วัดเจ้าย่า
วัดเจ้าย่า โบราณสถานประเภทวัดร้างที่ตั้งอยู่บริเวณปากคลองสระบัวตัดคลองบางปลาหมอ ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อยู่ติดกับวัดแร้ง
วัดเจ้าย่า | |
---|---|
ที่ตั้ง | หมู่ที่ 2 ตำบลคลองสระบัว อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา |
ประเภท | วัดร้าง |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
ประวัติ
แก้วัดเจ้าย่าสร้างขึ้นในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้างไม่ปรากฏหลักฐานแต่สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น หลังจากนั้นวัดเจ้าย่าคงจะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย กระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อวันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 วัดเจ้าย่าจึงได้ถูกทิ้งร้างก่อนจะได้รับการฟื้นฟูในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นแต่ก็ถูกทิ้งร้างอีกครั้งเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445 กระทั่งกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2486[1][2] ต่อมาในปี พ.ศ. 2542 ทางกรมศิลปากรได้เข้ามาขุดแต่งและบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานวัดเจ้าย่า
โบราณสถาน
แก้ในปัจจุบันวัดเจ้าย่าได้มีถนนตัดผ่านทำให้วัดเจ้าย่าถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่งคือ เขตพุทธาวาส ทางฝั่งตะวันออกและเขตสังฆาวาสด้านที่ติดกับคลองสระบัวเป็นฝั่งตะวันตก
ฝั่งตะวันออกประกอบด้วยโบราณสถานดังต่อไปนี้ วิหารตั้งอยู่บนฐานล้อมด้วยกำแพงแก้ว วิหารยาว 18.30 เมตร กว้าง 9.90 เมตร ภายในวิหารมีแท่นชุกชี ไม่พบส่วนของพระพุทธรูป เจดีย์ประธานอยู่ทางทิศตะวันตกของวิหารเป็นเจดีย์ทรงกลมก่ออิฐสอดินและฉาบปูนด้านนอกทั้งองค์ มีเจดีย์รายล้อม วิหารน้อย ยาวประมาณ 3.50 เมตร กว้างประมาณ 3 เมตร กำหนดอายุสมัยราวอยุธยาตอนปลายลงมา ประมาณหลังรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีพระปรางค์น้อยตั้งชิดแนวกำแพงแก้วของวิหารน้อย และมีเจดีย์ราย 3 องค์ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวิหาร เจดีย์ราย 4 องค์ อยู่ระหว่างด้านหน้าเจดีย์ประธานและด้านหลังของวิหาร ปัจจุบันเหลือเพียงฐานราก
ส่วนบริเวณฝั่งตะวันตกของถนน มีซากโบราณสถาน ได้แก่ อาคารหรือตำหนัก เป็นอาคาร 2 ชั้น ก่ออิฐสอปูน อิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบตะวันตกแบบตำหนักกำมะเลียนวัดกุฎีดาว ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีทางเดินสู่ตำหนักเป็นทางเดินอิฐเชื่อมมาจากด้านริมคลอง และหอระฆังโดยขึ้นทางชานด้านหลัง มีอาคารจำนวน 5 แห่ง เหลือเพียงฐานกระจายอยู่ในบริเวณเขตสังฆาวาส สันนิษฐานว่าเป็นศาลาโถงและศาลานั่งพักผ่อน
นอกจากโบราณสถานที่กล่าวมาแล้ว ยังมีซากโบราณสถานอีก 1 แห่ง ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันออกของถนนห่างจากบริเวณเขตพุทธาวาสขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 20 เมตร เป็นอาคารก่ออิฐสอปูนทรงกลม 2 หลัง สันนิษฐานว่าเป็นอาคารสำหรับนั่งวิปัสสนา เนื่องจากพื้นที่ภายในค่อนข้างคับแคบ[3]
อ้างอิง
แก้- ↑ วัดเจ้าย่า (ร้าง) สถานที่นี้มีตำนานเล่าขาน
- ↑ แจ้งความกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณวัตถุสถานสำหรับชาติ (หน้า ๒๓๕๑)
- ↑ "วัดเจ้าย่า". ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศมรดกศิลปวัฒนธรรม กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม.