วัดศรีนวลสว่างอารมณ์

วัดในจังหวัดอุบลราชธานี

วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

วัดศรีนวลสว่างอารมณ์
ศาลาธรรมาสน์สิงห์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดศรีนวลสว่างอารมณ์, วัดศรีนวล, วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์
ที่ตั้งตำบลชีทวน อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า วัดศรีนวล ซึ่งในแต่เดิมใช้เขียนว่า วัดสีนวน วัดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตามสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2340 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2347[1]

มีเรื่องกล่าวขานต่อกันมาว่าได้มี ญาครูตีนก้อม ได้พาญาติโยม สร้างวัดขึ้นก่อน ต่อมายายสีนวนได้บริจาคที่ดินให้เพิ่มขึ้นเพื่อขยายอาณาเขตของวัดให้กว้างขวางกว่าเดิม ชื่อวัดจึงได้เรียกว่า "วัดสีนวน" หรือ "วัดศรีนวล" ในภายหลัง และคำว่า "แสงสว่างอารมณ์" ได้มาเพิ่มเติมขึ้นภายหลังการก่อสร้างศาสนสถานของวัดในขณะที่พระอุปัชฌาย์วงค์ พฺรหฺมสโร เป็นเจ้าอาวาส (พ.ศ. 2430–2492)

อาคารเสนาสนะและศิลปวัตถุ แก้

อาคารเสนาสนะที่สำคัญ ได้แก่ สิม (โบสถ์) ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางประธาน เป็นพระพุทธตรัสรู้สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 เป็นพระโลหะสำริด หน้าตักกว้าง 1.3 เมตร สูง 1.5 เมตร ฐานชุกชีกว้าง 1.9 เมตร สูง 1.5 เมตร ด้านข้างลึก 1.3 เมตร และมีพระพุทธรูปปางประธานองค์เดิม ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์เดียวกันกับองค์ใหม่เป็นพระพุทธรูปสำริด ปางมารวิชัย สร้างเมื่อ 2468 ซึ่งย้ายมาจากสิมเดิม หน้าตักกว้าง 1 เมตร สูง 1.50 เมตร ตั้งอยู่บนโต๊ะสูงประมาณ 1 เมตร[2]

ศาลาการเปรียญซึ่งภายในมีธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกที่ซึ่งเป็นสิ่งที่แปลกและแตกต่างจากธรรมาสน์โดยทั่วไปมาก สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2468–2470 ผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างเป็นช่างชาวญวน ส่วนการตกแต่งภายนอก ภายในและรายละเอียดต่าง ๆ พระอุปัชฌาย์วงค์ทำเอง ปัจจุบันธรรมาสน์สิงห์นี้ใช้เป็นที่สำหรับให้พระสงฆ์นั่งเทศน์มหาชาติในงานบุญเดือน 4 หรือบุญผะเหวด หรือบุญมหาชาติ[3] ที่ฝ้าเพดานของศาลาการเปรียญมีจิตรกรรมแบบญวนที่ผสมผสานระหว่างศิลปะจีนและตะวันตก

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • ญาครูตีนก้อม
  • พระอุปัชฌาย์วงค์ พฺรหฺมสโร พ.ศ. 2430–2492
  • พระทอง พ.ศ. 2493–2508
  • พระข่าย พ.ศ. 2509–2513
  • พระเสงี่ยม โฆสโก พ.ศ. 2514–2522
  • พระพันธ์ จารุวณฺโณ พ.ศ. 2523–2532
  • พระอธิการทา สุขกาโม พ.ศ. 2532–

อ้างอิง แก้

  1. "วัดศรีนวล". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "วัดศรีนวลสว่างอารมณ์ (วัดศรีนวล)". อีสานร้อยแปด.
  3. "วัดศรีนวลแสงสว่างอารมณ์ ธรรมาสน์สิงห์เทินบุษบกมรดกของชาติ". งานข้อมูลท้องถิ่นและจดหมายเหตุ สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-04. สืบค้นเมื่อ 2022-10-04.