วัดจะทิ้งพระ

วัดในจังหวัดสงขลา

วัดจะทิ้งพระ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา มีที่ดินที่ตั้งวัดเนื้อที่ 8 ไร่ 55 ตารางวา พื้นที่ตั้งวัดเป็นที่ราบฝั่งทะเลอ่าวไทย อยู่ใกล้ที่ว่าการอำเภอสทิงพระ ตั้งอยู่ท่ามกลางชุมชน[1]

วัดจะทิ้งพระ
แผนที่
ชื่อสามัญวัดจะทิ้งพระ, วัดสทิงพระ
ที่ตั้งตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

วัดจะทิ้งพระ คำว่า "จะทิ้งพระ" กร่อนมาจากสทิงปุระพาราณสี[2] ซึ่งเป็นชื่อเมืองพัทลุงเก่าตั้งอยู่ ชาวบ้านมักเรียกว่า วัดสทิงพระ ตามชื่ออำเภอ บางแหล่งข้อมูลกล่าวว่าวัดสะทิงพระ เป็นภาษาเขมรตรงกับภาษาไทยว่า "บึง" หรือ "คลอง" เข้าใจว่าเป็นคำที่เรียกเพี้ยนกันมา

จากตำนานนางเลือดขาวกล่าวว่า เจ้าพระยากรุงทอง เจ้าเมืองสทิงพาราณสี สร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 1542 ต่อมาถูกพวกโจรสลัดอุชงฆตนะทำลายไปครั้งหนึ่ง จนในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถจึงมีการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตามหลักฐานจากหนังสือ กัลปนาวัดหัวเมืองพังลุง สมัยอยุธยาระบุว่า วัดจะทิ้งพระในสมัยนั้นแยกออกเป็น 2 วัด คือ วัดสทิงพระ มีพระครูวินัยธรรมเป็นเจ้าอธิการ กับ วัดพระมหาเจดีย์องค์ใหญ่ มีพระครูอมฤตย์ ศิริวัฒนธาตุ เป็นเจ้าอธิการ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "วัดเจ้าพี่วัดเจ้าน้อง" ซึ่งขึ้นกับวัดเขียนบางแก้ว คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง[3] วัดจะทิ้งพระได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2474

เสนาสนะและปูชนียวัตถุ

แก้

เจดีย์พระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ทรงลังกา มีความสูง 20 เมตร ฐานกว้างด้านละ 17 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางขององค์ระฆัง 6 เมตร[4] แบบเดียวกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชแต่ไม่มีรัตนบัลลังก์ คือเป็นเจดีย์ทรงลังกา เจดีย์บริวาร ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเจดีย์องค์ประธาน ฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส องค์ระฆังเป็นรูปทรงลังกา (ปัจจุบันพังทลายหมดแล้ว) วิหารพระพุทธไสยาสน์ชาวบ้านเรียกว่า วิหารพ่อเฒ่านอน เป็นวิหารที่ก่ออิฐถือปูน สันนิษฐานว่าแต่เดิมนั้นก่อสร้างในสมัยอยุธยา แต่มีการบูรณะใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ปางอนุฎฐานไสยาสน์หรือที่เรียกว่าแบบสีหไสยาสน์ ยาว 14 เมตร มีพระนามว่า พระเชตุพนพุทธไสยาสน์ ชาวบ้านเรียกว่า พ่อเฒ่านอน ทุกปีจะจัดงานสมโภชเป็นประจำในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6

หอระฆัง เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนที่ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ซึ่งปรากฏลวดลายปูนปั้นรูปหน้าหนังตะลุง ที่แสดงศิลปะพื้นบ้านอย่างแท้จริง

อ้างอิง

แก้
  1. "วัดจะทิ้งพระ". ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม.
  2. "วัดจะทิ้งพระ". เทศบาลตำบลสทิงพระ.
  3. ชัยวุฒิ พิยะกูล, วัดจะทิ้งพระ, สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม 3. (กรุงเทพฯ ธนาคารไทยพาณิชย์, 2542), 1475.
  4. "วัดจะทิ้งพระ". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).