วิตามินเค
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
วิตามินเค เป็นวิตามินในกลุ่มที่ละลายได้ดีในไขมัน รูปแบบที่พบในธรรมชาติ มี 2 รูปแบบ ได้แก่ วิตามินเค I (Vitamin K I) หรือ ฟิลโลควิโนน (phylloquinone) เป็นรูปแบบที่พบในพืชและสัตว์ และ วิตามินเค II (Vitamin K II) หรือ เมนาควิโนน (menaquinone) เป็นรูปแบบที่พบในเนื้อเยื่อตับ และยังสามารถสร้างได้โดยแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในร่างกาย สำหรับวิตามินเค III (Vitamin K III) หรือ เมนาไดโอน (menadione) นั้น เป็นโมเลกุลที่สังเคราะห์ขึ้น ซึ่งจะถูกเปลี่ยนเป็น เมนาควิโนน โดยตับ
หน้าที่
แก้วิตามินเค มีความสำคัญต่อการแข็งตัวของเลือด
ร่างกายใช้วิตามินเคในกระบวนการเติมหมู่คาร์บอกซิลหลังการแปลรหัสอาร์เอ็นเอเป็นโปรตีน (posttranslational carboxylation) ของกรดกลูตามิก (glutamic acid) ซึ่งจำเป็นต่อการจับกับแคลเซียมของโปรตีนที่มีหมู่คาร์บอกซิลในตำแหน่งแกมมา (γ-carboxylated proteins) เช่น โปรธรอมบิน หรือ แฟคเตอร์ II (prothrombin or factor II) , แฟคเตอร์ VII, IX และ X (factors VII, IX and X) , โปรตีนซี (protein C) , โปรตีนเอส (protein S) และโปรตีนอื่นๆที่เป็นองค์ประกอบของกระดูก
ยาในกลุ่มวอร์ฟาริน (Warfarin) จะขัดขวางกระบวนการนี้ ทำให้วิตามินเคไม่สามารถเปลี่ยนไปเป็นไฮโดรควิโนน (hydroquinone) ซึ่งเป็นรูปแบบที่ออกฤทธิ์ได้
แหล่งที่พบ
แก้วิตามินเคพบมากในอาหารประเภทผักใบเขียว นอกจากนี้ยังพบในเนื้อสัตว์ นม เนย น้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง กาแฟ และแพร์
ปริมาณที่ร่างกายต้องการ คือ 100 ไมโครกรัมต่อวัน
ภาวะขาดวิตามินเค
แก้อาการที่แสดงถึง ภาวะขาดวิตามินเค (Hypovitaminosis K) คือ มีเลือดออกในอวัยวะต่างๆ เช่น ช่องกะโหลกศีรษะ ลำไส้ หรือ ผิวหนัง โดยจะพบมากในช่วงอายุ 1 สัปดาห์แรกของทารกแรกเกิด ทั้งนี้เป็นเพราะทารกมีไขมันสะสมน้อย ตับของทารกยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ลำไส้ยังปราศจากเชื้อแบคทีเรียที่สังเคราะห์วิตามิน ประกอบกับวิตามินเคที่ผ่านมาทางรกและน้ำนมจากมารดานั้นมีปริมาณน้อย
สำหรับภาวะขาดวิตามินเคในผู้ใหญ่นั้น มักเกิดร่วมกับสาเหตุบางอย่าง เช่น โรคเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารบางชนิด โรคทางเดินน้ำดีอุดตัน หลังจากการผ่าตัดลำไส้เล็ก หรือได้รับยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ครอบคลุมเชื้อกว้าง
การวินิจฉัยทำได้โดยการตรวจ เวลาโปรธรอมบิน (prothrombin time ; PT) ซึ่งผู้ที่มีภาวะขาดวิตามินเคจะใช้เวลานานกว่าปกติ หรือตรวจปริมาณวิตามินเคโดยตรงด้วยวิธี HPLC
การรักษาทำได้โดยให้วิตามินเคในรูปยาฉีด 10 มิลลิกรัมครั้งเดียว ในผู้ป่วยที่โรคเรื้อรังอื่นอาจเสริมด้วยวิตามินเคในรูปยากิน 1-2 มิลลิกรัมต่อวัน หรือ ในรูปยาฉีด 1-2 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์
ภาวะวิตามินเคเป็นพิษ
แก้ภาวะวิตามินเคเป็นพิษ (Hypervitaminosis K) คือ การได้รับวิตามินเคมากเกินไป สามารถทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และภาวะบิลิรูบินในเลือดต่ำในทารกได้