ศัมภละ (สันสกฤต: शम्भल, อักษรโรมัน: Śambhala; ทิเบต: བདེ་འབྱུང; ฮินดี: शम्भल) หรือบางครั้งปรากฏ[1] ทับศัพท์อิงการถอดอักษรโรมันว่า ชัมบาลา (โรมัน: Shambhala) เป็นชื่อนครแห่งหนึ่งซึ่งพุทธศาสนาแบบทิเบตและอินเดียเชื่อว่าซ่อนตัวอยู่ในเอเชียใน นครนี้ปรากฏอยู่ในตำราโบราณหลายฉบับ รวมถึงกาลจักรตันตระ (Kalachakra Tantra) และเอกสารโบราณในวัฒนธรรมซังซุง[2][3] แต่ไม่ว่าจะมีเค้ามูลทางประวัติศาสตร์หรือไม่อย่างไร ก็มีผู้ถือว่าศัมภละเป็นเมืองแห่งสุขาวดีกันเรื่อย ๆ มา และศัมภละในรูปแบบสุขาวดีนี้เองที่แพร่ไปในวัฒนธรรมตะวันตกจนเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ทั้งผู้เป็นและไม่เป็นพุทธศาสนิกชน

ในคัมภีร์กาลจักรตันตระ แก้

 
พระเจ้ามัญชุศรีกีรติ

ศัมภละเป็นคำภาษาสันสกฤตซึ่งยังไม่ทราบรากศัพท์แน่ชัด ความเชื่อเรื่องศัมภลนครในพุทธศาสนานั้น แท้จริงรับเอามาจากคติพราหมณ์เรื่องพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นบุรุษชื่อกัลกิแห่งศัมภลนครซึ่งปรากฏอยู่ในกาพย์มหาภารตะและคัมภีร์ปุราณะ แต่ก็มีผู้เห็นว่าเป็นการสร้างอุดมคติจากวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่แล้ว โดยเอาภูมิภาคในกลางหรือตะวันออกไกลของเอเชียมาปรุงแต่งเป็นศัมภลนคร

ตามความเชื่อในพุทธศาสนา ศัมภลนครเป็นดินแดนแห่งความสงบร่มเย็นและปีติศานติ์ ว่ากันว่าพระโคตมพุทธเจ้าเคยมีพระพุทธฎีกาตรัสสอนเรื่องกาลจักรให้แก่พระเจ้าสุจันทระแห่งศัมภละ ซึ่งต่อมาได้รับการบันทึกเป็นคัมภีร์ชื่อกาลจักรตันตระ และคัมภีร์นั้นว่าศัมภละเป็นสังคมซึ่งไพร่บ้านพลเมืองทั้งปวงมีความรู้ เป็นสุขาวดีโดยแท้จริง ตั้งอยู่กลางกรุงกลปะ (Kalapa) พระเจ้าศัมภละนั้นมีตำแหน่งเรียกว่า "กัลกิ" ทรงปกครองแผ่นดินโดยดำรงอยู่ในราชธรรมตามคัมภีร์กาลจักรตันตระ[4][5][6]

คัมภีร์กาลจักรตันตระยังพยากรณ์ว่า เมื่อโลกถดถอยเข้าสู่กลียุค สรรพสิ่งจะถึงแก่ความดับสูญ ครั้งนั้น ศัมภละกษัตริย์พระองค์ที่ยี่สิบห้าจะเสด็จกรีธาพยุหะรี้พลมหึมาออกจากนครเพื่อกระทำสงครามต่อต้านความชั่วร้าย และจะทรงบำรุงโลกให้เป็นยุคทอง นักวิชาการหลายคน เช่น อเลกซ์ เบอร์ซิน (Alex Berzin) อาศัยคัมภีร์กาลจักรตันตระนี้คำนวณว่า เหตุการณ์ดังกล่าวตกใน ค.ศ. 2424[7]

อนึ่ง ยังเชื่อกันด้วยว่าพระเจ้ามัญชุศรีกีรติมีพระประสูติกาลในปีที่ 159 ก่อนคริสตกาล และได้เป็นศัมภละกษัตริย์พระองค์ที่แปด ในแว่นแคว้นของพระองค์นั้น พลเมืองสามแสนห้าร้อยสิบคนถือศาสนามฤจฉา (Mleccha) หรือศาสนาอันเห็นผิดเป็นชอบ และบางคนบวงสรวงสุริยเทพ ต่อมา พระองค์จึงทรงขับไล่นักพรตมฤจฉาไปเสียจากนคร แต่ภายหลังเมื่อสดับตรับฟังฎีกาพวกเขาเหล่านั้นแล้ว ก็ทรงอภัยโทษให้กลับเข้ามาได้ ทว่า เพื่อประโยชน์สุขแห่งแว่นแคว้น พระองค์จึงเสด็จเที่ยวสั่งสอนคัมภีร์กาลจักรตันตระแก่ประชาชนพลเมือง ครั้นปีที่ 59 ก่อนคริสตกาล พระองค์ทรงสละพระราชสมบัติให้พระราชกุมารปุณฑริก (Puṇdaŕika) เสวยสืบต่อมา ไม่ช้าก็เสด็จนฤพาน และทรงกลายเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง

การตีความ แก้

มีผู้กำหนดแนวคิดเกี่ยวกับศัมภลนครไว้มากมาย บ้างก็ว่า ศัมภลนครมีความหมายภายนอก ความหมายภายใน และความหมายเผื่อเลือก สำหรับความหมายภายนอกนั้นเห็นว่า ศัมภลนครเป็นสถานที่มีอยู่จริง แต่เฉพาะบุคคลที่ประกอบกรรมอันสมควรเท่านั้นจึงจะเข้าถึงและรับรู้ได้ ทะไลลามะองค์ที่สิบสี่ตรัสไว้เมื่อปี 1985 ว่า ศัมภลนครนั้นมิใช่แว่นแคว้นธรรมดา พระองค์ทรงว่า "แม้ว่าบุคคลซึ่งมีกำเนิดพิเศษย่อมสามารถเข้าสู่ที่นั้นโดยอาศัยความสัมพันธ์ทางกรรมได้ ทว่า นครนี้มิใช่สถานที่อันจับต้องได้ซึ่งเราจะพบเจอกันได้ พวกเราพูดได้ก็แต่ว่าเป็นสุขาวดี สุขาวดีบนดินแดนมนุษย์ และถ้าการกระทำกับคุณงามความดีไม่สัมพันธ์สอดคล้องกันแล้ว ก็ไม่สามารถถึงที่นั่นได้โดยแท้"

มีผู้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับที่ตั้งของศัมภลนครเช่นกัน ที่นิยมที่สุดว่าตั้งอยู่กลางเอเชีย ไม่ก็เหนือหรือตะวันตกของประเทศทิเบต ตำราโบราณของวัฒนธรรมเซี่ยงสฺยงระบุว่า ศัมภลนครคือหุบเขาศุตุทริ (शुतुद्रि, Śutudri) รัฐปัญจาบ ประเทศอินเดีย ส่วนชาวมองโกลมองว่าศัมภลนครเป็นหุบเขาแห่งหนึ่งทางตอนใต้ของไซบีเรีย ในขณะที่คติชนอัลไตเชื่อว่า ภูเขาเบลูฮา (Белуха) ในประเทศรัสเซีย เป็นปากทางศัมภลนคร ฝ่ายนักพุทธศาสตร์ในปัจจุบันราวกับจะได้ข้อยุติว่า ศัมภลนครเป็นหมู่เขาอยู่ทางตอนเหนือของหิมาลัยซึ่งเรียกว่า เธาลาธาร (धौलाधार, Dhauladhar)

ส่วนความหมายภายในและความหมายเผื่อเลือกนั้นมุ่งหมายถึง การทำความเข้าใจโดยแยบคายว่า ศัมภละสื่อถึงสิ่งใดในกายและใจของมนุษย์ และในทางวิปัสสนา การสั่งสอนความหมายทั้งสองประการนี้มักเป็นไปในระหว่างอาจารย์กับศิษย์แบบปากต่อปาก

เชิงอรรถ แก้

  1. ปรากฏในชื่อของ ชัมบาลา (ภาพยนตร์) และในสื่อ เช่น ไทยรัฐ และ กรุงเทพธุรกิจ
  2. The Tantra by Victor M. Fic, Abhinav Publications, 2003, p.49.
  3. The Bon Religion of Tibet by Per Kavǣrne, Shambhala, 1996
  4. 香巴拉—时轮金刚的清净刹土(上) (ภาษาจีน), CN: Sina, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-12-14, สืบค้นเมื่อ 2012-06-29.
  5. 时轮金刚与香巴拉王朝 (ภาษาจีน), FJDH, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-10-04, สืบค้นเมื่อ 2012-06-29
  6. 香巴拉净土_罗鸣_新浪博客 (ภาษาจีน), CN: Sina.
  7. Berzin, Alexander (1997). "Taking the Kalachakra Initiation". สืบค้นเมื่อ 2008-10-27.

อ้างอิง แก้

อ่านเพิ่ม แก้