วัดสะตือ (จังหวัดพระนครศรีอยุธยา)

วัดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วัดสะตือ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก ในตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตามหลักฐานเดิมวัดมีพื้นที่ประมาณ 37 ไร่ แต่แม่น้ำกัดเซาะจนเว้าแหว่งเหลือเพียง 15 ไร่เศษ

วัดสะตือ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดสะตือ, วัดท่างาม, วัดท่าหลวง, วัดสะตือพุทธไสยาสน์
ที่ตั้งตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระพุทธรูปปางไสยาสน์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดสะตือสร้างเมื่อ พ.ศ. 2400[1] พระอุปัชฌาย์บัตร จันทโชติ อดีตเจ้าอาวาสวัดสะตือชี้แจงไว้ในหนังสือสมุดสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสีว่า วัดสะตือเดิมอยู่ทางเหนือขึ้นไปไม่ไกลนัก ที่เรียกว่าวัดสะตือเพราะถือเอาต้นสะตือใหญ่ที่มีอยู่ในวัดเป็นนิมิต ต่อมาเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี สร้างพระพุทธไสยาสน์ขึ้นแล้ว วัดสะตือจึงย้ายไปตั้งที่บริเวณพระพุทธไสยาสน์ และเรียกนามใหม่ตามตำบลว่า วัดท่างาม ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงนมัสการพระพุทธบาท ได้เสด็จฯ ขึ้นท่าน้ำตำบลนี้ 2 ครั้ง แต่นั้นมาจึงเรียกตำบลใหม่ว่าตำบลท่าหลวง และเรียกนามวัดใหม่ว่า วัดท่าหลวง ต่อมากลับไปเรียก "วัดสะตือ" ตามเดิม

ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ประดิษฐานทางทิศใต้ของวัด มีขนาดยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตรและสูง 16 เมตร มีศาลาดินหรือวิหารสมเด็จ ซึ่งแต่เดิมเป็นอาคารไม้โปร่งมุงสังกะสีใช้สลักเดือยแทนการตอกตะปูสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลายมีรูปทรงเป็นเรือสำเภา ซึ่งสมเด็จพุฒาจารย์โตได้พักอาศัยเมื่อคราวมาคุมการก่อสร้างองค์พระพุทธไสยาสน์ ต่อมาได้สร้างวิหารคู่เชื่อมต่อกันเป็นศาลาน้ำหรือศาลาริมแม่น้ำป่าสัก และยังมีฌาปนสถานซึ่งใช้เป็นเตาน้ำมันแห่งแรกในอำเภอท่าเรือ ภายในอุโบสถมีพระประธาน ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตักกว้าง 64 นิ้ว สูง 126 นิ้ว สร้างเมื่อ พ.ศ. 2497 และพระปรางค์นาคปรกสมัยทวาราวดีเนื้อหินทรายซึ่งกรมศิลปากรขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุไว้ รวมทั้งรอยพระพุทธบาทจำลองอายุนับร้อยปี[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดสะตือ". สำนักงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา.
  2. "วัดสะตือ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).