วัดชัยฉิมพลี
วัดชัยฉิมพลี เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบางแวก ในแขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร
วัดชัยฉิมพลี | |
---|---|
![]() | |
![]() | |
ชื่อสามัญ | วัดชัยฉิมพลี, วัดฉิมพลี, วัดฉิม |
ที่ตั้ง | เลขที่ 62 ซอยบางแวก 71 ถนนบางแวก แขวงบางแวก เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร 10160 |
ประเภท | วัดราษฎร์ |
นิกาย | มหานิกาย |
พระประธาน | พระพุทธชัยมงคล |
เจ้าอาวาส | พระอุดมวรญาณ (สุวิทย์ สุจิตฺโต ป.ธ.๙) |
![]() |
ประวัติแก้ไข
วัดชัยฉิมพลีสร้างเมื่อ พ.ศ. 2380 ตามที่เล่าสืบกันมา พระยาสีหราชเดโชชัยและคุณหญิงงิ้วผู้เป็นภรรยาได้ดำเนินการสร้างวัดขึ้น โดยการบริจาคที่ดิน 50 ไร่ เป็นที่สร้างวัด และได้ตั้งชื่อวัดว่า "วัดชัยฉิมพลี" เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้สร้างวัด โดยคำว่า ฉิมพลี หมายถึง "ไม้งิ้ว" ซึ่งตรงกับชื่อภรรยา วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2465[1] และได้ทำการผูกพัทธสีมาใหม่เมื่อ พ.ศ. 2507
ด้านการศึกษา วัดได้มีการเปิดสอนพระปริยัติธรรม ตั้งแต่ พ.ศ. 2480 และมีโรงเรียนประถมศึกษาบนที่ดินเนื้อที่ 6 ไร่ เปิดการเรียนการสอนเมื่อ พ.ศ. 2480 มีโรงเรียนมัธยมศึกษาบนที่ดินเนื้อที่ 14 ไร่ เปิดการเรียนการสอนเมื่อ พ.ศ. 2498
อาคารเสนาสนะแก้ไข
อุโบสถล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ขนานกับคลอง ได้รับการปฏิสังขรณ์ใหม่เป็นอุโบสถ 5 ห้อง มีอาคารยอดปรางค์ตั้งอยู่หน้ากำแพงแก้ว[2] ภายในอุโบสถประดิษฐานพระประธานนามว่า พระพุทธชัยมงคล เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ หน้าตักกว้าง 45 นิ้ว ด้านนอกมีเจดีย์ 2 องค์ ฐานกว้าง 5 เมตร สร้างพร้อมกับการสร้างวัด
อาคารเสนาสนะอื่น ๆ ได้แก่ กุฏิสงฆ์จำนวน 12 หลัง ศาลาการเปรียญหลังเก่า (ศาลาริมคลอง) ศาลาการเปรียญหลังใหม่ 2 ชั้น โรงเรียนพระปริยัติธรรม อาคาร 4 ชั้น
รายนามเจ้าอาวาสแก้ไข
- พระอธิการนิ่ม พ.ศ. 2455–2465
- พระครูปัด ธัมมธโร พ.ศ. 2465–2472
- พระอธิการเตียบ ฉันโท พ.ศ. 2472–2493
- พระครูเล็ก ฐานจาโร พ.ศ. 2493–2502
- พระครูวิมลคุณาธาร (วรรณะ เหมโก) พ.ศ. 2503–2543
- พระครูสิทธิชัยวัฒน์ (เลิศรบ ปัญญาคโม) พ.ศ. 2544–2558
- พระอุดมวรญาณ (สุวิทย์ สุจิตฺโต ป.ธ.๙) พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ "รายงานทะเบียนวัด" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2017-10-13. สืบค้นเมื่อ 2020-10-27.
- ↑ กรรณิการ์ สุธีรัตนาภิรมย์. "กรุงธนบุรีในสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์" (PDF). มหาวิทยาลัยศิลปากร. p. 325.