ในความสัมพันธ์ของหลายสถาบันและจะมีบทบาทหน้าที่หลายอย่างควบคู่กันไป ตัวอย่างเช่น ชายไทยอายุ 20 ปี ภายใต้สถาบันการเมืองจะมีบทบาทเป็นพลเมือง มีสิทธิและหน้าที่ในการไปเลือกตั้ง ภายใต้สถาบันศาสนาอาจมีบทบาทเป็นพุทธมามกะ หรือผู้สืบสานศาสนาอื่นใดที่นับถือ ภายใต้สถาบันการศึกษามีบทบาทเป็นนิสิตนักศึกษาจึงมีหน้าที่ในการเรียน และมีหน้าที่ต้องไปเกณฑ์ทหารหรือเรียนรักษาดินแดน เนื่องจากกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลซึ่งเป็นสถาบันการเมืองกำหนดเช่นนั้น (Peters, 2005: 1-3) [1]

อรรถาธิบาย แก้

สถาบัน มีความหมายว่า แบบอย่างแห่งพฤติกรรมที่สร้างขึ้น และมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาอันเป็นที่ยอมรับกันในสังคม โดยแบบอย่างพฤติกรรมดังกล่าวมีลักษณะเป็นพฤติกรรมที่หยั่งรากอย่างมั่นคง (established behavior) ในอีกความหมายหนึ่ง สถาบัน หมายถึง องค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎระเบียบและมีองค์ประกอบที่กระทำอย่างมีเหตุผล โดยใช้วิธีการเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ สถาบันมีไว้เพื่อดำรงอยู่และสืบทอดอย่างถาวร ไม่ใช่เพื่อกิจการเฉพาะกิจ ส่วนสถาบันทางการเมืองนั้น ก็มีความหมายคล้าย ๆ กับความหมายข้างต้น แต่มีวัตถุประสงค์ทางการเมือง มาร์ช และออลซัน (March and Olsen, 1989: 160) [2] ได้ให้ความหมายว่าสถาบันเป็นสิ่งที่กำหนดชีวิตทางสังคมการเมืองของบุคคล โดยสถาบันเป็นการรวมตัวของกฎระเบียบและแบบแผนการปฏิบัติพื้นฐานที่กำหนดการแสดงออกของมนุษย์ให้เหมาะสมตามบทบาทและสถานการณ์ กระบวนการของสถาบันจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์และการทำหน้าที่ตามบทบาท ซึ่งผูกพันบทบาทของสมาชิกในสถาบันให้แสดงออกภายใต้สถานการณ์หนึ่ง เช่น สถาบันครอบครัวจะกำหนดบทบาทให้กับสมาชิกในครอบครัวว่าเป็นพ่อ แม่ หรือลูก และภายใต้สถานการณ์หนึ่ง พ่อ แม่ หรือลูก ก็จะแสดงพฤติกรรมออกมาตามบทบาทเพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น ๆ

สำหรับการใช้คำว่า “สถาบัน” ในตะวันตกจะมีการใช้ใน 2 บริบท กล่าวคือ ด้านแรก คำว่าสถาบันจะใช้เรียกแทนสถานที่หรือองค์กรที่จับต้องได้และมีกลไกที่ชัดเจนอย่างเป็นทางการ เช่น สถาบันศาล สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น ด้านที่สอง จะเป็นการใช้คำว่าสถาบันในการกล่าวถึงรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหนึ่งกับอีกบุคคลหนึ่ง ที่มีการตกลงร่วมกันว่าจะมีกติกาพื้นฐานอย่างไร และแต่ละคนจะมีหน้าที่อย่างไรในการเข้ามาเป็นสมาชิกในสถาบัน เช่น สถาบันศาสนา เป็นต้น แต่จุดร่วมกันคือสถาบันจะเป็นสิ่งที่กำหนดสถานภาพของบุคคลทำให้บุคคลรู้ว่าตนมีบทบาทอย่างไรและจะต้องมีหน้าที่อย่างไรในความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ในสังคม เช่น ในสถาบันการเมือง กำหนดสภาพของสมาชิกให้เป็นพลเมือง สมาชิกจึงมีสิทธิและหน้าที่บางประการจากสถาบัน เช่น การเลือกตั้ง เป็นต้น[3]

ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย แก้

ในการนิยามของนักวิชาการไทย “สถาบัน” เป็นวิธีการทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนในสังคม ว่าทำกิจกรรมใดบ้างและมีกฎเกณฑ์วิธีการเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ อย่างไร โดยการกระทำดังกล่าวจะมีแบบแผนที่ยึดปฏิบัติกันมาจนมีลักษณะถาวรพอสมควร ในหนึ่งสังคมจะประกอบไปด้วยสถาบันต่าง ๆ มากมาย และบุคคลหนึ่งคนสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในหลายสถาบันได้ โดยแต่ละสถาบันก็จะมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์ รวมถึงแต่ละสถาบันยังมีความสัมพันธ์ต่อสถาบันด้วยกันเองด้วย (จำนงค์ และคณะ, 2548: 77) [4]

อย่างไรก็ดี สำหรับความเข้าใจของสังคมไทย สถาบันมักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่จับต้องได้และมีรูปลักษณ์ชัดเจน แม้ว่าในความเป็นจริงจะมีลักษณะเป็นความคิดหรืออุดมการณ์ค่อนข้างมาก เช่น สถาบันศาสนา มักเข้าใจความหมายเป็นเพียงพระสงฆ์ เป็นต้น โดยในเชิงปฏิบัติคำว่าสถาบันในสังคมไทยไม่ได้ถูกมองเป็น “รูปแบบความสัมพันธ์” ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด อีกทั้งการใช้คำว่าสถาบันในสังคมไทยยังมีลักษณะเป็น “เอกพจน์” เช่น สถาบันพระมหากษัตริย์มักหมายถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพียงพระองค์เดียว ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสถาบันมีลักษณะเป็น “พหุพจน์” ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกต่าง ๆ มากมายที่มีสถานภาพและบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันไปตามบริบทเชิงสถาบันที่กำหนดไว้ เช่น สถาบันการศึกษาไม่ได้หมายถึงเพียงมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียน แต่ต้องหมายถึงบุคลากรทางการศึกษาทั้งหมด ที่เข้ามามีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันภายใต้กฎเกณฑ์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู อาจารย์ ผู้บริหาร รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ

อ้างอิง แก้

  1. Peters, B. Guy. (2005). Institutional Theory in Political Science: the ‘New Institutionalism’. New York: Continuum.
  2. March, J.G. and Johan Olsen (1989). Rediscovering Institutions: The Organizational Basis of Politics. New York: Free Press.
  3. Hall, P.A. and Taylor, R.C.R. (1996). “Political Science and the Three New Institutionalism”. In Political Studies, Vol.44, No. 4.
  4. จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ และคณะ (2548). สังคมวิทยา. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.