วัดสำเภาเชย

วัดในจังหวัดปัตตานี

วัดสำเภาเชย เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มีที่ดินตั้วัดเนื้อที่ 30 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา มีที่ธรณีสงฆ์ 11 แปลง เนื้อที่ 41 ไร่ 2 งาน 38 ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบสูง มีนาของชาวบ้านโดยรอบ ห่างจากทะเลประมาณ 2 กิโลเมตร

วัดสำเภาเชย
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสำเภาเชย, วัดทุ่งสำเภา
ที่ตั้งตำบลปะนาเระ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสำเภาเชย เดิมเรียกว่า วัดทุ่งสำเภา เพราะสร้างขึ้นในหมู่บ้านทุ่งสำเภา ต่อมาได้ย้ายวัดมาสร้างใกล้ ๆ กับที่เดิมและได้ตั้งชื่อใหม่ว่า วัดสำเภาเชย ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2444 โดยมีหลวงสุรนารถ ปะนารักษ์ (เชย โรจนวิภาต) นายอำเภอปะนาเระ พร้อมด้วยราษฏรร่วมใจกันส่ร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2456[1] เขตวิสุงคามสีมากว่าง 15 เมตร ยาว 30 เมตร ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. 2457

วัดมีเกจิอาจารย์คือ พระศีลมงคล (ทอง สีลสุวณฺโณ) อดีตเจ้าอาวาสที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความเลื่อมใสศรัทธา มีลิ้นดำที่ติดตัวท่านแต่กำเนิด ด้วยตามตำราโบราณถือว่าผู้มีลิ้นดำมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ สามารถกำราบคุณไสย ด้านการศึกษาที่ท่านบริจาคที่ดินให้จัดตั้งโรงเรียนวัดสำเภาเชย ตั้งแต่ พ.ศ. 2499 ปัจจุบันได้ยุบรวมกับโรงเรียนบ้านปะนาเระ ต่อมาได้จัดตั้งโรงเรียนสอนพระปริยัติธรรมประจำศาสนศึกษาขึ้นในวัดสำเภาเชย แผนกธรรมประจำสนามสอบวัดสำเภาเชย ด้านการพัฒนาวัดท่าได้สร้างเสนาสนะต่าง ๆ เช่น อุโบสถ หอฉัน ศาลาอเนกประสงค์ ศาลาที่พัก ซุ้มประตู และกำแพงวัด จนได้รับการยกย่องให้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างจากกรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ พ.ศ. 2525 และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่นเมื่อ พ.ศ. 2544[2]

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ อุโบสถกว้าง 6 เมตร ยาว 18 เมตร ใช้แบบ ก. ของกรมศิลปากร อุโบสถหลังเดิมสร้างด้วยไม้เมื่อ พ.ศ. 2476 ศาลาการเปรียญกว้าง 6 เมตร ยาว 21 เมตร สร้าง พ.ศ. 2496 โครงสร้างครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น หอฉันกว้าง 9 เมตร ยาว 21 เมตร สร้างเมื่อ พ.ศ. 2490 กุฏิสงฆ์ จำนวน 8 หลัง โครงสร้างเป็นอาคารไม้ เป็นหลังใหญ่ 3 หลัง หลังเล็ก 5 หลัง ปูชนียวัตถุที่สำคัญ ได้แก่พระประธานในอุโบสถและที่ศาลาการเปรียญมีขนาดพระเพลากว้าง 4 ฟุตเท่ากัน เป็นพระเนื้อสัมฤทธิ์ ปางมารวิชัย[3]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระอธิการนุ้ย เจ้าอาวาส พ.ศ. 2445–2448
  • พระอธิการทอง พ.ศ. 2449–2451
  • คุณพระอ้น พ.ศ. 2452–2453
  • พระครูอรรถเวที พ.ศ. 2454–2464 ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดปัตตานี
  • พระครูวิธานวัตต์ (คง) พ.ศ. 2463–2484 เจ้าคณะอำเภอปะนาเระ
  • พระอธิการตีบ ติสสโร พ.ศ. 2484–2487
  • พระศีลมงคล (ทอง สีลสุวณฺโณ)

อ้างอิง แก้

  1. "วัดสำเภาเชย". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "พ่อท่านทอง สีลสุวัณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดสำเภาเชย". ข่าวสด.
  3. "วัดสำเภาเชย". ฐานข้อมูลการท่องเที่ยว 5 จังหวัดชายแดนใต้.