สดุดีจอมราชา เป็นบทเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดทำโดยกระทรวงวัฒนธรรม เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 แทนเพลงสดุดีมหาราชา

ประวัติ แก้

รัฐบาลกำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 จึงมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมจัดทำเพลงเฉลิมพระเกียรติขึ้นเพื่อใช้ในการขับร้องถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสสำคัญต่าง ๆ แทนเพลงสดุดีมหาราชา โดยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งขึ้นเพื่อพิจารณาบทเพลงที่แต่งขึ้นใหม่ 8 เพลง ประกอบด้วยผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ นักแต่งเพลง นักดนตรี ตลอดจนสมาคมและมูลนิธิที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแต่งเพลง ดนตรี และการขับร้อง โดยนคร ถนอมทรัพย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีสากล) เป็นประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว

จากนั้น กระทรวงวัฒนธรรมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางภาษาและดนตรีมาร่วมพิจารณาบทเพลงที่เหมาะสม 2 บทเพลงเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งได้เลือกบทเพลงสดุดีจอมราชา

ต่อมา ในวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 วีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธานแถลงข่าวบทเพลงเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย[1]

สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมีหนังสือที่ วธ 0203.4/3109 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม ถึงสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดทุกจังหวัด[2] ให้เปลี่ยนแปลงเนื้อเพลงท่อน "อุ่นไอรักจากฟ้าเรืองรอง" เป็น "อุ่นไอจากฟ้าเรืองรอง" โดยให้เริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม

จากนั้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ได้มีการเผยแพร่เพลงสดุดีจอมราชา ฉบับใหม่ เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงเนื่อร้องใหม่ จาก "ถวายพระพรจอมราชัน ธ อนันต์ปรีชาชาญ" เป็น "ถวายพระพรองค์ราชินี คู่บารมีองค์ราชัน" และ "งามตระการสมขัตติยะไทย" เป็น "งามตระการเคียงขัตติยะไทย" และ "มหาวชิราลงกรณ มิ่งขวัญปวงชนชาวไทย" เป็น "มหาราชา ราชินี มิ่งขวัญปวงชนชาวไทย"[3]

บทร้อง แก้

สำนวนแรก แก้

ถวายบังคมจอมราชา พระบุญญาเกริกฟ้าไกล
ธ ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ศูนย์รวมใจชาวไทยสมัครสมาน
ถวายพระพรจอมราชัน ธ อนันต์ปรีชาชาญ
ขอพระองค์ทรงเกษมสำราญ งามตระการสมขัตติยะไทย
อุ่นไอรักจากฟ้าเรืองรอง แสงทองส่องมา ไพร่ฟ้าต่างสดใส
มหาวชิราลงกรณ มิ่งขวัญปวงชนชาวไทย เทิดไท้พระภูวไนย ถวายใจสดุดี
[4]

สำนวนปัจจุบัน แก้

ถวายบังคมจอมราชา พระบุญญาเกริกฟ้าไกล
ธ ทรงเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร ศูนย์รวมใจชาวไทยสมัครสมาน
ถวายพระพรองค์ราชินี คู่บารมีองค์ราชัน
ขอพระองค์ทรงเกษมสำราญ งามตระการเคียงขัตติยะไทย
อุ่นไอจากฟ้าเรืองรอง แสงทองส่องมา ไพร่ฟ้าต่างสดใส
มหาราชา ราชินี มิ่งขวัญปวงชนชาวไทย เทิดไท้พระภูวไนย ถวายใจสดุดี

หลักเกณฑ์การใช้เพลง แก้

สำนักนายกรัฐมนตรีได้กำหนดหลักเกณฑ์การใช้เพลงเพื่อเป็นแนวทางการปฏิบัติ ดังนี้[5]

กรณีส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ให้ใช้ในงานพระราชพิธี รัฐพิธีหรืองานพิธีที่จัดขึ้น หรือในโอกาสอันควรเพื่อแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

กรณีสถานศึกษาของภาครัฐและภาคเอกชน ให้ใช้ประกอบการเรียนการสอน หรือในโอกาสอันควรเพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเกิดความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

กรณีเอกชน ให้ใช้เฉพาะงานพิธีที่เอกชนจัดขึ้นหรือในโอกาสอันควรเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีและเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทั้งนี้ ไม่ให้ใช้ในงานพิธีส่วนบุคคลโดยเฉพาะหรืองานพิธีที่เกี่ยวกับประเพณีท้องถิ่นหรือชุมชน

อ้างอิง แก้

  1. ข่าวสด (11 กรกฎาคม 2561). "เปิดบทเพลง 'สดุดีจอมราชา' เชิญร่วมร้อง วันเฉลิมพระชนมพรรษา 28กค". กรุงเทพมหานคร: บริษัท ข่าวสด จำกัด. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. Nakhon Si Thammarat Rajabhat University Wind Symphonic Band (2018-07-28). "ประกาศจากกระทรวงวัฒนธรรม เรื่องการเปลี่ยนแปลงเนื่อเพลง "สดุดีจอมราชา" ในท่อน "อุ่นไอรักจากฟ้าเรืองรอง" เปลี่ยนเป็น "อุ่นไอจากฟ้าเรืองรอง" โดยเริ่มใช้ ตั้งแต่วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๑". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-11. สืบค้นเมื่อ 2019-06-11.
  3. "เพลงสดุดีจอมราชา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-24. สืบค้นเมื่อ 2019-06-03.
  4. ข่าวสด (11 กรกฎาคม 2561). "เปิดบทเพลง 'สดุดีจอมราชา' เชิญร่วมร้อง วันเฉลิมพระชนมพรรษา 28กค". กรุงเทพมหานคร: บริษัท ข่าวสด จำกัด. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  5. สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (กรกฎาคม 2561). "หลักเกณฑ์การใช้เพลงสดุดีจอมราชา" (PDF). กรุงเทพมหานคร: สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2019-03-06. สืบค้นเมื่อ 30 กรกฎาคม 2561. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)