วัดบุณยประดิษฐ์

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดบุณยประดิษฐ์ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร

วัดบุณยประดิษฐ์
แผนที่
ชื่อสามัญวัดบุณยประดิษฐ์
ที่ตั้งเลขที่ 9 ซอยพุทธมณฑล สาย 2 ซอย 7 ถนนพุทธมณฑล สาย 2 แขวงบางไผ่ เขตบางแค กรุงเทพมหานคร 10160
ประเภทพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อปาน
เจ้าอาวาสพระครูอรรถกิจจานุกูล (สุพจน์ ฐานธมฺโม) รก.
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

วัดบุณยประดิษฐ์ เดิมชื่อ วัดใหม่บุญน่วม บ้างเรียกว่า วัดใหม่ตาน่วม เมื่อปี พ.ศ. 2478 คุณโยมบุญ คุณโยมน่วม โพธินิมิตร ได้ถวายที่ดินสร้างวัดจำนวน 10 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา และได้กราบอาราธนาพระอาจารย์สวาทจากวัดศาลาแดงมาอยู่จำพรรษาและเป็นผู้ดูแลวัด จนกระทั่งท่านได้ถึงแก่มรณภาพ จากนั้นปี พ.ศ. 2489 ญาติโยมทายกทายิกาได้กราบอาราธนาหลวงพ่อสิน ติสฺโส มาจำพรรษาและดูแลปกครองวัดและได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ท่านได้สร้างอาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์เป็นอาทิ ท่านยังได้เปิด ให้มีการเรียนการสอนแผนกธรรมตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พ.ศ. 2503 เจ้าอาวาสองค์ที่สาม พระอาจารย์สนิท อมโร ได้สร้างกุฏิสงฆ์จำนวน 40 ห้อง ปี พ.ศ. 2510 ท่านได้ซื้อที่ดินเพิ่มขยายอาณาบริเวณวัดอีกจำนวน 5 ไร่เศษ ร่วมกับกรรมการและชาวบ้านตัดถนนมูลดินเพื่อทำทางเข้าวัด ถนนนี้ชื่อว่า ถนนพัฒนกิจ ต่อมาสมัยเจ้าอาวาสองค์ที่สี่ พระวิสุทธาธิบดี มีการก่อสร้างอาคารใหม่ คือสร้างศาลาอเนกประสงค์ สร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซื้อที่ดินขยายอาณาบริเวณวัดเพิ่มขึ้น

วัดบุณยประดิษฐ์ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาวัดขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อปี พ.ศ. 2547[1]

อาคารเสนาสนะ แก้

พระอุโบสถสร้างปี พ.ศ. 2531 เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องเคลือบสุโขทัย หน้าบันและซุ้มลงรักปิดทอง ผนังด้านนอกหินล้าง ผนังด้านในเขียนภาพพุทธประวัติและพระเวสสันดรและพระเจ้าสิบชาติ ภายในประดิษฐาน พระพุทธชินราชจำลอง

พระวิหารเป็นอุโบสถหลังเดิม สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2497 มีขนาดความกว้าง 6 เมตร ความยาว 25 เมตร มีการบูรณะจากอุโบสถเดิมโดยได้เปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่เป็นกระเบื้องเคลือบสุโขทัย ช่อฟ้า ใบระกา คันทวย บัวปลายเสาประดับกระจกสีทอง หน้าบันไม้สักดังเดิม ซุ้มประตู ซุ้มหน้าต่างเป็นลวดลายปูนปั้นแบบโบราณ พื้นและผนังด้านในปูด้วยหินอ่อน ด้านนอกฉาบด้วยหินล้าน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 59 นิ้ว[2]

อ้างอิง แก้

  1. "วัดบุณยประดิษฐ์". ระบบฐานข้อมูลพระกฐินพระราชทาน.
  2. "วัดบุณยประดิษฐ์" (PDF). สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา.[ลิงก์เสีย]