สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อังกฤษ: Confucius Institute, Mahasarakham University) เป็นสถาบันหนึ่งในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2549 สถาบันขงจื๊อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยชนชาติกวางซี และฮั่นบั้น (HAN BAN) เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรม และดำเนินกิจกรรมทางวิชาการที่เกี่ยวกับการศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีน ตลอดจนการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศ

สถาบันขงจื้อ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
Confucius Institute, Mahasarakham University
สถาปนา25 ธันวาคม พ.ศ. 2549 (17 ปี)
ที่อยู่
เขตพื้นที่ในเมือง เลขที่ 269 ถนนนครสวรรค์ ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
เว็บไซต์www.msu.ac.th

ประวัติ แก้

การจัดตั้งสถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้เริ่มขึ้นเมื่อ มหาวิทยาลัยชนชาติกว่างซี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ลงนามความร่วมมือจัดตั้งสถาบันฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 และได้ดำเนินการเตรียมการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน จนกระทั่งวันที่ 25 ธันวาคมในปีเดียวกัน โดยได้รับอนุญาตและความช่วยเหลือจากสถานทูตจีนประจำประเทศไทย และสถาบันฮั่นบั้น ของประเทศจีนให้เปิดสถาบันขงจื้อขึ้นในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม พื้นที่ในเมือง โดยมีจุดประสงค์หลักๆ คือ การพัฒนาการศึกษาและส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทยและจีน[1]

ปัจจุบัน สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งอยู่ที่อาคารสถาบันขงจื้อฯ ณ เขตพื้นที่ในเมือง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดการเรียนการสอนภาษาจีนในฐานะภาษาต่างประเทศในระดับปริญญาตรี อย่างเต็มรูปแบบ โดยในปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาสารคามมีนิสิตวิชาเอกภาษาจีนกว่า 200 คน และมีนิสิตที่เลือกเรียนภาษาจีนในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปมากกว่า 800 คนในแต่ละปีการศึกษา โดยสถาบันขงจื้อจัดการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ส่วนระดับปริญญาตรีอยู่ในดวามดูแลของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

การบริหาร แก้

สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บริหารงานภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารสถาบันขงจื้อฯ ซึ่งมีองค์ประกอบเป็น ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และมหาวิทยาลัยชนชาติกวางซี ได้แก่ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ อธิการบดีมหาวิทยาลัยชนชาติกวางซีเป็นที่ปรึกษา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยชนชาติกวางซีเป็นประธานและรองประธาน

กิจกรรม แก้

  • จัดหลักสูตรอบรมภาษาจีน ระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง สำหรับนักเรียน นักศึกษา และบุคคลทั่วไป
  • จัดหลักสูตรอบรมภาษาจีนเฉพาะด้าน เช่น สำหรับครู สำหรับนักธุรกิจ สำหรับมัคคุเทศก์ เป็นต้น
  • เปิดหลักสูตรระดับปริญญาร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยซีหนาน
  • จัดนิทรรศการ การแสดง และกิจกรรมที่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมจีน
  • จัดการสอบวัดความสามารถทางภาษาจีนด้วย HSK Test และการสอบอื่นๆ เพื่อรับรองความสามารถทางภาษาจีน ตามมาตรฐานของจีน
  • สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับประเทศและภาษาจีน
  • สนับสนุนการแลกเปลี่ยนนักศึกษา การฝึกงานสำหรับนักศึกษา (internship) และการศึกษาดูงานในประเทศจีน
  • สนับสนุนการแลกเปลี่ยนบุคลากร และการพัฒนาบุคลากรสายผู้สอนภาษาจีนของมหาวิทยาลัย
  • ส่งเสริมและผลิตสื่อและตำรา ที่เกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีน
  • ให้คำปรึกษานักศึกษาที่ต้องการศึกษาต่อในประเทศจีน
  • จัดสัมมนาและประชุมวิชาการเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมจีน

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แก้

สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีหลักสูตรฝึกอบรมหลากหลายที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของกระทรวงศึกษาธิการจีน และออกแบบโดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยแบ่งเป็น หลักสูตรฝึกอบรมภาษา อาทิ ภาษาจีนเพื่อการสนทนา ภาษาจีนเพื่อการท่องเที่ยว และภาษาจีนเชิงธุรกิจ เป็นต้น และหลักสูตรฝึกอบรมทางวัฒนธรรม เช่น ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับประเทศจีน ศิลปะการเขียนพู่กันจีน และศิลปะการรำมวยจีน เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ยังร่วมมือกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จัดทำหลักสูตรปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาจีนเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและสังคมในปัจจุบัน

สำหรับการสรรสร้างกิจกรรมต่างๆ สถาบันขงจื้อ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในด้านต่างๆ เป็นต้นว่า การแลกเปลี่ยนนักศึกษา การจัดหาอาจารย์และอาสาสมัครชาวจีนสำหรับสถานศึกษา การจัดการศึกษาดูงานด้านธุรกิจ การจัดการแลกเปลี่ยนและเผยแพร่ผลงานวิจัย หรือกิจกรรมเพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมจีน ในวันและเทศกาลสำคัญๆ อาทิ วันตรุษจีน วันชาติจีน และวันไหว้พระจันทร์ เป็นต้น ทั้งยังให้ความสำคัญในการเปิดโลกทัศน์ของเยาวชนไทยผ่านกิจกรรมมากมาย เช่น การออกซุ้มนิทรรศการ การแข่งขันชิงทุนการศึกษาหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ณ มหาวิทยาลัยในประเทศจีน โครงการค่ายภาษาและวัฒนธรรมจีน และกิจกรรมส่งเสริมความรู้ตลอดทั้งปี

อ้างอิง แก้