วัดวังตะวันตก

วัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช

วัดวังตะวันตก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

วัดวังตะวันตก
แผนที่
ที่ตั้งตำบลคลัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

สถานที่ตั้งวัดวังตะวันตกแต่เดิมเป็นป่าขี้แรดใช้เป็นที่ค้างศพของคนในเมืองซึ่งนำออกมาทางประตูผี ซึ่งอยู่ด้านตะวันตกของตัวเมืองแล้วนำล่องเรือมาตามคลองท้ายวังเขาคลองทา แล้วเอาศพไว้ในที่ที่เป็นป่าขี้แรด ต่อมากลายเป็นที่รกร้างว่างเปล่าเพราะประเพณีการค้างศพได้เลิกนิยมไป ที่บริเวณนี้จึงกลายเป็นบ้านตากแดดคือปล่อยทิ้งไว้ให้แดดเผาเพื่อล้างสถานที่ที่เคยค้างศพและไม่มีผู้คนกล้าเข้ามาอาศัยอยู่ ต่อมาเจ้าจอมปรางซึ่งชาวบ้านเรียกว่า แม่นางเมืองหรือแม่วัง เห็นเป็นที่ว่างและอยู่ใกล้กับวังของท่านเพียงคนละฟาก จึงเกิดความคิดที่จะดัดแปลงที่ว่างนั้นให้เป็นอุทยานเพื่อเป็นที่พักผ่อนของบุตรชาย เจ้าพระยานคร (น้อย) ประกอบกับเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช จึงได้ดัดแปลงป่าขี้แรดให้เป็นอุทยาน

ต่อมาถึงสมัยเจ้าพระยานคร (น้อย) ได้ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ต้องรับภาระจัดการพระศพเจ้าจอมมารดาปราง ได้เลือกเอาอุทยานแห่งนี้เป็นที่ฌาปนกิจศพและได้ปรับปรุงวังตะวันออกให้เป็นวัดวังตะวันออก พร้อม ๆ กันนี้ได้ได้แปรสภาพอุทยานแห่งนี้ให้เป็นวัดอีกวัดหนึ่ง เรียกว่า "วัดวังตะวันตก" เมื่อประมาณ พ.ศ. 2380 เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ได้สร้างพระพุทธรูปสูงใหญ่ขึ้นองค์หนึ่งไว้ทางทิศใต้ของบริเวณวัด โดยสร้างไว้บนเนินดินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอุทยาน ถวายชื่อว่า พระศรีธรรมโศกราช เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติยศของผู้เป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช คนทั่วไปนิยมเรียกว่า พระสูง เมื่อ พ.ศ. 2515 ประชาชนได้ร่วมกันสร้างวิหารคลุมไว้

วัดวังตะวันตกตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2370 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2509[1]

กุฏิทรงไทย แก้

ภายในวัดวังตะวันตกมีกุฏิทรงไทยหลังหนึ่งมีจารึกสลักบนไม้เหนือบนประตูหลังกลางทางด้านตะวันออก กล่าวถึงการสร้างกุฏิหลังนี้ว่าเริ่มสร้างเมื่อ พ.ศ. 2431 ใช้เวลาสร้าง 13 ปี[2] เพื่อให้พระสงฆ์ได้อาศัยเรียนพระธรรมบำรุงพุทธศาสนา ผู้สร้างคือ พระอาจารย์ย่อง (พระครูกาชาด) คงเป็นพระสงฆ์ผู้เป็นแม่งานร่วมกับบรรดาญาติโยม สานุศิษย์

กุฏิมีลักษณะเป็นอาคารเรือนไทยภาคใต้ เป็นหมู่เรือนไทยสร้างด้วยไม้ เป็นเรือนฝากระดานแบบเรือนสร้างสับ 3 หลังหลังคาหน้าจั่วหันไปทางทิศตะวันออกทั้งหมด เรือนหลังกลางเป็นห้องโถงโล่งและเรือนอีก 2 หลังเป็นปีกยกพื้นสูงทั้ง 2 ข้าง มีฐานที่มีหลังคาคลุมต่อเชื่อมกันหลังคามุงกระเบื้องไม่เคลือบ ด้านทิศตะวันตกเป็นเรือนครัวซึ่งได้ย้ายมาประชิดกุฏิภายหลัง ปัจจุบันมีชานเรือนทำด้วยปูนซิเมนต์เชื่อมหมู่กุฏิและเรือนครัวเข้าด้วยกัน ตัวเรือนกุฏิไม้เป็นแบบเรือฝาประกน มีลวดลายแกะสลักไม้ ตกแต่งตามส่วนต่าง ๆ เป็นรูปบุคคลมีปีกประกอบลายพรรณพฤกษา ลายหัวบุคคลมีลำตัวเป็นก้านต้นไม้ กรอบหน้าต่างด้านล่างสลักเป็นลายเครือเถาและลายเรขาคณิตใต้กุฏิยกพื้นสูง

กุฏิทรงไทยที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อ พ.ศ. 2535[3]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดวังตะวันตก". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  2. "กุฏิทรงไทยวัดวังตะวันตก นครศรีธรรมราช". สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-08-21. สืบค้นเมื่อ 2022-05-23.
  3. "กุฏิทรงไทย วัดวังตะวันตก". องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน).