วัดไก่เตี้ย (จังหวัดปทุมธานี)

วัดในจังหวัดปทุมธานี

วัดไก่เตี้ย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 บ้านลุ่ม ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี แม่น้ำเจ้าพระยาตรงหน้าวัดนี้เป็นจุดเริ่มขุดคลองลัดเตร็ดใหญ่ลัดแม่น้ำเจ้าพระยา (สายเดิม)[1] มีเนื้อที่ตั้งวัด 14 ไร่ 1 งาน 21 ตารางวา

วัดไก่เตี้ย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดไก่เตี้ย, วัดดอนไก่เตี้ย
ที่ตั้งเลขที่ 32 หมู่ที่ 1 ทางหลวงท้องถิ่น ปท.ถ 1-0015 ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี 12000
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระมหาไพบูลย์ ฐิตธมฺโม ป.ธ.8
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดไก่เตี้ยสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน แต่มีคำบอกเล่าว่า ระหว่างที่มีการขุดคลองลัดเตร็ดใหญ่ในสมัยอยุธยานั้นมีวัดไก่เตี้ยอยู่ก่อนแล้ว ข้อมูลจากกรมการศาสนาระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2100 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2115[2]

เดิมวัดไก่เตี้ยมีชื่อว่า วัดดอนไก่เตี้ย เล่ากันว่า มีพระอรหันต์ไม่ทราบชื่อได้ออกธุดงค์มาถึงบริเวณที่ตั้งวัดนี้ เป็นป่าร่มรื่นและไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านซึ่งมีชาวบ้านสัญจรไปมา ขณะที่ท่านพักแรมอยู่นั้นมีไก่เตี้ยสองตัวสีสันสวยงามมากปรากฏออกมาให้เห็นเป็นอัศจรรย์ ต่อมาพระเจ้าแผ่นดินในสมัยนั้นได้ทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ยกขึ้นเป็นวัดหลวงและได้พระราชทานนามว่า "วัดดอนไก่เตี้ย" โดยถือเอาไก่สีสันสวยงามที่ปรากฏนั้นเป็นนิมิตหมาย แต่คำว่า "ดอน" หายไปเมื่อใดไม่ปรากฏ

เข้าใจกันว่าวัดไก่เตี้ยเป็นวัดหลวงในสมัยอยุธยา โดยสันนิษฐานจากการที่อุโบสถหลังเก่ามีประตูเข้าอุโบสถ 3 ทาง เฉพาะประตูกลางนั้นได้สร้างไว้อย่างวิจิตรพิสดาร เขียนเป็นรูปนารายณ์ลงรักปิดทอง เข้าใจว่าได้สร้างไว้สำหรับพระเจ้าแผ่นดินเสด็จผ่านเท่านั้น ส่วนประตูข้างทั้งสองบานนั้นสร้างไว้ให้ประชาชนใช้ แต่เดิมนั้นทางหลังอุโบสถยังมีอาคารพระฉายอีกหนึ่งหลัง ทางขึ้นพระฉายมีบันได 10 กว่าขั้น สร้างด้วยคอนกรีตขึ้นไปถึงข้างบน มียักษ์หิน 2 ตน สูงประมาณ 6 ศอก ยืนเฝ้าบันไดทั้งสองข้าง ภายในอุโบสถมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเป็นรูปพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์ ด้านข้างเป็นรูปสาวกข้างละ 10 กว่าองค์ ด้านบนของหลังคาสร้างไว้คล้ายยอดปราสาทมีซุ้มเล็ก ๆ หลายซุ้มแต่ละซุ้มเป็นรูปยักษ์รูปเทวดารูปพระนารายณ์ทุกซุ้ม ด้านหลังของอุโบสถมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ยาวประมาณ 10 วา หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก มีรูปสาวกปั้นด้วยปูนนั่งพนมมือตั้งแต่พระเศียรถึงปลายพระบาทประมาณ 25 องค์ และบัดนี้ได้พังสลายไปแล้ว

ในสมัยที่พระครูอรรถสุนทรดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสและเจ้าคณะตำบลสามโคก ท่านได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ วิหารหลวงพ่อโสธร หอสวดมนต์ และกำแพงแก้วล้อมอุโบสถ และกุฏิ ต่อมาในสมัยพระครูสมุห์วิเชียร ท่านได้สร้างเจดีย์ขึ้นที่หน้าวัด สร้างกุฏิสงฆ์สองชั้น ศาลาท่าน้ำ และศาลาการเปรียญ[3]

ปูชนียวัตถุ แก้

พระประธานในอุโบสถและพระพุทธรูปอีก 1 องค์ มีหน้าตักกว้างประมาณ 4 ศอก ทำด้วยหินสีขาวทั้งสององค์ ปัจจุบันได้ลงรักปิดทอง เข้าใจว่าเป็นพระพุทธรูปสมัยอู่ทองตอนต้น พระพุทธรูปปางห้างสมุทร 1 องค์ สร้างด้วยไม้โพธิ์ สูงประมาณ 3 ศอก ประจำอยู่ช่องหน้าบันโบสถ์ หลวงพ่อพุทธโสธร รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระอุ้มบาตร สูงประมาณ 3 ศอก ประดิษฐานอยู่ที่หอสวดมนต์ เป็นพระที่สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา วัดยังมีใบเสมาศิลาทรายแดงสมัยอยุธยาและบุษบกธรรมาสน์[4]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดไก่เตี้ย". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.
  2. สมคิด ทองสิมา, บุญมา ศรีสุรเมธี (2526). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 2. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. p. 570.
  3. "วัดไก่เตี้ย". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  4. "วัดไก่เตี้ย".