มูสลี หรือ มิวส์ลี (อังกฤษ: muesli) เป็นอาหารเช้าและอาหารที่เป็นทั้งอาหารเช้าและอาหารเที่ยง (brunch)[1] ซึ่งประกอบไปด้วยข้าวโอ๊ตชนิดเกล็ด (rolled oats) และส่วนประกอบอื่น ๆ รวมไปถึงธัญพืช ผลไม้สดและแห้ง เมล็ดพันธุ์และถั่ว และอาจผสมกับนมวัว นมถั่วเหลือง นมอัลมอนด์ นมจากพืชแบบอื่น ๆ โยเกิร์ต หรือน้ำผลไม้ มีการบรรจุมูสลีทั้งในรูปแบบแห้งพร้อมรับประทาน หรือแบบทำใหม่

มูสลีแบบแห้ง เสิร์ฟคู่กับนมและกล้วย

ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนียังนิยมรับประทานมูสลีเป็นอาหารมื้อเบาก่อนอาหารเย็นอีกด้วย

มูสลีจัดเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตพลังงานสูง เหมาะแก่การรับประทานเป็นอาหารเช้า

ประวัติ แก้

มูสลีได้รับการพัฒนาขึ้นประมาณช่วงปี พ.ศ. 2443 โดยแพทย์ชาวสวิสชื่อ มักซีมีเลียน เบียร์เชอร์-เบ็นเนอร์ สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยผลไม้และผักสดในโรงพยาบาลของเขา[2] เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "อาหารจานแปลก" ที่เขาและภรรยาได้รับประทานขณะปีนเขาที่เทือกเขาแอลป์ มูสลีที่รู้จักกันในปัจจุบันเริ่มได้รับความนิยมในประเทศแถบตะวันออกในช่วงปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเป็นช่วงที่อาหารสุขภาพและอาหารมังสวิรัติได้รับความสนใจ มูสลีแบบดั้งเดิมของเบียร์เชอร์ถูกแช่ในน้ำและน้ำมะนาวข้ามคืน จากนั้นรับประทานคู่กับโยเกิร์ต

มูสลีในบรรจุภัณฑ์ แก้

 
ส่วนประกอบของมูสลีในบรรจุภัณฑ์

มูสลีในบรรจุภัณฑ์มีส่วนประกอบหลักเป็นข้าวโอ๊ตชนิดเกล็ดหรือคอร์นเฟลก ผสมกับผลไม้แห้งหลากหลายแบบ ถั่ว และเมล็ดพันธุ์ ส่วนใหญ่แล้วจะมีส่วนประกอบของเกล็ดธัญพืชชนิดอื่น เช่น ข้าวสาลีหรือข้าวไรย์ โดยมีรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งอาจมีส่วนผสมของน้ำผึ้ง เครื่องเทศ หรือช็อกโกแลต มูสลีในบรรจุภัณฑ์แบบแห้งสามารถเก็บได้เป็นเวลานานหลายเดือนและรับประทานได้อย่างรวดเร็วเพียงผสมกับนม โยเกิร์ต กาแฟ ช็อกโกแลตร้อน น้ำผลไม้ หรือน้ำเปล่า นอกจากนี้ยังสามารถใส่ผลไม้ได้ตามต้องการ นอกจากนี้อีกวิธีหนึ่งในการรับประทานมูสลีได้แก่ การแช่นมไว้ข้ามคืน จากนั้นรับประทานพร้อมผลไม้สด

มูสลีสด แก้

 
มูสลีสด ทำจากข้าวโอ๊ตชนิดเกล็ด น้ำส้ม แอปเปิลปั่น และกล้วย เร็ดเคอร์รันต์ ลูกเกด เนยแข็งคอตทิจ ปิดท้ายด้วยแรสเบอร์รี

เราสามารถทำมูสลีแบบสดโดยใช้ข้าวโอ๊ตชนิตเกล็ด หรือข้าวโอ๊ตแบบเต็มเมล็ดซึ่งผ่านการแช่ในน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้ ส่วนประกอบอื่น ๆ ที่มักนำมาใช้ ได้แก่ ผลไม้สด (เช่น กล้วย แอปเปิล เบอร์รี องุ่น มะม่วง ผลไม้แห้ง ผลิตภัณฑ์นม (เช่น นมสด นมเปรี้ยว ครีม นมข้นหวาน หรือนมถั่วเหลือง) น้ำเลมอน ถั่วบด เมล็ดพันธุ์ เครื่องเทศ (โดยเฉพาะอบเชย) น้ำผึ้ง

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. Planet, L. (2 March 2015), The World's Best Brunches: Where to Find Them and How to Make Them, Lonely Planet Publications, p. 294, ISBN 978-1-74360-881-4, ISBN 978-1-74360-881-4.
  2. Kurmann, Joseph A.; Rasic, Jeremija L.; Kroger, Manfred (1992), "Bircher Muesli", Encyclopedia of Fermented Fresh Milk Products: An International Inventory of Fermented Milk, Cream, Buttermilk, Whey, and Related Products (1 ed.), Springer Verlag, p. 75, ISBN 978-0-442-00869-7, ISBN 978-0-442-00869-7.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ มูสลี