วัดอัมพวัน (จังหวัดนนทบุรี)

วัดในจังหวัดนนทบุรี

วัดอัมพวัน เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 13 บ้านคลองขวาง ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี

วัดอัมพวัน
แผนที่
ชื่อสามัญวัดอัมพวัน, วัดบางม่วง
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 13 ถนนวัดอัมพวัน ตำบลบางม่วง อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี 11140
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดอัมพวันสร้างขึ้น พ.ศ. 2175 ในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เดิมชื่อ วัดบางม่วง ตั้งอยู่ริมคลองแม่น้ำอ้อมซึ่งเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิม สันนิษฐานว่าชื่อวัดตั้งตามสภาพการทำสวนมะม่วงของชาวบ้านรอบพื้นที่วัด ทั้งนี้คำว่า อัมพวัน หรือ อัมพวาน แปลว่า ป่ามะม่วงหรือสวนมะม่วง และในสมัยพุทธกาลก็มีสวนอัมพวัน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างกำแพงกรุงราชคฤห์กับภูเขาคิชฌกูฏ ครั้งหนึ่งหมอชีวกโกมารภัจจ์เคยถวายการรักษาอาการประชวรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้หายเป็นปกติ[1] วัดอัมพวันได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

อาคารเสนาสนะ

แก้

อาคารเสนาสนะที่โดดเด่นของวัดคือ หอไตรซึ่งมีความสมบูรณ์ทางสถาปัตยกรรมไทยอย่างมาก เป็นเรือนไม้กลางน้ำ 2 ชั้น หลังคาซ้อน 2 ชั้น มีปีกนก 1 ชั้น มุงกระเบื้องดินเผาใต้เชิงชาย และหน้าบันประดับไม้สลักลายรดน้ำ ชั้นล่างโล่งไม่มีพื้นและฝา ชั้นบนเป็นตัวหอขนาด 2 ห้อง ช่วงล่างเป็นลูกฟักกระดานดุน ตอนบนเป็นซี่ลูกกรงไม้กลึง เสากรอบประตูเป็นเสาหัวเม็ด ประตูหูข้าง เครื่องลำยองเป็นไม้จำหลัก ฝาผนังด้านนอกทาสีลูกฟักด้วยสีแดงขอบขาว ตัวไม้เครื่องบันอื่น ๆ ทาสีขาวตัดเหลี่ยมสีแดง เสาลงพื้นสีขาวเขียนลายแดง หน้าบาน ประตูเข้าในหอไตรเป็นบานไม้ลงรักปิดทองลายพุ่มข้าวบิณฑ์และลายประจำยามก้านแย่ง อกเลาเป็นไม้จำหลักลายดอกพุดตานลูกฟัก เหนือประตูเป็นภาพนกข้างละตัว เหนือขึ้นไปเป็นภาพพระอาทิตย์และพระจันทร์ ในห้องสะกัดท้าย ภายในหอไตรเก็บพานตะลุ่มและฐานพระพุทธรูปไม้จำหลักเป็นจำนวนมาก

อุโบสถประดิษฐาน พระพุทธมงคลสุโขทัย ในกุฏิเจ้าอาวาสมีพระปางเทริดสะดุ้งมารซึ่งมีลักษณะเหมือนใส่หมวก อยู่ในท่ายืนตรง มีต้นกำเนิดมาจากสมัยอยุธยา

วัดยังมีมณฑปพระพุทธบาท ภายในมีพระพุทธบาทจำลองทำด้วยโลหะประดิษฐานอยู่บนฐานปูน และศาลาท่าน้ำที่งดงามมาก[2]

อ้างอิง

แก้
  1. "วัดอัมพวัน". กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา.[ลิงก์เสีย]
  2. ไตรเทพ ไกรงู (12 กรกฎาคม 2556). "วัดอัมพวันนนทบุรีวัดที่พบ... 'พระขุนแผนเคลือบแตกกรุ'จริงหรือ?". คมชัดลึก.