วัดป่าลิไลยก์ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง

วัดป่าลิไลยก์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดป่าลิไลยก์, วัดป่าชัน, วัดป่าเรไร
ที่ตั้งตำบลลำปำ อำเภอเมืองพัทลุง จังหวัดพัทลุง
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดป่าลิไลยก์ เดิมเรียก วัดป่าชัน ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดป่าเรไร ตามทำเนียบวัดจังหวัดพัทลุงของพระครูอริยสังวร (เอียด) ระบุว่าตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2247 ตรงกับสมัยสมเด็จพระเพทราชาแห่งกรุงศรีอยุธยา แต่เรื่องราวเกี่ยวกับวัดไม่ปรากฏในเอกสารโบราณใด ๆ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2329

ต่อมาเมื่อราว พ.ศ. 2325 พระมหาช่วยชาวบ้านน้ำเดือด ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุง ได้เป็นเจ้าอาวาส มีบันทึกว่าราว พ.ศ. 2328 พม่าได้ยกทัพมาตีเมืองชุมพร เมืองไชยา เมืองนครศรีธรรมราช ทางฝ่ายเมืองพัทลุงพระมหาช่วยได้ทำเครื่องรางของขลังแจกไพร่พลกรรมการเมืองรวบรวมกำลังไว้ได้ประมาณ 1,000 คน ยกไปต้านทัพพม่าที่ตำบลปันเต แต่ไม่ทันรบกันพม่าก็ถอยทัพเสียก่อน พระมหาช่วยมีความชอบเป็นอย่างมาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ลาสิกขาบทและแต่งตั้งให้เป็นพระยาทุกราษฎร์

ต่อมาได้เกณฑ์คนตัดไม้ต่อเรือรบ 30 ลำ ปากกว้าง 3 วา บ้าง 4 วา บ้าง มีการต่อเรือกันที่ชายทะเลหน้าวัดป่าลิไลยก์ แต่เรือยังไม่ทันเสร็จก็ติดราชการกบฏเมืองไทรบุรีเสียก่อน

จากคำบอกเล่าที่ดินของวัดป่าลิไลยก์ในปัจจุบันเป็นที่ของตาผ้าขาวได้บริจาคให้แก่พระสมหมีอินทร์ที่ตั้งใจจะนำของโบราณมาบรรจุที่พระบรมมหาธาตุนครศรีธรรมราชแต่ไม่ทันพิธีการจึงได้จอดเรือพักและสร้างวัดป่าลิไลยก์[1]

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา (ฉบับพิเศษ) เล่ม 102 ตอนที่ 180 หน้า 141 วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2528 พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา

ศิลปกรรม แก้

อุโบสถเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนมีกำแพงแก้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน ด้านนอกมีใบเสมาหินทรายสีแดง ตั้งอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนรอบอุโบสถจำนวน 8 ใบ บางใบสภาพชำรุดแต่ละใบมีลวดลายจำหลักไม่เหมือนกันคือสลักลายกระหนกก้านขดบางแผ่นสลักลายหน้ากาล เจดีย์ตั้งอยู่นอกกำแพงแก้วหน้าอุโบสถ เป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 2 เมตร สูงประมาณ 6 เมตร รอบฐานมียักษ์ปูนปั้นแบกด้านละ 5 ตน[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดป่าลิไลยก์". สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดพัทลุง.
  2. "วัดป่าลิไลยก์". กระทรวงวัฒนธรรม.[ลิงก์เสีย]