วัดบ้านทึง

วัดในจังหวัดสุพรรณบุรี

วัดบ้านทึง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี

วัดบ้านทึง
แผนที่
ที่ตั้งตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดบ้านทึง เดิมทีวัดบ้านทึงมีอยู่ 2 วัดมีเขตติดต่อกัน คือวัดโพธิเงินและวัดโพธิ์ทอง วัดโพธิ์เงินเป็นที่ตั้งของวัดบ้านทึงในปัจจุบัน ส่วนวัดโพธิ์ทองปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงเรียนประชาบาล[1]

มีตำนานเล่าว่า วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอู่ทอง พระองค์ได้สร้างวัดให้แก่มเหสีฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาของพระองค์ คือ วัดโพธิ์เงินและวัดโพธิ์ทอง อีกตำนานหนึ่งเล่าว่า สมัยนั้นเกิดโรคห่าระบาดหนัก มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระองค์จึงอพยพผู้คนหนีออกจากเมืองทางเกวียน จนมาถึงบ้านทึงแอกเกวียนได้หักลงจึงได้หยุดซ่อมและรอเป็นเวลาหลายวัน จากนั้นได้สั่งให้สร้างวัดขึ้นบริเวณนั้น 3 แห่ง คือ วัดบางแอก วัดรอ และวัดบ้านทึง กล่าวกันว่ามีผู้ติดตามพระองค์ได้ไปขอฟางจากชาวบ้านมาให้วัวกินแต่ชาวบ้านไม่ให้ ต่อมาก็ให้ไปขอหนังสำหรับผูกแอกเกวียน ชาวบ้านก็ไม่ให้ พระเจ้าอู่ทองจึงเรียกชาวบ้านแห่งนี้ว่า พวกบ้านขี้ทึ้ง (บ้านคนขี้เหนียว) ต่อมาได้เพี้ยนมาเป็นบ้านทึง วัดบ้านทึงยังปรากฏอยู่ในนิราศสุพรรณโดยสุนทรภู่

เสนาสนะ แก้

ภายในบริเวณวัดบ้านทึงมีโบราณวัตถุและโบราณสถานที่สำคัญหลายอย่าง เช่น วิหารเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง 8.5 เมตร ยาว 13 เมตร ผนังด้านหน้าเจาะช่องประตู 3 ช่อง เป็นแบบซุ้มประตูวงโค้ง ส่วนผนังด้านหลังทั้งสองเจาะช่องหน้าต่างวงโค้งด้านละ 3 ช่อง อาคารหลังนี้ส่วนของหลังคาได้พังทลายลงมาหมดแล้ว จากรูปแบบของอาคารสันนิษฐานว่าเป็นศิลปะอยุธยา

หอไตรอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของวิหาร เป็นอาคาร 2 ชั้น มีผังเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 4.5 เมตร ยาว 7 เมตร อาคารชั้นล่างมีช่องประตูอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทิศใต้โดยทำเป็นช่องประตูจริง 1 ช่อง และมีช่องหน้าต่างรูปวงโค้งขนาบอยู่ด้านข้างส่วนผนังด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกเจาะช่องหน้าต่างวงโค้ง 3 ช่องเรียงกัน อาคารชั้นบน มีพื้นเป็นไม้กระดาน ผนังด้านทิศตะวันตกทิศใต้และทิศตะวันตกทิศใต้และทิศตะวันออก เจาะเป็นช่องประตูวงโค้งอยู่ตรงกลางโดยมีซุ้มประตูหลอกขนาบอยู่ทั้งสองข้าง ส่วนผนังด้านทิศเหนือทำเป็นช่องหน้าต่างรูปวงโค้ง 3 บานเรียงกัน กุฏิไม้อายุกว่า 100 ปี ประมาณ 10 หลัง และพระพุทธรูปปางไสยาสน์หรือพระนอนสมัยอยุธยา[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดบ้านทึง". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  2. "วัดบ้านทึง". เทศบาลตำบลสามชุก. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-07-12. สืบค้นเมื่อ 2021-07-12.