สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ไฟฉาย)

สถานีรถโดยสารทางไกลในอดีต

สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ไฟฉาย) เป็นสถานีขนส่งที่ตั้งอยู่บนถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณแยกไฟฉาย ใช้รับส่งผู้โดยสารจากภาคใต้ ภาคตะวันตกและภาคกลาง เปิดทำการเมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 และยุติการใช้งานในปี พ.ศ. 2532 เพื่อไปใช้งาน สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) และ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ถนนบรมราชชนนี) ตามลำดับ

สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ไฟฉาย)
การพัฒนาบริเวณแยกไฟฉายในปัจจุบัน
ข้อมูลทั่วไป
ชื่ออื่นสายใต้ (สามแยกไฟฉาย)
ที่ตั้งถนนจรัญสนิทวงศ์, เขตบางกอกน้อย, กรุงเทพมหานคร ไทย
พิกัด13°45′25″N 100°28′13″E / 13.75691°N 100.47027°E / 13.75691; 100.47027
เจ้าของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
รัฐวิสาหกิจในกำกับของ
กรมการขนส่งทางบก
กระทรวงคมนาคม
สายรถโดยสารประจำทางสายใต้ สายกลาง และสายตะวันตก
ผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
ประวัติ
เริ่มเปิดให้บริการ1 มกราคม พ.ศ. 2503
ปิดให้บริการพ.ศ. 2532
ที่ตั้ง
แผนที่

ประวัติ

แก้

ก่อนหน้าปี พ.ศ. 2502 นั้น การเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทางนั้นไม่มีการควบคุมอย่างเป็นระบบมากนัก หากผู้ประกอบการรายได้มีเงินทุนมากพอก็สามารถนำรถยนต์โดยสารมาวิ่งให้บริการได้ อาจจะวิ่งในนามบุคคลหรือในนามบริษัท และไม่มีสัมปทานจากรัฐมาควบคุมการเดินรถ ท่ารถในขณะนั้นถ้าจะเดินทางไปในสายใต้จะจอดอยู่บริเวณวัดเลียบและท่าเตียน[1]

กระทั่งได้มีการจัดระเบียบการเดินรถและก่อตั้งสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ไฟฉาย) เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 ณ ริมถนนจรัลสนิทวงศ์ ตำบลบางเสาธง อำเภอบางกอกน้อย จังหวัดธนบุรี (เขตการปกครองในสมัยนั้น)[2] พร้อมกันกับอีกสองสถานีขนส่งคือ สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (หมอชิต) (หมอชิตเก่า) และสถานีขนส่งเอกมัย สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (เอกมัย)[2]

สาเหตุที่เลือกตั้งสถานีขนส่งสำหรับสายใต้ที่บริเวณนี้ เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้สามารถเชื่อมต่อไปยังท่าน้ำพรานนก ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนหลักในสมัยนั้น เพื่อข้ามฝากไปยังท้องสนามหลวง และโดยสารเรือไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยาต่อได้ ต่อมาเมื่อเมืองมีการขยายตัว แต่เดิมที่สถานีขนส่งนี้อยู่ในพื้นที่ชานเมืองก็ถูกกลืนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เมือง ทำให้เกิดปัญหาการจราจรจากรถโดยสารซึ่งเป็นรถที่มีขนาดใหญ่ จึงได้มีการย้ายสถานีขนส่งไปยังพื้นที่ปิ่นเกล้า และใช้ชื่อว่าสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (ปิ่นเกล้า) ในปี พ.ศ. 2532[3]

ที่ตั้ง

แก้

สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ (ไฟฉาย) แบ่งออกเป็นสองส่วน[1] คือ

  • สถานีเดินรถโดยสารปรับอากาศชั้นหนึ่ง ภาคใต้ บริเวณทิศเหนือของสามแยกไฟฉาย[1] ตั้งอยู่บริเวณโรงพยาบาลศรีวิชัย
  • สถานีเดินรถโดยสารธรรมดา ภาคใต้ บริเวณทิศใต้ของสามแยกไฟฉาย[1] ตั้งอยู่ตรงข้ามศูนย์การค้านครหลวง ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยของสถานีรถธรรมดาแล้ว

สภาพพื้นที่สถานีในปัจจุบัน

แก้

เนื่องจากที่ดินผืนดังกล่าวเป็นของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ปัจจุบันบริษัทกำลังเปิดให้เอกชนเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับบริษัทอีกทางนอกเหนือจากการบริการเดินรถระหว่างจังหวัด โดยพื้นที่ของ บขส. บริเวณแยกไฟฉายที่จะเปิดให้เข้าทำประโยชน์นั้นมีจำนวน 3 ไร่ 3 งาน 94 ตารางวา ราคาประเมินที่ดินปัจจุบันคือ 98.09 ล้านบาท ติดกับถนนจรัญสนิทวงศ์และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล[4]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 ผลานุรักษา, เมธี (2523). การออกแบบเลขนศิลป์สิ่งแวดแล้อม สำหรับสถานีเดินรถปรับอากาศสายเหนือ วิทยานิพนธ์ ภาคเอกสาร (PDF). คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. 2.0 2.1 "จุดกำเนิดเครือข่ายการเดินทางด้วยรถโดยสารประจำทาง และสถานีขนส่งในกรุงเทพฯ". www.silpa-mag.com.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  3. kinyupen_admin (2020-09-22). "รู้ไหม "สายใต้เก่า" แท้จริงในอดีตอยู่ที่ "สามแยกไฟฉาย" ปิ่น เกล้าคือ "สายใต้ใหม่" และ "ตลิ่งชัน (ปัจจุบัน) คือ "สายใต้ ใหม่กว่า"". kinyupen.co (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  4. ฐานเศรษฐกิจ (2023-10-12). "บขส.ไม่ถอย เปิดประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ "แยกไฟฉาย-ชลบุรี" รอบ 2". thansettakij.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้