ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลาง

ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลาง (อังกฤษ: Central Pacific Hurricane Center หรือย่อว่า CPHC) เป็นหน่วยงานในสังกัดบริการลมฟ้าอากาศแห่งชาติของสหรัฐ ทำหน้าที่รับผิดชอบในการติดตามและออกประกาศเกี่ยวกับการเตือนภัย การเฝ้าระวัง การให้คำแนะนำ การอภิปราย และแถลงการณ์กับพายุหมุนเขตร้อนภายในพื้นที่แปซิฟิกกลาง โดยมีขอบเขตตั้งแต่ทางเหนือของเส้นศูนย์สูตรขึ้นไป และระหว่างเส้นเมริเดียนที่ 140 องศาตะวันตกถึงเส้นเมริเดียนที่ 180 องศา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐฮาวาย มีฐานะเป็นศูนย์อุตุนิยมวิทยาชำนัญพิเศษประจำภูมิภาค (RSMC) สำหรับพายุหมุนเขตร้อนในนาม RSMC โฮโนลูลู

วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2535 พายุเฮอริเคนอีนิกี สร้างความเสียหายมากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในรัฐฮาวาย

หน่วยงานนี้มีฐานที่ตั้งอยู่ในเมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวาย ร่วมกับสำนักงานการพยากรณ์โฮโนลูลูของบริการลมฟ้าอากาศแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยฮาวายที่มาโนอา โดยสำนักงานพยากรณ์โฮโนลูลูจะปฏิบัติงานในฐานะศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลาง เมื่อมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวขึ้นภายในพื้นที่ หรือเคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่แปซิฟิกกลาง ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลางเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. 2513 โดยทำงานแทนที่ศูนย์พยากรณ์เดิมอย่าง ศูนย์เตือนเฮอริเคนร่วม

พื้นที่รับผิดชอบ แก้

 
ภาพแสดงพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลาง โดยอยู่ระหว่างแอ่งแปซิฟิกตะวันออก (2) และแอ่งแปซิฟิกตะวันตก (3)

พื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลางคือพื้นที่แปซิฟิกกลาง (CP; Central Pacific) ซึ่งเป็นเขตทางการปกครอง ไม่ใช่เขตทางอุตุนิยมวิทยา โดยไม่ถือเป็นแอ่งพายุหมุนเขตร้อน (พื้นที่ที่พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวซึ่งแตกต่างกันอย่างชัดเจน) แต่มักพูดถึงบ่อย ๆ ในฐานะแอ่งแปซิฟิกกลาง หรือแอ่งแปซิฟิกเหนือตอนกลาง ขอบเขตด้านตะวันตกที่สุดของพื้นที่รับผิดชอบคือเส้นเมริเดียนที่ 180 องศา หรือเส้นแอนไทเมริเดียน โดยถือเป็นเส้นแบ่งเขตวันสากลสำหรับละติจูดในเขตร้อน ในทางอุตุนิยมวิทยา พื้นที่นี้ครอบคลุมด้านตะวันตกของแอ่งแปซิฟิกตะวันออก และด้านตะวันออกของแอ่งแปซิฟิกตะวันตก แม้ว่าศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติจะรับผิดชอบในแอ่งแปซิฟิกตะวันออกด้วย แต่หน่วยงานดังกล่าวมีขอบเขตแค่ทางตะวันออกของเส้น 140 องศาตะวันตก ไม่ใช่ทั้งแอ่งทางอุตุนิยมวิทยา โดยพื้นที่ทางตะวันออกของเส้น 140 องศาตะวันตก แต่เดิมเป็นพื้นที่รับผิดชอบอย่างเป็นทางการของศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกตะวันออก โดยดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2513 เช่นกัน แต่ปัจจุบันศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกตะวันออกถูกยุบไปร่วมกับศูนย์เฮอริเคนแห่งชาติ

ในพื้นที่นี้ ฤดูพายุเฮอริเคนจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ไปจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ในทางปฏิบัติแล้ว พายุอาจก่อตัวในพื้นที่แปซิฟิกตะวันออก (ด้านตะวันออกหรือด้านตะวันตกของเส้น 140 องศาตะวันตก) และเคลื่อนตัวมาทางตะวันตก และสามารถส่งผลกระทบกับรัฐฮาวายได้

ระบบการตั้งชื่อพายุเฮอริเคน แก้

รายชื่อพายุ
ชุดที่ 1 ชุดที่ 2 ชุดที่ 3 ชุดที่ 4
อาโกนี อากา อาลิกา อานา
เอมา เอเกกา เอเล เอลา
โฮเน เฮเน ฮูโก ฮาโลลา
อีโอนา ไอโอลานา อีโอปา อีอูเน
เกลี เกโอนี กีกา กีโก
ลาลา ลีโน ลานา โลเก
โมเก เมเล มากา มาลีอา
โนโล โนนา เนกี นีอาลา
โอลานา โอลีวา โอเมกา โอโฮ
เปนา ปามา เปวา ปาลี
อูลานา อูปานา อูนาลา อูลีกา
วาเล เวเน วาลี วาลากา

ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลางจะใช้ชื่อตามธรรมเนียมในภาษาฮาวายมาตั้งชื่อให้กับพายุที่ก่อตัวขึ้นภายในพื้นที่ภายในเขตอำนาจของหน่วยงาน โดยชุดรายชื่อประกอบด้วยชุดของรายชื่อจำนวนสี่ชุด เมื่อรายชื่อชุดที่หนึ่งถูกใช้ไปจนหมดแล้ว จะทำการใช้ชื่อในชุดที่สองต่อ เป็นเช่นนี้จนถึงชุดที่สี่ เมื่อรายชื่อในชุดที่สี่ถูกใช้จนหมดแล้ว ก็จะกลับไปใช้ชื่อในชุดที่หนึ่งอีกครั้ง เป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ซึ่งไม่เหมือนกับในแอตแลนติกและแปซิฟิกตะวันออก ตรงที่ชื่อพายุจะไม่ได้เริ่มต้นด้วยตัวอักษร "A" ในทุก ๆ ปี โดยมีชื่อของพายุที่ถูกถอนแล้วทั้งสิ้นสี่ชื่อ ได้แก่ อีวา (Iwa) เมื่อ พ.ศ. 2525, อีนิกี (Iniki) เมื่อ พ.ศ. 2535, ปากา (Paka) เมื่อ พ.ศ. 2540 และอีโอเก (Ioke) เมื่อ พ.ศ. 2549 ซึ่งถูกแทนที่ด้วย อีโอ (Io, และภายหลังถูกเปลี่ยนเป็น อีโอนา/Iona), ไอโอลานา, ปามา และ อีโอปา แทนตามลำดับ

ระบบการพยากรณ์ แก้

ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ศูนย์เฮอริเคนแปซิฟิกกลางใช้ระบบพยากรณ์พายุหมุนเขตร้อนอัตโนมัติในการพยากรณ์ ออกคำแนะนำ และสร้างภาพกราฟิก

ดูเพิ่ม แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้