วัดโพธิสมภรณ์
วัดโพธิสมภรณ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่บนถนนเพาะนิยม เลขที่ 22 ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี อยู่ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 40 ไร่
วัดโพธิสมภรณ์ | |
---|---|
ชื่อสามัญ | วัดโพธิสมภรณ์ |
ที่ตั้ง | ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี |
ประเภท | พระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ |
นิกาย | เถรวาท ธรรมยุตินิกาย |
เจ้าอาวาส | พระราชสารโกศล (วงศ์ไทย สุภวํโส) |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดโพธิสมภรณ์ เริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2449 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดย มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดร ได้พิจารณาเห็นว่าในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานี มีเพียง “วัดมัชฌิมาวาส” วัดเดียวเท่านั้น สมควรที่จะสร้างวัดขึ้นอีกสักวัดหนึ่ง จึงได้ไปสำรวจดูสถานที่ทางด้านทิศใต้ของ “หนองนาเกลือ” ซึ่งเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่อุดมไปด้วยเกลือสินเธาว์ มีปลาและจระเข้ชุกชุม (ต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “หนองประจักษ์” เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ผู้ก่อตั้งเมืองอุดรธานี) เห็นว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมควรแก่การสร้างวัดได้เพราะเป็นที่ราบป่าละเมาะเงียบสงบดี ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ เมื่อตกลงใจเลือกสถานที่ได้แล้ว มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ก็ได้ชักชวนและนำพาราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งมาร่วมกันถากถางป่าจนพอควรแก่การปลูกกุฏิ ศาลาโรงธรรม สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาประจำปีของหน่วยราชการ ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ 1 ปี ในระยะแรกชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่” เพราะแต่เดิมมีเพียงวัดมัชฌิมาวาสซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “วัดเก่า” ด้วยพบร่องรอยเป็นวัดร้างมาก่อน มีเจดีย์ศิลาแลงเก่าแก่และพระพุทธรูปหินขาวปางนาคปรก และได้กราบอาราธนา พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าคณะเมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัด
ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาต
การตั้งชื่อ
แก้มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ได้นำความขึ้นกราบทูลขอชื่อต่อ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (หม่อมเจ้าภุชงค์ ชุมพูนุท สิริวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ได้ทรงประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่ มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ผู้สร้างวัดแห่งนี้
ลำดับเจ้าอาวาส
แก้ลำดับที่ | รายนาม | เริ่มวาระ | สิ้นสุดวาระ |
1 | พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) | พ.ศ. 2450 | พ.ศ. 2465 |
2 | พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) | พ.ศ. 2466 | พ.ศ. 2505 |
3 | พระอุดมญาณโมลี (จันทร์ศรี จนฺททีโป) | พ.ศ. 2505 | พ.ศ. 2559 |
4 | พระเทพมงคลนายก (สิงห์ อินทปัญโญ) | พ.ศ. 2559 | พ.ศ. 2560 |
5 | พระราชสารโกศล (วงศ์ไทย สุภวํโส) | 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 | ปัจจุบัน |
ปูชนียวัตถุที่สำคัญของวัด
แก้- พระพุทธรูปทองสำริด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย(หลวงพ่อพระพุทธรัศมี) หน้าตักกว้าง 1.55 เมตร สูง 2.30 เมตร อายุประมาณ 600 ปี สมัยสุโขทัย เป็นพระประธานในพระอุโบสถ และพระประธานองค์นี้ยังมีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเศียรด้วย
- พระพุทธรูปศิลาแลง เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร สูง 95 เซนติเมตร กว้าง 24 เซนติเมตร สมัยลพบุรี อายุประมาณ 1,300 ปีประดิษฐานอยู่หลังพระอุโบสถพระพุทธรูปองค์นี้ชาวเมืองอุดรให้ความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก มักจะมีคนมากราบไหว้ขอพรอยู่เสมอ จนมีอีกชื่อหนึ่งว่า “พระขอ” ซึ่งหมายถึงหากเราขออะไรก็จะได้อย่างนั้นนั่นเอง
- ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นโพธิ์ที่รัฐบาลประเทศศรีลังกา มอบให้รัฐบาลไทย ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้นำมาปลูกไว้เมื่อปี พ.ศ. 2494
- รอยพระพุทธบาทจำลอง ทำด้วยศิลาแลง อายุประมาณ 100 ปีเศษ
- ตู้พระไตรปิฎกลายทองลดน้ำ สร้างในพระนามเจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2472
- พระบรมธาตุธรรมเจดีย์