รางวัลวัฒนคุณาธร
รางวัลวัฒนคุณาธร เป็นรางวัลเกียรติยศของกระทรวงวัฒนธรรมในระดับประเทศ ที่มอบให้เพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่ดำเนินงานอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ และมีผลงานโดดเด่นในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมงานด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ด้วยความเสียสละ วิริยะ อุตสาหะ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ร่วมงานและสาธารณชน ที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
รางวัลนี้พิจารณาโดยการกลั่นกรองจากคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ฯ ระดับจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และจากหน่วยงานระดับกรม และองค์การมหาชน ในสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม โดยผู้ผ่านการตรวจประเมินผลงานดีเด่นในระดับประเทศ จะได้รับการเสนอชื่อเข้ารับโล่รางวัล "วัฒนคุณาธร" ซึ่งถือเป็นรางวัลในระดับประเทศ โดยมีการมอบปีละไม่เกิน 170 รางวัลในแต่ละปี
ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมในระดับประเทศ จะได้เข้ารับโล่เกียรติคุณ "วัฒนคุณาธร" จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม ในวันที่ 3 ตุลาคม ของทุก ๆ ปี ณ โรงละครแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร[1]
ความเป็นมาของการมอบรางวัลวัฒนคุณาธร
แก้การคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม เป็นการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนและการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุน สืบทอดหรือสร้างสรรค์ผลงานด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นอกจากนี้ยังเป็นการยกย่องและเชิดชูเกียรติบุคคลหรือองค์กรที่ให้การสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ อีกทั้งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้บุคคลหรือองค์กรมีความมุ่งมั่นตั้งใจร่วมกันเป็นแกนนำในการส่งเสริม สนับสนุน และอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติบุคคลและองค์กรที่ดำเนินงาน และส่งเสริมงานด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมที่เกิดประโยชน์แก่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ รวมทั้งเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในการปฏิบัติงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ด้วยความเสียสละ วิริยะ อุตสาหะ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และผลงานเป็นที่ยอมรับแก่ผู้ร่วมงานและสาธารณชน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนบุคคล และองค์กร ที่ดำเนินงานและส่งเสริมงานด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม ให้มีขวัญ กำลังใจ และภาคภูมิใจในการปรับปรุง ต่อยอด และพัฒนามาตรฐานการดำเนินงานของตนเองและสามารถบูรณาการงานร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม และเพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลงานของบุคคลและองค์กร ที่ดำเนินงานและส่งเสริมงานด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม ให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม
การพิจารณามอบรางวัลวัฒนคุณาธร
แก้กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จะจัดโครงการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ทุกปีงบประมาณ เพื่อนำผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมในระดับประเทศเข้ารับโล่เกียรติคุณ จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรมในทุก ๆ ปี
โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัด เป็นผู้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ฯ ระดับจังหวัด โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน คัดเลือกผู้ควรแก่รางวัล ประเภทบุคคลและองค์กร โดยคัดเลือกบุคคล จำนวน 3 ด้าน (ด้านศาสนา ด้านศิลปะ และด้านวัฒนธรรม) ด้านละ 1 คน และ องค์กร (ด้านส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม) จำนวน 1 องค์กร โดยผู้ได้รับคัดเลือกระดับจังหวัด (ส่วนภูมิภาค) จะได้รับเกียรติบัตรซึ่งลงนามโดยปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และจะมีพิธีมอบอย่างเป็นทางการโดยผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะเป็นผู้มอบให้ในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการ ณ จังหวัดนั้น ๆ โดยในแต่ละปีไม่เกิน 400 เกียรติบัตร ทั่วประเทศ
จากนั้น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด 76 จังหวัด จัดส่งผลงานในระดับจังหวัดไปยังสำนักตรวจและประเมินผล เพื่อสำนักตรวจและประเมินผลตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นและเอกสารผลงาน เพื่อจัดทำสรุปผลงานแล้วนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม พิจารณาคัดเลือกเป็นผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ในระดับประเทศ
โดยผู้ได้รับคัดเลือกระดับประเทศเท่านั้น ที่จะได้รับโล่เชิดชูเกียรติ "วัฒนคุณาธร" จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงวัฒนธรรม (3 ตุลาคม หรือวันตามที่กระทรวงวัฒนธรรมกำหนด) โดยในแต่ละปีมีผู้ได้รับไม่เกิน 170 โล่รางวัล (แบ่งเป็นประเภทบุคคล 84 คน และองค์กร 86 องค์กร)[2]
ประเภทของการคัดเลือกผู้สมควรได้รับรางวัลวัฒนคุณาธร
แก้ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ในแต่ละปี ประกอบด้วยประเภทบุคคล 84 คน และองค์กร 86 องค์กร แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ประเภทบุคคล แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านศาสนา ด้านศิลปะ และด้านวัฒนธรรม รวมทั้งประเภทองค์กร ด้านส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม จากทั้งส่วนภูมิภาค และหน่วยงานระดับกรม โดยประกอบไปด้วยผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมด้านศาสนา, ศิลปะ และวัฒนธรรม ดังนี้
- ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมด้านศาสนา หมายถึง บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรที่อุปถัมภ์ ส่งเสริม สนับสนุน หรือดำเนินการโดยวิธีใด ๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อศาสนา (พุทธ อิสลาม คริสต์ พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์)
- ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมด้านศิลปะ หมายถึง บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรที่ส่งเสริม สนับสนุน หรือสืบทอด สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ประกอบด้วย สาขาศิลปะการแสดง สาขาดุริยางคศิลป์ สาขาสถาปัตยกรรม สาขาทัศนศิลป์ สาขาออกแบบ สาขาวรรณศิลป์ สาขาหัตถศิลป์ สาขาเรขศิลป์ สาขาอุตสาหกรรมศิลป์ สาขาโบราณคดี
- ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรมด้านวัฒนธรรม หมายถึง บุคคล หน่วยงาน หรือองค์กรที่ส่งเสริม สนับสนุน หรือสืบทอด สร้างสรรค์ผลงานทางวัฒนธรรม ประกอบด้วย ขนบธรรมเนียมประเพณี กีฬาและนันทนาการ วัฒนธรรมทางภาษา ความรู้และแนวปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล การเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ สำนักตรวจและประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (2558). ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๘. [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.m-culture.go.th/evaluate/files/716/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%9B%E0%B8%B52558/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99/__.pdf[ลิงก์เสีย]
- ↑ สำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม. (2558). ผลการคัดเลือกผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวง ระดับประเทศ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ด้านการเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม (ระดับประเทศ). [ออน-ไลน์]. แหล่งที่มา : http://www.m-culture.go.th/surveillance/index.php/2013-06-07-06-47-37/2013-06-19-04-16-42/item/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%82%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%8C%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87 เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- กระทรวงวัฒนธรรม. กระทรวงวัฒนธรรม. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [1] เก็บถาวร 2016-11-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน