วัดป่าสามกษัตริย์

วัดป่าสามกษัตริย์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลหมูม่น อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ปัจจุบันมีพระอธิการพิทยา อตฺตทนฺโต เป็นเจ้าอาวาส[1]

วัดป่าสามกษัตริย์
อุโบสถหลังใหม่
แผนที่
ที่ตั้งตำบลหมูม่น อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
เจ้าอาวาสพระอธิการพิทยา อตฺตทนฺโต
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

วัดป่าสามกษัตริย์เป็นแหล่งโบราณคดีมีสภาพเป็นเนินดินธรรมชาติ ขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความกว้างประมาณ 50–80 เมตร สูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 5 เมตร ซึ่งพื้นที่โดยรอบมีสภาพเป็นที่ราบที่มีบ้านเรือนตั้งอยู่และบางส่วนเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรม ทางด้านทิศตะวันออกของเนินดินนี้มีห้วยดานเป็นลำน้ำธรรมชาติไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกลงไปทางด้านทิศใต้ บนเนินดินแหล่งโบราณคดีมีไม้ยืนต้นปกคลุมทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีสภาพเป็นป่าขนาดย่อม จากการเดินสำรวจพบเศษภาชนะดินเผาแบบเนื้อแกร่ง (stoneware) ชิ้นขนาดเล็ก เนื้อดินสีเทากระจัดกระจายอยู่ทั่วไปบนพื้นผิวดิน เนินดินนี้ชาวบ้านเรียกว่า โนนอีตู้ ทางด้านทิศตะวันตกของวัดมีหนองน้ำธรรมชาติ ที่เรียกกันว่า หนองอีเลิง ซึ่งเชื่อกันว่าคนโบราณได้ขุดดินบริเวณหนองอีเลิงมาถมพื้นที่โนนอีตู้ จึงทำให้เกิดเป็นสภาพหนองน้ำและเนินดินขึ้นมา

เหตุที่ชื่อว่า "วัดป่าสามกษัตริย์" เนื่องมาจากชาวบ้านเชื่อกันว่าพื้นที่บริเวณนี้เคยเป็นที่พบปะกันของกษัตริย์สามพระองค์ กรมการศาสนาได้ออกหนังสือประกาศรับรองสภาพวัด เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2537 โดยระบุว่ามีการใช้พื้นที่ก่อตั้งวัดป่าสามกษัตริย์มาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2475 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[2]

หลักฐานทางโบราณคดีที่พบ เช่น เศษภาชนะดินเผาเนื้อแกร่ง ก้อนอิฐดินเผาขนาดค่อนข้างใหญ่ เศษภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ ชิ้นส่วนกระดูกและฟันสัตว์ ลูกปัด และภาชนะดินเผาขนาดเล็ก เนื้อดินธรรมดา เป็นต้น สันนิษฐานเบื้องต้นว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้มีการใช้พื้นที่ในการทำกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงวัฒนธรรมบ้านเชียงเมื่อราว 5,600–1,800 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นมนุษย์ได้ใช้พื้นที่บริเวณนี้อีกครั้งในช่วงที่พื้นที่แถบนี้ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมล้านช้าง เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 22–25 เนื่องจากพบเศษภาชนะดินเผาชนิดเนื้อแกร่ง (stoneware) สีเทา ที่มีเนื้อดินค่อนข้างละเอียดแบบภาชนะดินเผาในวัฒนธรรมล้านช้างที่ปรากฏทั่วไปในภาคอีสาน ประกอบกับพบใบเสมาศิลาแลงในบริเวณที่เคยมีสิ่งก่อสร้างเดิม ซึ่งคาดว่าสิ่งก่อสร้างดังกล่าวน่าจะเป็นสิมเดิมที่ถูกรื้อถอนออกไปจนเหลือแต่เพียงฐาน ก่อน พ.ศ. 2528[3]

รายนามเจ้าอาวาสและรักษาการเจ้าอาวาส แก้

  • หลวงปู่บัวไหล  จิตฺตปาโร (ไม่ทราบ พ.ศ.)
  • หลวงปู่เหลือ (ไม่ทราบฉายา)
  • พระอำคา (ไม่ทราบฉายา)
  • พระครูวิริยธรรมโชติ (พระวิไลย์ วิเลยฺโย)
  • พระมหาปรีชา จนทธมฺโน
  • พระอธิการสิงห์ กตปญฺโญ
  • พระอธิการพิทยา อตฺตทนฺโต

อ้างอิง แก้

  1. "วัดป่าสามกษัตริย์". พระสังฆาธิการ.
  2. "วัดป่าสามกษัตริย์". สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ.
  3. "แหล่งโบราณคดีวัดป่าสามกษัตริย์". ระบบภูมิสารสนเทศ แหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม.